นักวิชาการปลื้มพ.ร.บ.คุมเหล้าฉบับปี 51 ช่วยลดนักดื่ม-ลดอุบัติเหตุ
นักวิชาการ ชี้ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551ช่วยให้พฤติกรรมการดื่มและผลกระทบจากแอลกอฮอล์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น http://winne.ws/n28841
ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ถือเป็นกฎหมายสำคัญของไทยในการควบคุมการบริโภคและผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรการที่สำคัญของกฎหมายดังกล่าวอยู่ในมาตราที่ 26–32 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการ การควบคุมฉลากและบรรจุภัณฑ์ (มาตรา 26) การจำกัดสถานที่ขายและบริโภค (มาตรา 27 และ 31) การจำกัดวันและเวลาขาย (มาตรา 28) การจำกัดวิธีการขาย (มาตรา 30) การห้ามขายแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง (มาตรา 29) และการจำกัดการโฆษณาและกิจกรรมการตลาด (มาตรา 32)
ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ ระบุว่า พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้มีผลบังคับใช้มาเป็นเวลากว่า 14 ปีแล้ว จึงขอนำเสนอตัวเลขสถิติเกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มและผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ได้แก่ 1.สัดส่วนนักดื่มภาพรวมลดลง ข้อมูลนักดื่มซึ่งหมายถึง ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เป็นตัวชี้วัดที่ใช้กันโดยทั่วไปในระดับสากล อ้างอิงข้อมูลสัดส่วนนักดื่มจาก การสํารวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564 ที่จัดทำทุก 3-4 ปี โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสำรวจที่มีกลุ่มตัวอย่างหลายหมื่นถึงหลักแสนคน มีการเผยแพร่รายงานการสำรวจ สถิติ และข้อคำถามโดยละเอียด พบว่า สัดส่วนนักดื่มในประชากรไทยลดลง จาก 32.7% (ปี 2547) และ 30.0% (ปี 2550) มาเป็น 28.4% และ 28.0% ในปี 2560 และ 2564 ตามลำดับ โดยที่สัดส่วนผู้ดื่มที่ลดลงเห็นได้ชัดเจนในกลุ่มเพศชายจาก 52.3% ในปี 2550 เหลือเพียง 46.4% ในปี 2564 ในขณะที่สัดส่วนนักดื่มเพศหญิงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
อ่านข่าวเพิ่มที่ บ้านเมือง