สสส.หนุนปรับสูตรลดกินเค็มหันมาบริโภคอาหารโซเดียมต่ำเข้าถึงง่าย

ชูนวัตกรรมลดกินเค็ม หนีโรคร้ายความดันโลหิตสูงและโรคไต สสส.หนุนปรับสูตรลดโซเดียม ชวนคนไทยหันมานิยมอาหารโซเดียมต่ำเข้าถึงง่าย http://winne.ws/n28751

1.4 พัน ผู้เข้าชม
สสส.หนุนปรับสูตรลดกินเค็มหันมาบริโภคอาหารโซเดียมต่ำเข้าถึงง่าย

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (MIND Center) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม จัดงานสัมมนาวิชาการในรูปแบบออนไลน์ “นวัตกรรมสู่แนวปฏิบัติในการลดเค็มสำหรับโรคความดันโลหิตสูงและโรคไต” (Salt restriction for hypertension and kidney diseases: from innovations to policy) เพื่อให้ความรู้ด้านนวัตกรรมใหม่ๆ และนโยบายสาธารณะให้คนไทยลดการบริโภคเค็ม ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคไต

ศ.นพ.ม.ล.ชาครีย์ กิติยากร หัวหน้าศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์โลกพบว่า ภาวะความเสี่ยงจากการบริโภคเกลือโซเดียม เพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคความดันโลหิต โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดราว 3 ล้านราย/ปี ขณะเดียวกันโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สําคัญของคนไทย จากการศึกษาความชุกของโรค จากผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 พบว่ามีประชากรไทยที่เป็นความดันโลหิตสูง 28.5% และพบว่ามีประชากรไทยเป็นโรคไตเรื้อรัง 8.7%  ประสิทธิภาพของการลดเค็มในการป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว และความสำคัญของความร่วมมือจากบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม รัฐบาล องค์กรวิชาชีพและภาคประชาสังคม ตลอดจนการนำนวัตกรรมใหม่ๆ และนโยบายมาประยุกต์ใช้เพื่อการขับเคลื่อนการลดโซเดียมให้ประสบความสำเร็จ

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า ผลงานวิจัยในประชากรไทยที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ประเมินแหล่งของเกลือโซเดียมในอาหารที่คนไทยบริโภคพบว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งยังพบว่าคนไทยกินอาหารนอกบ้านมากขึ้น พึ่งพาอาหารจากร้านสะดวกซื้อที่มีปริมาณเกลือโซเดียมสูง หากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจะเป็นประโยชน์ในการลดพฤติกรรมการกินเค็มได้ นอกจากนี้ได้นำอุปกรณ์วัดความเค็มในตัวอย่างอาหารไปใช้พบว่า มีประโยชน์ในการช่วยปรับพฤติกรรมลดการบริโภคเกลือ ปรับลิ้นให้มีความไวในการรับรู้รสเค็มได้ดีขึ้น ส่งผลต่อการควบคุมความดันโลหิต ซึ่งระยะยาวจะส่งผลดีต่อสุขภาพ

อ่านข่าวเพิ่มที่ บ้านเมือง

แชร์