"ซึมเศร้าซ่อนเร้น" ซึมเศร้าแต่ไม่แสดงอาการ คุณเป็นอยู่หรือเปล่า

สำหรับวิธีการรักษาผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น มักไม่มีวิธีการรักษา 1 2 3 4 ที่ตายตัว เพราะอาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นจิตแพทย์จึงอาจพิจารณาให้ความรู้ ความเข้าใจ ทำจิตบำบัด บำบัดด้วยวิธีอื่น ๆ เข้ามาช่วย http://winne.ws/n28697

1.0 พัน ผู้เข้าชม
"ซึมเศร้าซ่อนเร้น" ซึมเศร้าแต่ไม่แสดงอาการ คุณเป็นอยู่หรือเปล่า

          นอกจากโรคซึมเศร้าจะอันตรายและควรรีบรักษาแล้ว การเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัวยิ่งอันตรายกว่าเดิม ทางการแพทย์เราอาจเรียกอาการนี้ว่า “ซึมเศร้าซ่อนเร้น”

           ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น มักไม่พบอาการซึมเศร้าที่ชัดเจน ผู้ป่วยโรคนี้หลายคนยังรับผิดชอบหน้าที่การงานได้ พูดจาทักทาย ยิ้มแย้มกับคนใกล้ชิดได้เหมือนไม่มีปัญหาอะไร แต่มักมีความวิตกกังวล ไม่มีความสุข พูดถึงหรือแสดงอาการเจ็บป่วยทางกายให้เห็นบ่อย ๆ เช่น ปวดหัว ปวดหลัง คลื่นไส้ แตกต่างจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) ตรงที่ผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้าชัดเจน เช่น เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดกำลังใจ ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ รู้สึกไร้ค่า คิดอยากตาย

        อาการที่สังเกตได้ ของผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น

       - พูดถึงหรือแสดงอาการเจ็บป่วยทางกายให้เห็นบ่อย ๆ

       - ไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอาการป่วยทางกายที่เกิดขึ้น แต่หาสาเหตุที่แท้จริงไม่ค่อยได้ ได้แต่รักษาไปตามอาการที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ

       - ยังทำงาน เรียน หรือทำกิจกรรมปกติประจำวันได้เหมือนเดิม แต่ประสิทธิภาพด้อยลงเพราะมีความเครียด และความกังวลมากเกินไป ต่างจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อาจมีอาการมากเกินไปจนไม่สามารถเรียนหรือทำงาน หรือรับผิดชอบในสิ่งที่เคยทำได้ดีเหมือนเดิม

         - อาจมีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำเพื่อให้ได้มาซึ่งความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) เพราะลึก ๆ ในใจมีความไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่มั่นคงทางอารมณ์ จึงพยายามเพื่อให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับของคนอื่น และหากทำไม่ได้ดั่งใจหวังจะเสียใจ และผิดหวังค่อนข้างรุนแรง ไปจนถึงโทษตัวเอง โกรธตัวเองที่ทำไม่ได้ รวมถึงหงุดหงิดง่ายกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มีความแปรปรวนทางอารมณ์สูง

        - อาจมีพฤติกรรมบ้างาน (Workaholic)

       - ปัญหาด้วยการใช้เหล้า สุรา ยานอนหลับ หรือสารเสพติด

       สำหรับวิธีการรักษาผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น มักไม่มีวิธีการรักษา 1 2 3 4 ที่ตายตัว เพราะอาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นจิตแพทย์จึงอาจพิจารณาให้ความรู้ ความเข้าใจ ทำจิตบำบัด บำบัดด้วยวิธีอื่น ๆ เข้ามาช่วย แต่ก่อนอื่นผู้ป่วยต้องยอมรับตัวเองก่อนว่ากำลังมีปัญหา และเปิดใจเข้ารับการปรึกษากับจิตแพทย์

        อ้างอิง : นายแพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย จิตแพทย์ และกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์, Sanook @sanook.com


ที่มา www.chiangmainews.co.th

แชร์