โรคเกาต์ - สาเหตุ อาการ และการรักษา …
เกาต์ หรือ เก๊าท์ (Gout) เป็นโรคปวดข้อเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัย มักเป็นบริเวณข้อนิ้วหัวแม่เท้า และข้อนิ้วมือ เมื่อเป็นแล้วควรปรึกษาแพทย์ มิฉะนั้นอาจมีโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ และไตวายจนเสียชีวิตได้ … http://winne.ws/n20306
เกาต์ หรือ เก๊าท์ (Gout) เป็นโรคปวดข้อเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง(พบได้ประมาณ 2-4 คน ใน 1,000 คนจัดเป็นโรคของผู้ใหญ่ในวัยตั้งแต่40 ปีขึ้นไป โดยอายุ 40-60 ปีจะพบโรคนี้ได้ประมาณ 2% และอายุ 60 ปีขึ้นไปจะพบได้ประมาณ 4% สังเกตได้ว่ายิ่งอายุมากขึ้นโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ก็มากขึ้นตามไปด้วย มักพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ9-10 เท่า ส่วนในผู้หญิงจะพบได้น้อยหรือถ้าพบก็มักจะเป็นผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว (มักเริ่มเป็นเมื่ออายุ 55ปีขึ้นไป) โดยทั่วไปมักเกิดกับข้อเพียงข้อเดียวในบางครั้งอาจเกิดกับหลายข้อได้พร้อม ๆ กันก็ได้ แต่ข้อที่พบได้บ่อยมากที่สุดคือนิ้วหัวแม่เท้า
สาเหตุของโรคเกาต์
โรคเกาต์เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายมีกรดยูริกในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานานจนเกิดการตกผลึกของยูเรตตามเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น ข้อ (ทำให้เกิดข้ออักเสบ) ไต (ทำให้เกิดนิ่วในไตและไตวาย)ส่วนสาเหตุที่ทำให้กรดยูริกในเลือดสูงก็เนื่องมาจากร่างกายสร้างกรดยูริกมากกว่าปริมาณที่ขับออก(นอกจากกรดยูริกในเลือดสูงจะเป็นผลมาจากการที่ร่างกายขาดยีนในการสลายกรดยูริกแล้วยังพบว่าอาจเป็นผลมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยเฉพาะอาหารที่มีสารพิวรีนสูงและจากขบวนการสลายสารพิวรีนในร่างกาย โดยการสลายโปรตีนและได้สารพิวรีนออกมาซึ่งกรดยูริกในร่างกายส่วนใหญ่จะเกิดจากกระบวนการนี้)หรือเกิดจากการที่ร่างกายสร้างกรดยูริกเป็นปกติแต่ปริมาณที่ขับออกจากร่างกายมีน้อยกว่า(กรดยูริกที่สร้างขึ้นจะมีการขับออกจากร่างกายได้ 2ทางหลัก คือ ขับออกทางระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจะขับออกได้ประมาณ 1 ใน3 และส่วนที่เหลือจะขับออกทางไตได้ประมาณ 2 ใน3ของปริมาณกรดยูริกที่ร่างกายสร้างได้ในแต่ละวัน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณ 90%จะมีความผิดปกติในการขับกรดยูริกออกทางไต) ส่วนสาเหตุอื่น ๆหรือสาเหตุที่ทำให้ข้ออักเสบเป็นซ้ำใหม่ คือ
· ความผิดปกติทางพันธุกรรมจากการขาดเอนไซม์บางตัวหรือเอนไซม์บางตัวทำงานมากเกินไปเพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักพบว่ามีพ่อแม่ญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย
· เกิดจากโรคบางชนิดที่ส่งผลให้มีกรดยูริกในเลือดสูงเช่น โรคมะเร็ง มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคเลือด โรคทาลัสซีเมีย โรคอ้วน โรคเบาหวานโรคความดันโลหิตสูง รวมไปถึงการใช้ยารักษามะเร็งหรือฉายรังสี เป็นต้น
· เกิดจากไตขับกรดยูริกได้น้อยลง เช่นเป็นโรคไต ภาวะไตวาย ตะกั่วเป็นพิษ
· เกิดจากโรคต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่นไฮโปไทรอยด์ (ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน, ภาวะขาดไทรอยด์)เพราะส่งผลให้มีกรดยูริกในเลือดสูง
· เกิดจากเพศเนื่องจากพบโรคนี้ได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
· การดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ไวน์ โดยเฉพาะเบียร์ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดการขับกรดยูริกออกทางไตหรือทางปัสสาวะหลังการดื่มจึงทำให้ไตขับกรดยูริกได้น้อยลง กรดยูริกจึงคั่งอยู่ในเลือดสูงกว่าปกติ
· การรับประทานอาหารที่ให้กรดยูริก(สารพิวรีน) สูงอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ หรือการรับประทานอาหารที่หมักด้วยยีสต์ (Yeastคือ เชื้อราบางชนิดที่ใช้ในการหมักอาหารและเครื่องดื่ม)เพราะเป็นสาเหตุทำให้มีกรดยูริกในเลือดสูง
· ความอ้วนหรือภาวะน้ำหนักตัวเกินโดยอาจสัมพันธ์กับภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินที่ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน (Insulinresistance)
· เกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ข้อกระดูกการกระทบกระแทกที่ข้อ
· อากาศเย็น หรืออากาศเปลี่ยนแปลง เช่นช่วงเช้า หรือช่วงก่อนฝนตก
· การติดเชื้อของร่างกาย
· ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดอาจกระตุ้นให้อาการกำเริบได้เพราะยาบางชนิดมีผลทำให้ไตขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะได้น้อยลง เช่น แอสไพริน (Aspirin),ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (Hydrochlorothiazide – HCTZ), ไซโคลสปอริน(Cyclosporin), เลโวโดปา (Levodopa) เป็นต้น
หมายเหตุ : กรดยูริก หรือ กรดยูริค (Uric acid) เป็นสารชนิดหนึ่งที่เป็นผลมาจากการเผาผลาญสารพิวรีน(Purine) ซึ่งเป็นสารที่พบได้มากในสัตว์ปีกเครื่องในสัตว์ เนื้อแดง อาหารทะเล ยีสต์ พืชผักหน่ออ่อนหรือยอดอ่อนและเป็นผลมาจากการสลายตัวของเซลล์ในร่างกายจึงเป็นสิ่งที่พบได้เป็นปกติในเลือดของคนเรา และจะถูกขับออกทางไต แต่ถ้าหากร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากเกินไปหรือไตขับกรดยูริกได้น้อยลงก็จะทำให้ร่างกายมีกรดยูริกคั่งอยู่มากผิดปกติ ซึ่งจะตกผลึกสะสมอยู่ตามข้อ ผิวหนังไต และอวัยวะอื่น ๆ ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่าง ๆ (โรคเกาต์ หมายถึงภาวะที่มีการเกาะของยูริกที่ข้อจนทำให้เกิดอาการอักเสบ ปวดบวม แดง ร้อนผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์อาจมีกรดยูริกในเลือดสูงหรือปกติก็ได้และผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูงก็ไม่จำเป็นต้องโรคนี้เสมอไป)
อาการของโรคเกาต์
· ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้ออย่างรุนแรงซึ่งจะเกิดขึ้นทันทีแบบฉับพลัน (มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 วัน)ถ้าเป็นการปวดครั้งแรกมักจะเป็นเพียงข้อเดียว ซึ่งข้อที่พบว่าปวดกันมาก คือนิ้วหัวแม่เท้า (ส่วนข้อเท้า ข้อเข่า ก็อาจพบได้บ้างในผู้ป่วยบางราย)โดยข้อที่ปวดจะมีอาการบวมและเจ็บมากจนเดินไม่ไหว ผิวหนังในบริเวณนั้นจะตึง บวม แดงร้อน ปวดมาก และเจ็บมากเมื่อสัมผัสถูก และจะพบลักษณะจำเพาะ คือเมื่ออาการเริ่มจะทุเลาลง ผิวหนังในบริเวณที่ปวดนั้นจะลอกและคัน
· ในการปวดข้อครั้งแรก ผู้ป่วยมักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วันแม้จะไม่ได้รับการรักษาก็จะค่อย ๆ หายไปได้เอง
· ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการไข้หนาวสั่น ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
· ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการปวดในตอนกลางคืนและมักจะเป็นหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ หรือหลังกินเลี้ยง หรือหลังกินอาหารมากผิดปกติหรือเดินสะดุด และในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการขณะที่มีภาวะเครียดทางจิตใจเป็นโรคติดเชื้อ หรือได้รับการผ่าตัดด้วยสาเหตุอื่น
· ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมโรคให้ดีในระยะแรก ๆ อาการอาจกำเริบทุก 1-2 ปี โดยจะเป็นที่ข้อเดิม แต่ต่อมาจะเป็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทุก 4-6 เดือน แล้วเป็นทุก 2-3เดือน จนกระทั่งเป็นทุกเดือน หรือเดือนละหลายครั้งและระยะการปวดจะนานวันมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น กลายเป็น 7-14วัน จนกระทั่งปวดนานขึ้นเป็นหลายสัปดาห์หรือปวดตลอดเวลาส่วนข้อที่ปวดก็จะเพิ่มจากข้อเดียวเป็น 2-3 ข้อ เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่าข้อเท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า จนกระทั่งเป็นเกือบทุกข้อ
· ในระหลัง ๆ เมื่อข้ออักเสบหลายข้อขึ้นผู้ป่วยมักจะสังเกตว่ามีปุ่มก้อนขึ้นที่บริเวณที่เคยอักเสบบ่อย ๆ เช่น ข้อนิ้วเท้าข้อนิ้วมือ ข้อศอก ข้อเข่า รวมทั้งที่หู เรียกว่าปุ่มโรคเกาต์หรือตุ่มโทฟัส (Tophusหรือ Tophi) ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของกรดยูริกปุ่มก้อนนี้จะโตขึ้นเรื่อย ๆ จนบางครั้งแตกออกเป็นสารขาว ๆคล้ายกับชอล์กหรือยาสีฟันไหลออกมา กลายเป็นแผลเรื้อรัง หายช้า และในที่สุดข้อต่างๆ ก็จะค่อย ๆ พิการจนใช้งานไม่ได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเกาต์
· กลายเป็นโรคเกาต์เรื้อรังเมื่อไม่ไปพบแพทย์อย่างต่อเนื่องหรือเกิดปุ่มผลึกกรดยูริกในเนื้อเยื่อต่าง ๆ จนส่งผลเสียต่อบุคลิกและภาพลักษณ์
· ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะข้อพิการ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (พบได้ประมาณ 25%) ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะแทรกซ้อนตามมาได้
· ผู้ป่วยโรคเกาต์มักจะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และภาวะหลอดเลือดแดงแข็งมากกว่าคนปกติ(สันนิษฐานว่าอาจมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ของโรคเหล่านี้ร่วมกับโรคเกาต์)และถ้าหากผู้ป่วยไม่ได้ควบคุมโรคเหล่านี้ให้ดี ปล่อยให้เป็นแบบเรื้อรังในที่สุดก็อาจจะกลายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบและไตวายจนเสียชีวิตได้
การวินิจฉัยโรคเกาต์
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้โดยดูจากประวัติอาการต่างๆ ประวัติการรับประทานอาหารหรือยาบางชนิด ประวัติการเป็นโรคเกาต์ของคนในครอบครัวการเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ การตรวจร่างกายซึ่งข้อที่ปวดของผู้ป่วยจะมีลักษณะบวมแดงร้อน ผู้ป่วยอาจมีไข้ร่วมด้วยในบางรายอาจพบตุ่มโทฟัส และการตรวจเลือดเพื่อดูระดับของกรดยูริกอาจมีตรวจภาพข้อที่เกิดโรคด้วยการเอกซเรย์ด้วยในบางราย แต่ที่แน่นอน คือแพทย์จะเจาะดูดน้ำจากข้อไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ซึ่งถ้าพบผลึกของยูเรตแพทย์ก็จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกาต์
