ออกพรรษา สู่ช่วงเวลาทอดกฐิน

ช่วงระยะเวลาของการทอดกฐิน ถูกกำหนดให้กระทำได้ภายในหนึ่งเดือนนับจากวันออกพรรษา คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงกลางเดือน 12 รวมเวลา 29 วันเท่านั้น http://winne.ws/n28310

1.2 พัน ผู้เข้าชม
ออกพรรษา สู่ช่วงเวลาทอดกฐิน

บุญทอดกฐิน เป็นบุญพิเศษที่จัดว่าเป็น “กาลทาน”กล่าวคือ ทำได้เฉพาะกาลเท่านั้น หรือพูดง่ายๆได้ว่า ไม่ใช่มีอารมณ์อยากจะทำตอนไหนก็ทำได้เพราะทำได้แค่ปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น หมายถึงว่า ถ้าพลาดบุญนี้ไป ก็ต้องรอไปจนถึงปีหน้า  อีกทั้งการทำบุญทอดกฐินจะต้องทำในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้นซึ่งช่วงเวลาที่กำหนดไว้ คือ ช่วงระยะเวลาภายในหนึ่งเดือนนับจากวันออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม1 ค่ำ เดือน 11 ถึงกลางเดือน 12 รวมเวลา 29 วันเท่านั้น หากเลยช่วงเวลาดังกล่าวไปแม้แต่เพียงวันเดียวบุญที่ทำไป จะไม่จัดว่าเป็นบุญทอดกฐินของปีนั้น

กฐินทาน คือ การถวายผ้าให้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ได้ดำรงตนอยู่ในกรอบแห่งศีลสมาธิ(Meditation) และปัญญา ผ่านการอยู่จำพรรษาตลอดฤดูฝน ณอารามใดอารามหนึ่ง นับว่าเป็นกาลทานอันยิ่งใหญ่ ย่อมก่อให้เกิดอานิสงส์มากมายแก่ผู้ทอดถวาย

คำว่า กฐินแปลว่า สะดึง หมายถึง ไม้ที่ใช้สำหรับขึงผ้าให้ตึง มีทั้งรูปสี่เหลี่ยม และรูปวงกลมเมื่อขึงผ้าด้วยสะดึงแล้วจะทำให้เย็บผ้าได้ง่ายขึ้น แต่ในอีกความหมายหนึ่งนั้น หมายเอาผ้าจีวรที่ถวายแด่พระสงฆ์ที่อยู่ประจำอารามจนครบพรรษาคำว่า ทอดกฐิน จึงหมายถึง การน้อมนำผ้าจีวรมาวางทอดลง เพื่อถวายแด่ภิกษุสงฆ์ มิได้เจาะจงแก่ภิกษุรูปใดเทศกาลทอดกฐินจะเรียกอีกแบบ คือ ฤดูกาลเปลี่ยนผ้าใหม่ของพระภิกษุ โดยในอดีตกาล ยุคต้นที่พระพุทธศาสนาเริ่มบังเกิดขึ้นผ้าที่ภิกษุได้มานั้นเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของหรือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าห่อศพในป่าช้าหรือผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามกองหยากเยื่อ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะผ้าในยุคนั้นเป็นของมีค่าหาได้ยากการที่ภิกษุแสวงหาผ้าที่ไม่มีผู้หวงแหน นำมาใช้นุ่งห่ม จึงแสดงถึงความสันโดษมักน้อยของนักบวชผู้มุ่งแสวงหาทางหลุดพ้น 

เมื่อถึงวันออกพรรษาพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญบุญกุศลแก่พระภิกษุสงฆ์ ที่ตั้งใจจำพรรษาเพื่อปฏิบัติธรรมตลอดจนครบระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งการบำเพ็ญบุญกุศลที่พุทธศาสนิกชนนิยมปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณีคือ

1.ตักบาตรเทโวหรือตักบาตรเทโวโรหณะ ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หรือหลังจากออกพรรษาแล้ว 1 วัน ประเพณีการตักบาตรเทโวในสมัยพุทธกาลนั้นกล่าวคือ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมและเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาโดยจำพรรษาอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นเวลา 1 พรรษา

และเมื่อออกพรรษาแล้วพระองค์ได้เสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ณ เมืองสังกัสสนคร การที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในครั้งนั้น บรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีความเลื่อมใสศรัทธา เมื่อทราบข่าวต่างพร้อมใจกันไปรอตักบาตรเพื่อรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น จนถือเป็นประเพณีตักบาตรเทโวสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน

สำหรับของที่พุทธศาสนิกชนนิยมนำมาใส่บาตรอาจแตกต่างกันไปบ้าง ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น โดยบางแห่งอาจนิยมทำข้าวต้มลูกโยน ที่ทำจากข้าวเหนียว ห่อด้วยใบมะพร้าว ไว้หางยาวเพื่อสะดวกในการโยนใส่บาตร นอกจากประเพณีการตักบาตรเทโวแล้ว ยังมีพิธีทอดกฐิน พิธีทอดผ้าป่า และประเพณีการเทศน์มหาชาติ ที่นิยมทำกันในวันออกพรรษาด้วย

2.ทอดกฐิน ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ พระเชตวนาราม ซึ่งเป็นพระอารามที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สร้างถวายเป็นพุทธนิวาส ได้มีภิกษุ 30 รูป ชาวเมืองปาฐาซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกในแคว้นโกศล เดินทางมาหมายจะเฝ้าพระพุทธองค์ที่เมืองสาวัตถี

แต่มาไม่ทันเพราะใกล้ถึงวันเข้าพรรษา จึงเข้าพักจำพรรษา ณ เมืองสาเกต อันมีระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีราว 6 โยชน์ พระภิกษุสงฆ์ทั้ง 30 รูปล้วนแต่เป็นผู้เคร่งครัดปฏิบัติธุดงค์ และต่างมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้เฝ้าพระบรมศาสดา

เมื่อถึงวันออกพรรษาแล้วก็รีบเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีโดยไม่มีการรั้งรอแม้ว่ายังเป็นช่วงที่ฝนตกหนักน้ำท่วม เมื่อพระภิกษุสงฆ์ทั้ง 30 รูปได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาตามความตั้งใจแล้ว ครั้นพระองค์ตรัสถามจึงได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ พระบรมศาสดาดำริถึงความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น จึงเรียกประชุมพระภิกษุสงฆ์แล้วตรัสอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้ากฐินได้

3.ทอดผ้าป่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งที่พระบรมศาสดายังมิได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายรับจีวรจากชาวบ้าน พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นจึงต้องเก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าเปรอะเปื้อนที่ชาวบ้านไม่ต้องการนำมาทิ้งไว้ หรือผ้าที่ห่อศพ

เมื่อรวบรวมผ้าเหล่านั้นพอแก่ความต้องการแล้ว จึงนำมาทำความสะอาด ตัดเย็บและย้อมเพื่อทำเป็นจีวร สบง การทำจีวรของพระภิกษุสงฆ์ในสมัยพุทธกาลกล่าวได้ว่าค่อนข้างยุ่งยาก ครั้นชาวบ้านเห็นความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์จึงนำผ้ามาถวาย แต่เมื่อยังไม่มีพุทธานุญาตโดยตรงจึงต้องนำผ้าไปทอดทิ้งไว้ ณ ที่ต่าง ๆ

เช่น ตามป่าช้าหรือข้างทางเดิน เมื่อพระภิกษุสงฆ์มาพบก็นำเอามาทำเป็นสบง จีวร จึงเป็นที่มาของพิธีการทอดผ้า สำหรับในประเทศไทยพิธีทอดผ้าป่าได้รื้อฟื้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ด้วยทรงมีพระประสงค์จะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีในทางพระพุทธศาสนาไว้

4.เทศน์มหาชาติ ถือเป็นการทำบุญที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียวทั้ง 13 กัณฑ์แล้วจะได้บุญกุศลแรง

ประเพณีการเทศน์มหาชาติจะทำในช่วงหลังออกพรรษาและหลังกฐิน ซึ่งก่อนที่จะมีการเทศน์มหาชาติจะต้องแจ้งให้ชาวบ้านได้ทราบล่วงหน้า เพื่อที่ชาวบ้านจะได้มีเวลาเตรียมของไปทำบุญ ในวันเทศน์มหาชาติเจ้าภาพแต่ละกัณฑ์เทศน์จะนำเครื่องกัณฑ์เทศน์ใส่กระจาด ซึ่งเครื่องกัณฑ์เทศน์ประกอบด้วย ขนมต่าง ๆ เช่น ขนมกรอบ ขนมกง ขนมกรุย ข้าวเม่ากวน

นอกจากนี้ ยังมีอาหารแห้งอีกด้วย อาทิ ข้าวสาร น้ำปลา ผลไม้ และยังมีเครื่องกัณฑ์อื่น ๆ อีก เช่น ผ้าไตร บาตร ย่าม เครื่องบริขาร ทั้งนี้ จะต้องเตรียมดอกไม้ ธูปเทียน และเงินถวายบูชากัณฑ์เทศน์ด้วย

ขอบคุณภาพและเนื้อหาบางส่วนจาก ประชาชาติธุรกิจ

แชร์