"การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์"

การแต่งกายไทยในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นแบ่งได้ตามสมัยในช่วงรัชกาลต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้ http://winne.ws/n10350

8.8 หมื่น ผู้เข้าชม
"การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์"แหล่งภาพจาก My.iD - Dek-D.com

การแต่งกายไทยในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นแบ่งได้ตามสมัยในช่วงรัชกาลต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้

รัชกาลที่ 1-3 ระยะเวลา 69 ปี (พ.ศ. 2325-2394)

        การแต่งกายของผู้หญิง : ผู้หญิงจะนุ่งผ้าจีบ ห่มสไบเฉียง ตัดผมไว้ปีกประบ่า กันไรผมวงหน้าโค้ง หากเป็นชาวบ้านอาจนุ่งผ้าถุงหรือโจงกระเบน สวมเสื้อรัดรูปแขนกระบอก ห่มตะเบงมาน หรือผ้าแถบคาดรัดอก แล้วห่มสไบเฉียง

        การแต่งกายของผู้ชาย : ผู้ชายจะนุ่งผ้าม่วง โจงกระเบน สวมเสื้อนอกคอเปิด ผ่าอก กระดุม 5 เม็ด แขนยาว หากเป็นชาวบ้านจะไม่สวมเสื้อ

"การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์"

         การแต่งกายของชาววังและชาวบ้านจะไม่แตกต่างกันมาก จะมีแตกต่างกันก็ตรงส่วนของเนื้อผ้าที่สวมใส่ ซึ่งหากเป็นชาววังแล้วจะห่มผ้าไหมอย่างดี ทอเนื้อละเอียด เล่นลวดลาย สอดดิ้นเงิน-ทอง ส่วนชาวบ้านทั่วไปจะนุ่งผ้าพื้นเมือง หรือผ้าลายเนื้อเรียบ ๆ หากเป็นราษฎรทั่วไปที่มีอาชีพเกษตรกร ทำไร่ ทำนาแล้วจะนุ่งผ้าในลักษณะถกเขมร คือจะนุ่งเป็นโจงกระเบนแต่จะถกสั้นขึ้นมาเหนือเข่า เพื่อความสะดวก ไม่สวมเสื้อ หากอยู่บ้านจะนุ่งลอยชาย หรือโสร่งแล้วมีผ้าคาดพุง แต่ถ้าแต่งกายไปงานเทศกาลต่าง ๆ มักนุ่งโจงกระเบนด้วยผ้าแพรสีต่าง ๆ และห่มผ้าคล้องคอปล่อยชายทั้งสองยาวไว้ด้านหน้า การตัดผมของสตรีสาวจะตัดผมทรงดอกกระทุ่ม ปล่อยท้ายทอยยาวถึงบ่า หากเป็นผู้ใหญ่แล้วจะตัดผมปีกแบบโกนท้ายทอยสั้น 

"การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์"

สมัยรัชกาลที่ 4 ระยะเวลา 17 ปี (พ.ศ. 2394-2411)

เนื่องจากสมัยโบราณคนไทยไม่นิยมสวมเสื้อแม้แต่เวลาเข้าเผ้า ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงประกาศให้ข้าราชกาลสวมเสื้อเข้าเฝ้า และทรงสนับสนุนให้มีการศึกษาภาษาอังกฤษ จึงทำให้มีการรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา การแต่งกายของสตรีจึงมีการเปลี่ยนแปลงไป

การแต่งกายของผู้หญิง: ผู้หญิงจะนุ่งผ้าลายโจงกระเบน หรือนุ่งผ้าจีบ ใส่เสื้อแขนยาว ผ่าอก ปกคอตั้งเตี้ยๆ (เสื้อกระบอก) แล้วห่มผ้าแพรสไบจีบเฉียงทับบนเสื้อ ตัดผมไว้ปีกเช่นเดิม แต่ไม่ยาวประบ่า

การแต่งกายของผู้ชาย: ผู้ชายจะนุ่งผ้าม่วงแพรโจงกระเบน สวมเสื้อเปิดอกคอเปิด หรือเป็นเสื้อกระบอกแขนยาว เรื่องของทรงผมผู้ชายยังไว้ทรงมหาดไทยอยู่ ส่วนรัชกาลที่ 4 จะไม่ทรงไว้ทรงมหาดไทย 

"การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์"

สมัยรัชกาลที่ 5 ระยะเวลา 42 ปี (พ.ศ. 2411-2453)

ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ ถือเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของคนไทย เนื่องจากรัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสยุโรป และมีการนำแบบอย่างการแต่งกายของชาวยุโรปกลับมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย อีกทั้งในสมัยนี้ยังมีกำเนิดชุดชั้นในรุ่นแรกที่ดัดแปลงจากเสื้อพริ้นเซส ซึ่งต่อมาได้พัฒนาให้เป็นเสื้อชุดชั้นในที่เรียกว่า เสื้อคอกระเช้า ที่ยังคงเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันนี้

สมัยรัชกาลที่ ตอนต้น

การแต่งกายของหญิง: ผู้หญิงจะนุ่งผ้าลายโจงกระเบน เสื้อกระบอก แขนยาว ผ่าอก ห่มผ้าแพร จีบตามขวาง สไบเฉียงทับบนเสื้ออีกชั้นหนึ่ง ถ้าอยู่บ้านจะห่มแต่สไบ ไม่สวมเสื้อ เมื่อมีงานพิธีจะนุ่งห่ม ผ้าตาด เลิกไว้ผมปี และหันมาไว้ผมยาวประบ่า

การแต่งกายของชาย: ผู้ชายจะนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน สวมเสื้อราชประแตน สวมหมวกหางนกยูง ถือไม้เท้า และไว้ผมรองทรง หากไปงานพฺธีจะสวมถุงเท้าและรองเท้าด้วย การสวมเสื้อแพรสีจะสวมตามกระทรวงและหมวดต่างๆ ดังนี้

    - ชั้นเจ้านาย สวมเสื้อสีไพล

    - ชั้นขุนนางกระทรวงมหาดไทยสวมเสื้อแพรสีเขียวแก่

    - ชั้นขุนนางกระทรวงกะลาโหม สวมเสื้อแพรสีลูกหว้า

    - ชั้นขุนนางกรมท่า (กระทรวงต่างประเทศ) เสื้อแพรสีน้ำเงิน (สีกรมท่า)

    - ชั้นมหาดเล็ก สวมเสื้อแพรสีเหล็ก

    - พลเรือน สวมเสื้อปีก เป็นเสื้อคอปิด มีชายไม่ยาวมาก คาดเข็มขัดไว้นอกเสื้อ

"การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์"

สมัยรัชกาลที่ ตอนกลาง

การแต่งกายของหญิง: ผู้หญิงจะนุ่งผ้าจีบไว้ชายพกแต่หากมีงานพิธีก็ยังคงให้นุ่งโจงกระเบนอยู่ สวมเสื้อแบบตะวันตกแขนยาว ต้นแขนพองแบบหมูแฮม ปกคอตั้ง มีผ้าแพรหรือผ้าห่มสไบเฉียงทับตัวเสื้ออีกที ไว้ผมยาวเสมอต้นคอ สตรีชาววังจะมีผ้าแพรชมพูปักดิ้น มีลวดลายตามยศพระราชทาน สวมรองเท้าบูตและถุงเท้า

การแต่งกายของชาย: การแต่งกายจะเหมือนสมัยต้นรัชกาล ฝ่ายพลเรือนจะมีเครื่องแบบเต็มยศ เป็นเสื้อแพรสีกรมท่า ปักทองที่คอและที่ข้อมือ เวลาปกติจะสวมเสื้อคอปิด ผูกผ้าพันคออย่างชาวตะวันตก นุ่งผ้าไหมสีน้ำเงินแก่ สวมหมวกเฮลเม็ท (Helmet) สวมถุงเท้าขาวและรองเท้าหนังสือดำ

"การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์"

สมัยรัชกาลที่ ตอนปลาย

การแต่งกายของหญิง: ผู้หญิงจะนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแพรไหม ลูกไม้ ตัดแบบตะวันตก แขนยาว พองฟู เอวเสื้อเข้ารูป มีการคาดเข็มขัดหรือสายห้อยนาฬิกา มีสายสะพายผ้าแพร สวมถุงเท้ามีลวดลายและรองเท้าส้นสูงให้ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม และมักนิยมเครื่องประดับมุกสายสร้อยหลายชั้น

การแต่งกายของชาย: ผู้ชายจะนุ่งกางเกงแบบฝรั่งแทนโจงกระเบน สวมหมวกกะโล่ ข้าราชการจะแต่งเครื่องแบบเหมือนอารยประเทศ (แบบพระราชกำหนด)

"การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์"

สมัยรัชกาลที่ 6 ระยะเวลา 15 ปี (พ.ศ. 2453-2468)

การแต่งกายของหญิง: ผู้หญิงเริ่มมีการนุ่งผ้าซิ่นตามพระราชนิยม สวมเสื้อแพรโปร่งบาง หรือผ้าพิมพ์ดอก คอกว้างขึ้น หรือแขนเสื้อสั้นประมาณต้นแขน ไม่มีการสะพายแพร ส่วนทรงผมจะไว้ยาวเสมอต้นคอ ตัดเป็นลอน หรือเรียกว่า ผมบ๊อบ มีการดัดผมด้านหลังให้โค้งเข้าหาต้นคอเล็กน้อย นิยมคาดผมด้วยผ้าหรือไข่มุก

การแต่งกายของชาย: ผู้ชายยังคงนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน สวมเสื้อราชประแตน แต่เริ่มมีการนุ่งกางเกงแบบชาวตะวันตกในภายหลัง แต่ประชาชนธรรมดาจะนุ่งกางเกงผ้าแพรของจีน สวมเสื้อคอกลมสีขาว (ผ้าบาง)

"การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์"

สมัยรัชกาลที่ 7 ระยะเวลา 9 ปี (พ.ศ. 2468-2477)

การแต่งกายของหญิง: ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบน แต่จะนุ่งเป็นผ้าซิ่นแค่เข่า สวมเสื้อทรงกระบอก ไม่มีแขน ไว้ผมสั้นดัดลอน ซึ่งจะดัดลอนมากขึ้น

การแต่งกายของชาย: ผู้ชายจะนุ่งกางเกงเป็นสีต่างๆ แต่ข้าราชการจะผ้าม่วงหรือสีน้ำเงิน สวมเสื้อราชประแตน สวมรองเท้าและรองเท้า แต่ในปี 2475 มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำให้อารยธรรมตะวันตกมีอิทธพลต่อการแต่งกายของคนไทยมากขึ้น ผู้ชายจึงจะมีการนุ่งกางเกงขายาวแทนการนุ่งผ้าม่วง

แต่ถึงอย่างไร สามัญชนทั่วไปยังคงแต่งกายแบบเดิมคือ ผู้ชายสวมกางเกงแพรหรือกางเกงไทย สวมเสื้อธรรมดา ไม่สวมรองเท้า ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อคอกระเช้าเก็บชายไว้ในผ้าซิ่นหรือโจงกระเบน เวลาออกนอกบ้านจึงแต่งกายสุภาพ

"การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์"

สมัยรัชกาลที่ 8 ระยะเวลา 12 ปี (พ.ศ. 2477-2489)

โดยสรุปแล้วในสมัยนี้จะมีการแต่งกายที่เป็นสากลมากยิ่งขึ้น อีกทั่งยังเป็นยุครัฐนิยมซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กำหนดเครื่องแต่งกายออกเป็น 3 ประเภท

    1. ใช้ในที่ชุมชน

    2. ใช้ทำงาน

    3. ใช้ตามโอกาส

ผู้หญิงจะสวมเสื้อแบบไหนก็ได้ แต่ต้องคลุมไหล่ มีการนุ่งผ้าถุง แต่ต่อมาจะเริ่มนุ่งกระโปง หรือผ้าถุงสำเร็จสวมรองเท้า สวมหมวก และเลิกกินหมาก ส่วนผู้ชายจะสวมเสื้อมีแขน คอปิดหรือจะเปิดก็ได้

BY SUNNY

ที่มาข้อมูล
ผศ.ดร.อัจฉรา สโรบล. ประวัติเครื่องแต่งกาย. สืบค้นวันที่ 30 มีนาคม 2558 จากเว็บไซต์ www.human.cmu.ac.th/home/hc/ebook/006216/006216-03.pdf

ที่มาภาพ (ดัดแปลงภาพ)
ขอบคุณภาพจากละครลูกทาส ทวิภพ สี่แผ่นดิน ภาพอาถรรพ์ มาลัยสามชาย เรือนเสน่หา แรมพิศวาส บ่วง อีสา รวีช่วงโชติ และแค้นเสน่หา 
ขอบคุณภาพจากปฏิทินน้ำดื่มรีเจนซี่ ปี 2555


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก http://www.vcharkarn.com/varticle/502068

แชร์