นวนิยายจีนออนไลน์’บุกตลาดโลก คว้าใจนักอ่านต่างชาติ
จีนนอกจากมีอิทธิพลในด้านต่างๆ แล้ว งานเขียนของจีนก็เริ่มมีอิทธิพลจากแผ่นดินใหญ่มากขึ้น หลังจากที่คนทั่วโลกรู้จักนิยายกำลีงภายในจากไต้หวัน ตั้งแต่ อ้อเล้งเซ็ง กิมยง โก้วเล้ง มาแล้ว ยุคสมัยของนวนิยายจีนมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในขณนี้ http://winne.ws/n27922
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครฉงชิ่ง ประเทศจีนว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. วงการวรรณกรรมออนไลน์ของจีนที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้นวนิยายออนไลน์หลายเรื่องของจีนมีฐานผู้อ่านจำนวนมากในต่างประเทศ
จย่งจย่งโหย่วเยา (Jiong Jiong You Yao) คือนามปากกาของนักเขียนดาวรุ่งชาวจีนวัย 32 ปี หนึ่งในนักเขียนนวนิยายออนไลน์แนวโรมานซ์สไตล์คนเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุดขณะนี้ โดยนิยายของเธอดึงดูดแฟนนักอ่านตัวยงจากนานาประเทศได้มหาศาล
นวนิยายของจย่งจย่งโหย่วเยาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น อังกฤษ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและสเปน “นักอ่านชาวต่างชาติทำความเข้าใจประเทศจีนผ่านวรรณกรรมออนไลน์เหล่านี้” นักเขียนสาวกล่าว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของจย่งจย่งโหย่วเยา ส่วนหนึ่งนั้นได้รับแรงสนับสนุนจากวรรณกรรมจีนออนไลน์ที่เติบโตในตลาดต่างประเทศ รายงานของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีนประจำปี 2020 ว่าด้วยวรรณกรรมออนไลน์ของจีน ระบุว่า เมื่อนับถึงปี 2020 มีผลงานวรรณกรรมออนไลน์จีนมากกว่า 10,000 รายการที่บุกตลาดต่างประเทศ และดึงดูดผู้อ่านจากนานาชาติแล้วกว่า 100 ล้านคน
ในพื้นที่แสดงความคิดเห็นสำหรับนวนิยายเรื่องหนึ่งของจย่งจย่งโหย่วเยาในเว็บโนเวล (Webnovel) เว็บไซต์นวนิยายออนไลน์ระดับโลก อัดแน่นไปด้วยข้อความของแฟนๆ ที่ขอให้เธออัพเดทบทใหม่ในเร็ววัน ชี้ให้เห็นถึงความฮอตฮิตของนวนิยายเรื่องนี้
เมื่อปี 2016 นวนิยายโรมานซ์เรื่องหนึ่งของจย่งจย่งโหย่วเยา มียอดคลิกอ่านมากกว่า 4 ล้านครั้ง และได้มีการให้สิทธิของนวนิยายเรื่องนี้แก่องค์กรด้านวัฒนธรรมแห่งหนึ่งของเวียดนาม เพื่อนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ในปี 2018
“ฉันมักจะใส่เนื้อหาที่คงความเป็นจีนไว้ในงานเขียน เช่น งานปักของซูโจวและศิลปะการต่อสู้กังฟู และฉันพบว่าผู้อ่านชาวต่างชาติค่อนข้างสนใจองค์ประกอบเหล่านี้” เธอเล่า “ฉันมองว่าการที่วรรณกรรมออนไลน์ของจีนได้รับความนิยม ไม่ใช่แค่เพราะองค์ประกอบสไตล์ตะวันออกที่ดูลึกลับน่าค้นหาเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะว่าความเป็นมนุษย์ในผลงานนั้นไม่ถูกขวางกั้นด้วยอุปสรรคใด”
ครั้งหนึ่ง นวนิยายแนวแฟนตาซีและกังฟู เคยเป็นแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังความนิยมนวนิยายออนไลน์จีนในหมู่ผู้อ่านต่างชาติ โดยเรื่องราวหล่านี้มักมีพื้นฐานมาจากตำนานปรัมปราและวัฒนธรรมโบราณของจีน
