"รื้อทิ้ง สร้างใหม่" ศาลฎีกา ปี 51 สถาปัตยกรรมนี้ของใคร ? ตอนที่1

จากบทความเรื่อง "บางเหตุผลที่สังคมไม่ควรยอมให้ "รื้อ-สร้าง" ศาลฎีกาใหม่" ของอ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร http://winne.ws/n14876

2.8 พัน ผู้เข้าชม
"รื้อทิ้ง สร้างใหม่" ศาลฎีกา ปี 51 สถาปัตยกรรมนี้ของใคร ? ตอนที่1

-รื้อทิ้ง-สร้างใหม่-ศาลฎีกาปี-2551-สถาปัตยกรรมนี้ของใคร-ตอนที่-1

ไม่ว่าประชาชนคนไทยจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตามกับโครงการรื้อ-สร้างศาลฎีกาใหม่ในครั้งนี้ โครงการยักษ์แห่งชาติโครงการนี้ก็ได้กลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าติดตามของสังคมไปแล้ว (ต่อประเด็น การใช้สถาปัตยกรรมเป็นเครื่องมือแสดงนัยสำคัญทางการเมืองและอำนาจการปกครอง)

"อาคารสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์" ที่กำลังจะเข้ามาแทนที่กลุ่มอาคารศาลรูปแบบเดิม ไม่ได้มีต้นทุนเป็นเพียงแค่เงินงบประมาณ (จากภาษีประชาชน) จำนวน 3700 ล้านบาท แต่ยังมี ต้นทุนที่เป็นนามธรรม แฝงอยู่อีกหลายประการ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับบทบาทเชิงอำนาจในระดับโครงสร้างสังคมเสียด้วย

ที่ผ่านมา มีกระแสคัดค้านการรื้อ-สร้างกลุ่มอาคารศาลฎีกาจากนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงนั้นมีทั้งเรื่องคุณค่าของอาคารในเชิงประวัติศาสตร์ เชิงการอนุรักษ์และการพัฒนาเมืองเก่า รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อนโยบายสาธารณะของรัฐ ฯลฯ แต่ประเด็นที่น่าสนใจต่อวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมมากที่สุดก็เห็นจะเป็น "การกำหนดใช้ศิลปะและการออกแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจทางการเมือง และโครงสร้างการปกครองของประเทศ" บนแนวคิดที่ว่าสถาปัตยกรรมนั้นอาจจูงใจปัจเจกบุคคลให้เกิดความรู้สึกถึงอัตลักษณ์กลุ่ม(Collective Identity) ของประเทศได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็น "ต้นทุนเชิงนามธรรม" ที่มีความสำคัญอย่างสูง ไม่เพียงต่อผู้ที่อยู่ในแวดวงสถาปัตยกรรม การออกแบบ ศิลปะ ข้าราชการ หรือนักการเมือง เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับประชาชนพลเมืองทั่วไป(โดยตรง)อย่างที่ไม่ทันได้สังเกตอีกด้วย ส่วนจะมีความสำคัญหรือมีประเด็นเกี่ยวพันอย่างไรนั้น เราคงต้องพิจารณากันทีละประเด็น

ประวัติของกลุ่มอาคารศาลฎีกา 
กลุ่มอาคารศาลฎีกาในปัจจุบันประกอบด้วยอาคารหลายหลัง แต่ที่มีความสำคัญที่สุดคือกลุ่มอาคารรูปตัววี ที่มีอาคารหลัก 3 หลัง ซึ่งออกแบบไว้พร้อมกัน แต่ไม่ได้สร้างพร้อมกัน มีพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) สถาปนิกกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ โดยอาคารหลังแรกเริ่มสร้างปี พ.ศ. 2482 เพื่อใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงยุติธรรม สร้างเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2484 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อาคารหลังที่สองสร้างในปี พ.ศ.2484 แล้วเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2486 ส่วนปีกอาคารด้านถนนราชดำเนินใน นั้นไม่ได้สร้างตามแบบเดิม (เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สอง) แต่ได้ออกแบบและเริ่มก่อสร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2502 ซึ่งแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดในปี พ.ศ.2506

โดยแนวคิดการสร้างกลุ่มอาคารศาลครั้งนั้นเป็นของหลวงพิบูลสงคราม (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) วิเคราะห์กันดูแล้วน่าจะเป็นแนวคิดที่สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้รับเอกราชทางการศาลคืนมาโดยสมบูรณ์ หลังจากที่เคยเสียเอกราชทางการศาลให้กับประเทศต่างๆ ภายใต้ "สิทธิสภาพนอกอาณาเขต" จากการทำสนธิสัญญาเบาริ่งในสมัยรัชกาลที่สี่ โดยในครั้งนั้นกลุ่มอาคารทั้งสามถูกก่อสร้างด้วยแนวคิดของ สถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น (Modern Architecture)[1]

สถาปัตยกรรมโมเดิร์น (Modern Architecture):สัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณของสังคมสมัยใหม่ 
แรกเริ่มเดิมที สถาปัตยกรรมโมเดิร์น (ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในยุโรป) เป็นการสะท้อนถึงจิตวิญญาณของสังคมสมัยใหม่หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เน้นประโยชน์การใช้สอยขั้นพื้นฐานเป็นหลัก และตัดความฟุ่มเฟือยต่างๆออกไป (อาทิ การตกแต่งลวดลายประดับประดา)