อาการข้ออักเสบเฉียบพลันแบบโรคเกาต์หากตรวจพบระดับยูริกในเลือดปกติแพทย์จะเจาะดูดน้ำจากข้อไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ด้วยถ้าพบผลึกของยูเรตแพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกาต์แต่ถ้าสิ่งที่ตรวจพบเป็นผลึกของแคลเซียมไพโรฟอสเฟต (Calcium pyrophosphate)แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็น “โรคเกาต์เทียม” (Pseudogout) ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ปวดข้อ ข้ออักเสบเฉียบพลันกำเริบเป็นครั้งคราวคล้ายโรคเกาต์แต่โรคนี้ส่วนใหญ่แล้วจะทุเลาลงได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
วิธีรักษาโรคเกาต์
1. การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเกาต์
(วิธีป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากโรคเกาต์เบื้องต้น)
· เมื่อมีอาการปวดควรนอนพักผ่อน
· ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 3ลิตร เพื่อป้องกันนิ่วในไต (การดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางไตและช่วยลดโอกาสการตกตะกอนจนเป็นนิ่วในไต) เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำ
· งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดโดยเฉพาะเบียร์ เพราะเมื่อร่างกายเผาผลาญแอลอกฮอล์จะทำให้มีการเพิ่มของสารแล็กเทสในเลือดซึ่งสารนี้จะไปยับยั้งการขับกรดยูริกออกจากไต
· หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูงได้แก่ เครื่องในสัตว์เนื้อสัตว์ปีก ไข่ปลา หอย ปลาซาร์ดีน ปลาแฮริง ปลาไส้ตันปลาดุก กะปิ ซุปก้อน น้ำสกัดเนื้อ น้ำต้มกระดูก กระถิน ชะอม ดอกสะเดา ยอดแค ยอดผักเห็ด สาหร่าย อาหารที่ใส่ยีสต์ (ขนมปัง เบียร์) น้ำเกรวี (Gravy) เป็นต้นส่วนอาหารที่มีกรดยูริกปานกลาง ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับประทานได้พอประมาณแต่อย่าซ้ำบ่อย ได้แก่ เนื้อสัตว์ ปลา ปลาหมึก ปู ดอกกะหล่ำ ผักโขม ผักปวยเล้งใบขี้เหล็ก สะตอ หน่อไม้ ถั่ว เป็นต้น ส่วนอาหารที่มีกรดยูริกต่ำซึ่งผู้ป่วยสามารถรับประทานได้อย่างไม่จำกัด ได้แก่ ผักที่ไม่ใช่ยอดอ่อน หัวกะหล่ำผลไม้ทุกชนิด ธัญพืช ปลาน้ำจืด ข้าว ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต แป้ง ไข่ เต้าหู้นมพร่องไขมัน โยเกิร์ต เนย ช็อกโกแลต ชา กาแฟ เป็นต้น
· รับประทานอาหารประเภทข้าว-แป้งให้มากพอ(วันละ 8-12 ทัพพี) เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานอย่างเพียงพอในการทำกิจกรรมต่าง ๆโดยไม่ต้องเผาผลาญโปรตีนที่มีอยู่ในกล้ามเนื้อเพื่อใช้เป็นพลังเนื่องจากการเผาผลาญโปรตีนในลักษณะนี้จะทำให้มีการสลายกรดยูริกออกมาในกระแสเลือดมากขึ้น
· รับประทานผักและผลไม้ชนิดต่าง ๆให้มากขึ้น เพราะจะช่วยให้ปัสสาวะมีสภาวะเป็นด่าง ลดความเป็นกรดจึงส่งผลให้เกิดการขับปัสสาวะมากขึ้น อย่างไรก็ตามคนเป็นโรคเกาต์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักยอดอ่อนตามที่กล่าวมา
· ผู้ป่วยควรสังเกตตัวเองด้วยว่าอาหารประเภทใดที่กินแล้วสามารถควบคุมกรดยูริกในเลือดได้ดีก็ให้เลือกกินอาหารประเภทนั้นหรืออาหารประเภทใดที่กินแล้วทำให้อาการกำเริบก็ควรหลีกเลี่ยงผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือภาวะน้ำหนักตัวเกินควรลดน้ำหนักลงทีละน้อยอย่างถูกวิธี(ควรใช้วิธีการควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ)ไม่ควรเกินครึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์ อย่าลดน้ำหนักตัวแบบฮวบฮาบ เพราะจะมีผลทำให้เกิดภาวะคีโตนในเลือดสูงจนส่งผลให้การขับกรดยูริกออกจากร่างกายลดลง และที่สำคัญก็คือไม่ควรลดน้ำหนักด้วย วิธีการอดอาหารอย่างเด็ดขาดเพราะจะทำให้มีการสลายตัวของเซลล์อย่างรวดเร็วผิดปกติทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ข้ออักเสบกำเริบขึ้นมาได้
