ลดเค็มเพื่อสุขภาพด้วยภาษีโซเดียม

การกินเค็มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดแนวคิดใช้มาตรการภาษีโซเดียม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในอาหาร เพื่อช่วยให้ประชาชนลดปริมาณบริโภคเกลือ http://winne.ws/n28471

1.6 พัน ผู้เข้าชม
ลดเค็มเพื่อสุขภาพด้วยภาษีโซเดียม

โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กรมสรรพสามิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ได้จัดประชุมสัมมนาเพื่อการขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทย รวมถึงขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม สร้างกติกากลางให้กับภาคอุตสาหกรรมลดปริมาณโซเดียมในสูตรอาหาร

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ความสำคัญในการลดการบริโภคเกลือโซเดียมเพื่อช่วยลดการเจ็บป่วย และเสียชีวิตของประชาชนอันเนื่องมาจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง และโรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น

โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าคนไข้กลุ่มนี้มีอัตราเสียชีวิตสูง และจากรายงานการสำรวจในปีที่ผ่านมาโดยเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สสส. ร่วมกับภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งองค์การอนามัยโลก พบว่า คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 9.1 กรัม ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 5 กรัมต่อวัน เกือบ 2 เท่า นับเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งช่วยกันแก้ไข

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีภารกิจในอีกด้านหนึ่งคือ สนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณความหวาน ดังนั้น เพื่อให้คนไทยลดการบริโภคเกลือโซเดียมอย่างเป็นรูปธรรม มาตรการภาษีสรรพสามิต จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ประชาชน และผู้ประกอบอุตสาหกรรมลดการบริโภคและลดการผลิตสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมสูง ร่วมกับการใช้มาตรการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี

ในปัจจุบันกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตความเค็มตามปริมาณโซเดียม และจะดำเนินมาตรการดังกล่าวในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งนโยบายของกระทรวงการคลังจะมีทั้งมาตรการภาษีและไม่ใช้มาตรการทางด้านภาษี ในการลดการบริโภคโซเดียม ของคนไทย นอกจากนี้จะต้องสร้างระบบการติดตามลดการบริโภคโซเดียมอย่างชัดเจน เมื่อได้ใช้เครื่องมือทางด้านภาษีแล้ว ก็จะต้องมีการตรวจสอบการลดลงของการบริโภคโซเดียมและตรวจสอบอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ด้วย

อ่านเพิ่มเติมที่ สสส.

แชร์