แต่อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของอ.ชาตรี พบว่า คณะราษฎร (ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายเพื่อให้มีการแก้ไขสนธิสัญญากับต่างชาติจนกระทั่งประเทศไทยได้รับเอกราชทางการศาลคืนอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2481) ได้เลือกใช้สถาปัตยกรรมโมเดิร์นด้วยวัตถุประสงค์เฉพาะ นั่นก็คือ เพื่อสะท้อนแนวคิดทางการเมืองที่มีลักษณะต่อต้านแข่งขัน และแย่งชิงความชอบธรรมทางการเมืองกับกลุ่มอำนาจเก่า (สถาบันกษัตริย์และกลุ่มนิยมเจ้า)

ดังนั้น เราก็อาจพูดได้กลายๆว่า รูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในบริบทของสังคมไทยนั้น ก็คือ "สัญลักษณ์ของประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร" นั่นเอง

อำนาจทางการเมืองกับสัญลักษณ์ผ่านสถาปัตยกรรมศาลฎีกา 
เมื่อกลับไปศึกษาประวัติของกลุ่มอาคารศาลฎีกา ตลอดจนพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่างๆทั้งในเชิงการเมือง การปกครอง และคุณค่าเชิงสถาปัตยกรรมแล้ว จะพบว่ากลุ่มอาคารศาลฎีกานี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์แทน การได้รับเอกราชทางการศาลคืนโดยสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังมีนัยสำคัญที่บ่งถึงการเคลื่อนย้ายของอำนาจ ทางการเมืองภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ในยุคที่มีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่าง กลุ่มอำนาจสองกลุ่ม (ซึ่งก็คือคณะราษฎรและกลุ่มอำนาจเก่า) ได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของอ.ชาตรี พบว่าแนวคิดที่จะรื้อถอนกลุ่มอาคารศาลฎีกานั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 โดยรัฐบาลยุคนั้นได้อนุมัติให้มีการรื้ออาคารศาลฎีกาเพื่อสร้างใหม่ในที่เดิม ทั้งที่เพิ่งจะเปิดใช้งานไปได้เพียง 23 ปี และในปี พ.ศ. 2535 ก็ได้มีมติเห็นชอบให้ก่อสร้างอาคารศาลฎีกาใหม่ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรม "ไทยประยุกต์" (ประกอบด้วย "ยอดปราสาท" คล้ายกับพระบรมมหาราชวัง) โดยมีการอนุมัติงบประมาณก่อสร้างไว้ราว 2300 ล้านบาท แต่โครงการดังกล่าวจำต้องถูกระงับไป เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งได้มีการรื้อฟื้นโครงการขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเร็วๆนี้

ในครั้งนี้โครงการได้รับงบประมาณรวมทั้งสิ้น 3700 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบผูกพันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2556 มีการทำพิธีบวงสรวงเพื่อเริ่มดำเนินการไปเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2550 โดยได้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมไปเล็กน้อยคือ ยกเลิกการใช้ยอดปราสาท แต่โดยรวมก็ยังคงเป็น "สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์" ที่ใช้หลังคาและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแบบจารีต (ประเภทวัดและวัง) มาปรับสวมลงในผังอาคารสมัยใหม่เช่นเดิม[2] มีการใช้จั่วสามเหลี่ยม มีการตกแต่งประดับประดาลวดลาย (ที่ถูกลดทอนรายละเอียดลงแล้ว) โดยอ้างว่าศิลปะดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึง "ความเป็นไทย"

อันที่จริง การใช้สามเหลี่ยมหน้าจั่วเพื่อแสดงความเป็นไทยนั้นก็ไม่น่าจะมีอะไรเสียหาย ถ้าหาก "ความเป็นไทย"ที่ว่า ไม่ได้ถูกตีกรอบและจำกัดความหมายไว้อย่างแคบๆภายใต้สัญลักษณ์สามเหลี่ยมหน้าจั่วนี้เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรูปแบบทางสถาปัตยกรรมอื่นๆที่อาจถูกเหมาว่า "ไม่มีความเป็นไทย" (ไปโดยปริยาย) นั้น มันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างสูงในตัวเอง ในกรณีของกลุ่มอาคารศาลฎีกาปัจจุบัน สถาปัตยกรรมนี้เคยทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์แสดงเหตุการณ์สำคัญในอดีต บรรจุรวมเอานัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ การเมือง และสถาปัตยกรรมไว้เอาไว้มากมาย อาทิ การได้รับเอกราชทางการศาลคืนจากต่างประเทศ การร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระแสสถาปัตยกรรมโมเดิร์น (ซึ่งเป็นกระแสสากลในยุคนั้น) ประเด็นหลักฐานเหล่านี้มันไม่มีค่าทางใจ คูู่ควรที่สังคมไทยจะเก็บรักษาไว้ในประวัติศาสตร์ชาติบ้างหรือ

[1] จากบทความเรื่อง "บางเหตุผลที่สังคมไม่ควรยอมให้ "รื้อ-สร้าง" ศาลฎีกาใหม่" ของอ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

[2] เรื่องเดียวกัน

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

http://www.tcdc.or.th/articles/design-creativity/17003/#Design--Representation-of-Power

แชร์