· ควรระมัดระวังอย่าให้ข้อกระดูกได้รับการบาดเจ็บ
· หลีกเลี่ยงการซื้อยาต่าง ๆกินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หรือใช้ยาที่อาจทำให้โรคกำเริบขึ้นได้ เช่นแอสไพริน (Aspirin), ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (Hydrochlorothiazide)ฯลฯ
· งดการบีบนวดตรงตำแหน่งที่เจ็บเพราะยิ่งนวดจะยิ่งปวดและหายช้า
· เมื่อมีอาการปวดให้ใช้น้ำอุ่นจัด ๆหรือใช้น้ำแข็งประคบตรงข้อที่ปวด ประมาณ 20 นาทีและหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักตรงข้อนั้น ๆ
· เมื่ออาการปวดทุเลาลงแล้วควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจยืนยันการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
· ควรกินยาต่าง ๆตามที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง และไม่ขาดยา
2. ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชัดเจน
แพทย์จะให้ยาลดข้ออักเสบเช่น โคลชิซิน (Colchicine) ในขนาด 0.5 มิลลิกรัม ครั้งแรกให้ 1-2เม็ด แล้วให้ซ้ำอีกครั้งละ 1 เม็ดทุก ๆ 1 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 8 ชั่วโมงแล้วให้เป็น 1 เม็ดทุก 2 ชั่วโมงจนกว่าจะหายปวด แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือท้องเดิน ซึ่งเกิดจากพิษของยาก็ต้องหยุดใช้ยา โดยทั่วไปจะให้ได้ประมาณ8-20 เม็ด แล้วอาการปวดข้อก็จะหายไปภายใน 24-72 ชั่วโมง (ถ้ามีอาการท้องเดินให้กินยาโลเพอราไมด์(Loperamide))
· ถ้าไม่มียาโคลชิซินหรืออยู่ในระยะข้ออักเสบเฉียบพลันแพทย์จะให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่นไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรืออินโดเมทาซิน (Indomethacin) ในครั้งแรกให้2 เม็ด แล้วให้ 1 เม็ดทุก ๆ 6 ชั่วโมง จนกว่าจะหาย แต่ยานี้ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานและไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ บางอย่าง เช่นภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ไตวาย หรือภาวะหัวใจล้มเหลว
· แต่ถ้ายังไม่ได้ผลอาจจำเป็นต้องให้ยาสเตียรอยด์แทนจากการวิจัยพบว่า กลูโคคอร์ติคอยด์มีประสิทธิภาพพอ ๆ กับ NSAIDs และสามารถใช้ในกรณีที่NSAIDs ถูกห้ามใช้ได้โดยยานี้จะช่วยทำให้อาการดีขึ้นเมื่อฉีดเข้าไปในข้อต่อ อย่างไรก็ตามไม่ควรใช้ยานี้ในกรณีที่มีการติดเชื้อที่ข้อต่อ เพราะสเตียรอยด์จะทำให้อาการแย่ลง
3. ผู้ป่วยที่อาการยังไม่ดีขึ้นหรืออาการยังไม่ชัดเจน
(แต่มีอาการผิดปกติของข้อ)หรือให้ยาลดข้ออักเสบแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยแพทย์มักจะตรวจวินิจฉัยโรคนี้โดยการเจาะเลือดเพื่อหาระดับของกรดยูริกในเลือด(ค่าปกติจะเท่ากับ 3-7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ถ้าผลตรวจออกมายังไม่ชัดเจนอาจต้องทำการเจาะดูดน้ำจากข้อที่อักเสบไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ถ้าเป็นโรคนี้ก็จะตรวจพบผลึกของยูเรตนอกจากนี้ถ้ามีความจำเป็นอาจต้องมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย
4. ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์เรื้อรัง
แพทย์จะให้กินยาโคลชิซิน(Colchicine) วันละ 1-2 เม็ดเพื่อป้องกันมิให้ข้ออักเสบกำเริบเป็นประจำ
5. ผู้ป่วยจำเป็นต้องกินยาลดกรดยูริกเป็นประจำ
