ครั้งแรกของโลก! ไทยเตรียมแปลพระไตรปิฏกฉบับบาลีเป็นภาษาอังกฤษครบ 45 เล่ม
การจัดทำพระไตรปิฏกภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษครั้งนี้ ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกของโลกที่แปลพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษครบทั้ง 45 เล่ม นอกจากนี้การแปลครั้งนี้ได้รับการอุปถัมภ์โดยรัฐบาลไทย http://winne.ws/n27669
วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2564 พระพรหมบัณฑิต (ป.ธ.9, ศ.,ดร.,ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, อัคคหาบัณฑิต) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ไทย ประธานศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก อุปนายกสภามหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) ครั้งที่ 1/2564 ที่หอประชุมอาคารสิริภักดีธรรม ชั้น 3 วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการอุปถัมภ์ฯดำเนินการแต่งตั้ง
การจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) วัตถุประสงค์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย และทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภก ที่ดำเนินโครงการโดยรัฐบาล ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม มหาเถรสมาคม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
สำหรับสาระสำคัญของการประชุมครั้งแรกได้มีบทสรุปร่วมกันว่า จะใช้พระไตรปิฏกภาษาบาลีฉบับสยามรัฐ เป็นกรอบในการแปลไปเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้แต่งตั้งอนุกรรมการสรรหาผู้แปลทั้งไทยและต่างประเทศ และอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์และมาตรฐานในการแปลพระไตรปิฏกภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษ
พระพรหมบัณฑิตกล่าวว่า การจัดทำพระไตรปิฏกภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษครั้งนี้ ถ้าสำเร็จตามแผนที่วางไว้ ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกของโลกที่แปลพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษครบทั้ง 45 เล่ม นอกจากนี้การแปลครั้งนี้ได้รับการอุปถัมภ์โดยรัฐบาลไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระกียรติเนื่องในโอกาสพระมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการชุดนี้ มีนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศไทยและต่างประเทศที่มีชื่อเสียง และมีประสบการณ์ในการทำงานพัฒนางานด้านพระพุทธศาสนาจำนวนมาก โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ก่อนที่จะเสนอให้รัฐบาลไทยลงนามแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563