อย่างไรก็ดี ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ช่องทางการสื่อสารระหว่างประเทศที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ได้เอื้อให้นวนิยายออนไลน์จีนหลายๆ ประเภทก้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วย เช่น นวนิยายออนไลน์แนวโรมานซ์สไตล์คนเมือง ที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิตของชาวจีนในเขตเมือง และได้รับความนิยมชมชอบมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันรวมถึงผลงานเขียนของจย่งจย่งโหย่วเยาด้วยเช่นกัน
นักเขียนสาวเล่าว่า ในอดีตผู้อ่านเคยชื่นชอบเรื่องราวที่พระเอกมักวางตัวเป็นใหญ่และควบคุมผู้อื่น รวมถึงนางเอกที่รับบทเหมือนซินเดอเรลลา แต่ตอนนี้ธีมของเรื่องได้เปลี่ยนไปสู่การนำเสนอความเป็นตัวของตัวเองและความเด็ดเดี่ยวของผู้หญิง “ฉันว่าเป็นเพราะผู้หญิงเอเชียมีความตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น และฉันได้สอดแทรกการเปลี่ยนแปลงนี้ไว้ในงานเขียน” คำบอกเล่าของนักเขียนสาว
อีกด้านหนึ่ง วรรณกรรมออนไลน์ของจีนยังกระตุ้นให้ผู้อ่านต่างชาติจำนวนไม่น้อยหันมาจับปากกาเขียนนิยาย ยกตัวอย่างเช่น Kazzenlx นักเขียนวัยรุ่นชาวฟิลิปปินส์วัย 25 ปี ผู้เขียนนวนิยายโรมานซ์แฟนตาซีเรื่อง “Hellbound With You” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายฉบับภาษาอังกฤษของจย่งจย่งโหย่วเยา
เหอหง รองผู้อำนวยการศูนย์วรรณกรรมออนไลน์ของสมาคมนักเขียนจีนกล่าวว่า “งานนวรรณกรรมออนไลน์ของจีนได้เปลี่ยนรูปแบบจากการเผยแพร่นวนิยายทั่วไป ไปเป็นการส่งออกระบบการสร้างสรรค์ผลงานที่ลุ่มลึก”
สถิติชี้ว่าเว็บโนเวลดึงดูดนักเขียนออนไลน์จากต่างประเทศเข้าสู่แพลตฟอร์มถึงกว่า 110,000 คน ซึ่งพวกเขาได้สร้างสรรค์ผลงานนวนิยายแล้วมากกว่า 200,000 ชิ้น
นอกจากนี้ยังมีละครโทรทัศน์หลายเรื่องที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายออนไลน์จีนและได้รับกระแสตอบรับที่ดีในต่างประเทศ เช่น ซีรีส์ยอดฮิตเรื่อง “Flower Thousand Bone” (ตำนานรักเหนือภพ หรือ ฮวาเชียนกู่), “Nirvana in Fire” (มหาบุรุษพลิกแผ่นดิน หรือ หลางหยาป่าง) และ “Empresses in the Palace (เจินหวน จอมนางคู่แผ่นดิน)
จย่งจย่งโหย่วเยากล่าวว่า “ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเหล่านักเขียน ที่ผู้อ่านในต่างประเทศสามารถเสพนวนิยายออนไลน์จีนได้ หรือกระทั่งการนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์” “เราควรพัฒนางานเขียนของตัวเอง เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ของจีนและช่วยให้ผู้คนรู้จักวัฒนธรรมจีนมากขึ้น” เธอทิ้งท้าย..
เครดิตภาพ : ซินหัว
การเขียนยังสะท้อนถึงสังคม สังคมนั้นได้ด้วย
การที่มีหนังสือหลากหลาย และการอ่านแพร่หลาย
จะทำให้คนในชาติมีการพัฒนา
ซึ่งเมื่อสามารถแพร่หลายไปยังที่ต่างๆ รวมถึงในต่างประเทศ
ก็จะเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรม ประเทศ และภาษา ไปยังคนช่าติอื่นๆ อีกด้วย