(เป็นทางเลือกสำหรับการป้องกัน)เพื่อควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ก่อนการใช้ยานี้จะต้องรอให้ข้อหายอักเสบก่อนแล้วจึงเริ่มกินยาลดกรดยูริก(หรือปรับเพิ่มขนาดในรายที่เคยได้รับยานี้อยู่ก่อนแล้ว)เนื่องจากการลดหรือเพิ่มกรดยูริกในทันทีจะเป็นการกระตุ้นให้ข้ออักเสบมากขึ้นหรือนานยิ่งขึ้นได้โดยยาลดกรดยูริกนี้จะมีให้เลือกใช้อยู่ด้วยกัน 2 ชนิด แพทย์จะเลือกให้ใช้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น(ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วย) และผู้ป่วยจะต้องกินยานี้เป็นประจำทุกวันไปตลอดชีวิตจึงจะช่วยให้สารยูริกที่สะสมอยู่ตามข้อและอวัยวะต่าง ๆ ละลายหายไปได้รวมทั้งตุ่มโทฟัสก็จะยุบหายไปในที่สุด (ผู้ป่วยที่ใช้ยาลดกรดยูริกไม่จำเป็นต้องงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์อย่างเคร่งครัดทำให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิดในปริมาณที่พอเหมาะกับขนาดของยาที่ใช้)ได้แก่
· ยาลดการสร้างกรดยูริก เช่นยาเม็ดอัลโลพูรินอล (Allopurinol) ในขนาด 200-300 มิลลิกรัมต่อวันแต่ยานี้อาจทำให้เกิดการแพ้รุนแรงและอาจทำให้ตับอักเสบ (ถ้ากินแล้วเกิดการแพ้ คือมีอาการคันตามตัว ควรหยุดใช้ยานี้ทันที)
· ยาขับกรดยูริก เช่น ยาเม็ดโพรเบเนซิด (Probenecid)1-2 เม็ดต่อวัน แต่ยานี้ห้ามใช้ในผู้ที่มีนิ่วในไตหรือภาวะไตวายถ้ากินยานี้ก็ไม่ควรกินยาแอสไพริน เพราะจะทำให้ฤทธิ์ในการขับกรดยูริกลดน้อยลงและที่สำคัญผู้ป่วยที่กินยานี้ ควรดื่มน้ำให้ได้วันละ 3 ลิตรต่อวันเพื่อป้องกันมิให้เกิดนิ่วในไต เนื่องจากการตกตะกอนของกรดยูริก
6. ผู้ป่วยที่กินยาลดกรดยูริก
จำเป็นต้องไปรับการตรวจหาระดับของกรดยูริกในเลือดอยู่เป็นระยะๆ แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติแล้วก็ตามเพื่อติดตามดูว่าระดับของกรดยูริกในเลือดยังอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่
7. ผู้ป่วยที่มีเพียงกรดยูริกในเลือดสูงโดยไม่มีอาการปวดข้อหรืออาการอื่น ๆ
ก็ไม่ต้องใช้ยาลดกรดยูริกยกเว้นถ้ามีระดับของกรดยูริกสูงเกิน 12 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ก็ควรกินยาลดกรดยูริกเป็นประจำ
คำแนะนำเกี่ยวกับโรคเกาต์
· เมื่อมีอาการผิดปกติของข้อเกิดขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคว่ามีสาเหตุมาจากอะไรส่วนผู้ที่เป็นโรคเกาต์หรือเคยเป็นโรคเกาต์มาก่อน ควรไปพบแพทย์ตามนัดเสมอและควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติไปจากเดิมหรืออาการต่าง ๆเลวร้ายลง หรือเมื่อมีความกังวลใจในอาการที่เกิดขึ้น
· โรคเกาต์แม้จะเป็นโรคเรื้อรังแต่ก็ไม่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต (ถ้าไม่ปล่อยให้เป็นเรื้อรังจนเกิดไตวาย)และหากได้รับการรักษาอย่างจริงจัง ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรเข้ารับการรักษาอย่าได้ขาด กินยาตามที่แพทย์สั่งไปตลอดชีวิตปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และหมั่นตรวจเลือดอยู่เป็นระยะ ๆ
· ผู้ที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคเกาต์ควรตรวจหาระดับของกรดยูริกในเลือดเป็นระยะ ๆ
· โรคเกาต์เป็นโรคที่ไม่ค่อยเกิดในสัตว์ชนิดอื่นๆ เนื่องจากพวกมันสามารถผลิตยูริเคสที่ช่วยย่อยสลายกรดยูริกได้เองส่วนมนุษย์และวงศ์ลิงใหญ่อื่น ๆ จะไม่มีความสามารถนี้ จึงมักพบโรคนี้ได้อยู่บ่อย ๆ
ขอขอบคุณ :MedThai
https://medthai.com/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B9%8C/
ขอขอบคุณรูปภาพ:
https://medthai.com/wp-content/uploads/2016/03