"นิสิตสันติศึกษา มจร" ปันมื้อสามัคคีกับ "โจน จันได" สัมผัสโลกทัศน์วิถีชีวิตใหม่
พระครูปลัดอดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า จึงนับได้ว่า ที่ดินแห่งนี้เป็นต้นแบบการพัฒนาสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร อนาคตพื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติกรุงเทพมหานคร ที่พร้อมส่งมอบองค์ความรู้ด้านกสิกรรมแก่ชาวนามหานคร http://winne.ws/n28512
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม 2564 พระครูปลัดอดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ,ดร. เจ้าอาวาสวัดสารอด กรุงเทพมหานคร อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า วันที่ 18 ธันวาคม 2564 ได้รับมอบหมายจากพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสาขาวิชาสันติศึกษา มจร นำคณะนิสิตลงพื้นที่ศึกษาดูงาน #ปันมื้อสามัคคีเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่โคกหนองนาอาสาชาวนามหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการศึกษาเรียนในรายวิชา พระพุทธศาสนากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs
การลงพื้นที่ครั้งนี้ ทำให้นิสิต ป.เอก สาขาวิชาสันติศึกษา รุ่น 5 ได้เก็บเกี่ยวความรู้ประสบการณ์ใหม่ โดยเฉพาะการได้รับฟังองค์ความรู้ ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ จาก อาจารย์โจน จันได ผู้คร่ำหวอดการออกแบบชีวิตภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
อาจารย์โจน จันได ได้อธิบายแนวคิด คุณค่าความสำคัญของบ้านดินว่า การสร้างบ้านดินทำให้มีที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืนเพราะบ้านดินมีอายุหลายร้อยปี สามารถลดค่าใช้จ่ายในการทำบ้านได้อย่างมากด้วย ราคาไม่แพง บ้านดินทำไม่ยาก เด็กอายุ 9 ขวบก็เคยทำได้มาแล้ว เขาสามารถทำอิฐเองได้แล้วก่อเองได้ ผู้ใหญ่จะช่วยก็คงตอนทำหลังคา
อาจารย์โจน จันได ได้อธิบายขั้นตอนการทำอย่างละเอียด ตั้งแต่การเลือกที่ดินจุดสร้าง จุดทำอิฐดิน พร้อมแนะวิธีการคิด การคำนวน เน้นการออกแบบตามใจคนอยู่ แต่ต้องไปดูงานของคนอื่น ดูมากๆ เดี๋ยวเราจะรู้ว่าเราชอบแบบไหน ตั้งคำถามกับตนเองว่า สร้างบ้านไว้ใช้ประโยชน์อะไร จากนั้นได้ทำตัวอย่างตามขั้นตอนการทำอิฐดิน ภายใต้กิจกรรม “ย่ำโคลน โจนพาทำ”
นอกจากได้รับความรู้จากอาจารย์โจนแล้ว ยังได้รับความรู้จากคุณวรเกียรติ เจ้าของโคกหนองนาอาสาชาวนามหานคร นักธุรกิจพลิกผันชีวิตมาออกแบบชีวิตอิสรภาพบนพื้นที่ดินส่วนตัวกว่า 200 ไร่ คุณวรเกียรติ ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
พระครูปลัดอดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า จึงนับได้ว่า ที่ดินแห่งนี้เป็นต้นแบบการพัฒนาสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร อนาคตพื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติกรุงเทพมหานคร ที่พร้อมส่งมอบองค์ความรู้ด้านกสิกรรมแก่ชาวนามหานคร โดยมีอาจารย์ยักษ์ เป็นที่ปรึกษาหลักที่สำคัญ
โอกาสนี้ขออนุโมทนาขอบคุณ อาจารย์โจน จันได และคุณวรเกียรติ ที่เปิดพื้นที่สำหรับการปันมื้อสามัคคีเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่นั่นคือ จิกซอสำคัญของการพัฒนาฟูมฟักทัศนคติ สติปัญญา ที่จะหล่อหลอมให้กับนิสิตนำเอาไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเองได้ต่อไป