สสส.ชวนทำบุญวันมาฆบูชาแบบ “รักษ์สุขภาพ รักษ์โลก ลดโรค”
วันมาฆบูชาของทุกๆปี พุทธศาสนิกชนนิยมมาทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม และเวียนเทียนที่วัดใกล้บ้าน กรมอนามัยจึงรณรงค์ชวนคนไทยเลือกของที่มีประโยชน์ มีคุณภาพ ถ้าเป็นอาหารสด ควรเลือกเมนูชูสุขภาพ http://winne.ws/n27654
ที่วัดพุทธปัญญา จังหวัดนนทบุรี นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในงานกิจกรรม “มาฆบูชา วิถีพุทธ ชุมชนเป็นสุข พระสงฆ์สุขภาพดี” ร่วมกับ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ อธิบดีกรมการศาสนา
นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ โดยดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้หลัก 5 ร. คือ ร่มรื่น ร่มเย็น ร่วมสร้าง ร่วมจิตวิญญาณ และร่วมพัฒนา ซึ่งขณะนี้มีวัดส่งเสริมสุขภาพกว่า 11,314 วัดทั่วประเทศ ขับเคลื่อนองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพสู่วัดรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate Temple) โดยเริ่มตั้งแต่ 1) การจัดทำแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560 2) ขับเคลื่อนการดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพสู่วัดรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate Temple) 3) จัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด-อสว.) หลักสูตร 70 ชั่วโมงและหลักสูตร 35 ชั่วโมง ขณะนี้มีพระสงฆ์ที่ผ่านการอบรม จำนวน 8,260 รูป และ 4) การดูแลตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ตามโครงการ 1 วัด 1 โรงพยาบาล/รพ.สต.
“ทั้งนี้ เพื่อให้พระสงฆ์ดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย พระสงฆ์ที่ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มเสี่ยงได้รับความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ดูแลด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปาก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ร่วมกับการดูแลอนามัยช่องปากอย่างเหมาะสม พร้อมให้ความรู้ประชาชนเรื่องการถวายอาหารพระสงฆ์ ลดหวาน มัน เค็ม ซึ่งในปี 2564 ได้ตั้งเป้าหมายให้มีพระคิลานุปัฏฐาก 1 รูป ต่อ 1 ตำบล และขยายผลให้มีพระคิลานุปัฏฐากครอบคลุมทุกวัดทั่วประเทศ โดยจัดให้มีการอบรมในพื้นที่ และอบรมผ่านระบบออนไลน์ (E-Learning) เพื่อพร้อมทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญาและทางสังคม ตลอดจนการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ เชื่อมโยงระหว่างวัดและชุมชน มุ่งให้เกิด “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” ต่อไป” ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
ด้าน นายแพทย์สุวรรณชัยวัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันมาฆบูชาของทุกๆปี พุทธศาสนิกชนนิยมมาทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม และเวียนเทียนที่วัดใกล้บ้าน กรมอนามัยจึงรณรงค์ชวนคนไทยเลือกของที่มีประโยชน์ มีคุณภาพ ถ้าเป็นอาหารสด ควรเลือกเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม แต่ถ้าเป็นอาหารแห้ง ให้ดูบรรจุภัณฑ์ที่สมบูรณ์ ไม่บุบ ไม่เป็นสนิม มีเครื่องหมายอย.กำกับ และตักบาตรในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป
โดยเน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาชนสามารถเลือกใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าไปจ่ายตลาดในการเลือกซื้อวัตถุดิบทำอาหารหรืออาหารสำเร็จรูปทำบุญ เพื่อตักบาตรแทนถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง สำหรับบางวัดที่จัดให้มีโรงทานสำหรับปรุงอาหารให้แก่ผู้ที่มาทำบุญ จึงควรใช้วัสดุธรรมชาติบรรจุอาหารเช่นกัน เพื่อเป็นการลดการใช้พลาสติกหรือโฟม นอกจากนี้ ประชาชนที่มาทำบุญที่วัดขอให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยต้องสวมหน้ากากทุกครั้งก่อนเข้าวัด หรือบริเวณโรงทาน ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังกินอาหาร ผู้ปรุงอาหารต้องปรุงอาหารให้สุก สะอาด ไม่สัมผัสอาหารโดยตรง มีการจัดอาหารแบบแยกชุด รวมถึงการดูแลความสะอาดของสถานที่และให้เปิดโล่งเพื่อการระบายอากาศที่ดี รวมทั้งจัดให้มีจุดคัดกรองผู้เข้ามาใช้บริการ กำหนดระยะห่างระหว่างบุคคล และสิ่งสำคัญคือผู้ที่จะเดินทางไปทำบุญที่วัดควรประเมินตนเองในเบื้องต้น หากมีไข้ ไอ หรือมาจากพื้นที่เสี่ยง ควรงดออกจากบ้าน เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนสังคม ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ สร้างความรู้ สร้างเครือข่าย และขับเคลื่อนนโยบายเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางสุขภาวะ ช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่ สสส. ร่วมมือกับภาคีพระสงฆ์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาพระนิสิตจิตอาสาจัดทำสื่อสร้างเสริมฟื้นฟูสุขภาวะแรงงานต่างชาติ สนับสนุนให้พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำสังคมด้านสุขภาวะ เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือนโยบายภาครัฐในการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ลดการตีตรา ไม่เลือกปฏิบัติต่อแรงงานชาวเมียนมาในไทย ขณะนี้มีพระนิสิตจิตอาสาที่ผ่านการอบรมกว่า ๕๐ รูป เกิดสื่อวิดีโอภาษาเมียนมาเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อโทรทัศน์สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
“ในการจัดอาหารให้เหมาะสมตามหลักโภชนาการอาหารถวายพระสงฆ์ สสส. โดยโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค ได้จัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ คลิปวิดีโอสำหรับพระสงฆ์ ฆราวาส และสำหรับผู้ค้าและผู้ปรุงอาหารถวายพระสงฆ์ ภายใต้แนวคิด “ครัวสงฆ์มั่นใจ ต้านภัยโควิด” 14 ชิ้น อาทิ 10 ประการ การดูแลสุขอนามัยของผู้จัดเตรียมอาหาร, 10 ประการที่ควรปฏิบัติเมื่อถวายอาหารพระสงฆ์ให้ปลอดภัยจากโควิด-19, 12 ข้อควรปฏิบัติขณะพระสงฆ์ฉันอาหารเพื่อป้องกันโควิด-19 พร้อมตัวอย่างอาหารใส่บาตรแนะนำที่ดีต่อสุขภาพ เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.sonkthaiglairok.com ที่ผ่านมา สสส. มุ่งดำเนินการยกระดับพระสงฆ์สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมด้วยบทบาทงานสาธารณสงเคราะห์อย่างต่อเนื่อง สนับสนุนโครงการพระสงฆ์นักพัฒนาการสาธารณะสงเคราะห์กับพื้นที่ต้นแบบการสร้างสังคมสุขภาวะ รวมถึงการขับเคลื่อนโยบายธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติการสื่อสารสุขภาวะ” ดร.สุปรีดากล่าว