วันมาฆบูชา คืออะไร

เนื่องในวันมาฆบูชานี้ เหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ควรจะให้ความสำคัญในการเจริญพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ ด้วยการมาพร้อมใจกันประพฤติปฏิบัติธรรม ทั้งทำทาน รักษาศีล และภาวนา http://winne.ws/n27647

1.3 พัน ผู้เข้าชม
วันมาฆบูชา คืออะไร

        วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาด้วยเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปี

        วันมาฆบูชาจึงเป็นวันที่สำคัญมากวันหนึ่งของพระพุทธศาสนา

 

ความเป็นมาของวันมาฆบูชา

    เหตุที่พุทธศาสนิกชนถือว่า "วันมาฆบูชา"เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เพราะมีเหตุการณ์พิเศษที่มาบรรจบกัน 4ประการ หรือที่เรารู้จักกันดีว่า "จาตุรงคสันนิบาต"อันเป็นประดุจการปฐมนิเทศในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการนั่นเองซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่โลกต้องจารึกเพราะเป็นการประชุมของผู้บริสุทธิ์ล้วนๆและเป็นครั้งแรกที่มีการประขุมเพื่อรับฟังทิศทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 เหตุอัศจรรย์ในวันมาฆบูชา 4ประการ

1. เป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ 

2. พระภิกษุ 1,250 รูป มาประชุมโดยมิได้นัดหมาย

3. ภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 ทั้งหมด ไม่มีภิกษุผู้เป็นปุถุชนหรือพระโสดาบัน พระสกทาคามีพระอนาคามีแม้สักรูปเดียวมาประชุมในครั้งนี้

4. พระภิกษุทั้งหมดเป็นผู้ที่ได้รับการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาซึ่งพระบรมศาสดาทรงประทานการบวชให้

 มีใครบ้างมาเข้าร่วมประชุม

           พระอรหันต์จำนวน 1,250 รูป ที่เข้าร่วมสันนิบาตในครั้งนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ

    กลุ่มที่ 1 คณะพระภิกษุอดีตชฏิล 3 พี่น้อง มีท่านอุรุเวลกัสสปะเป็นหัวหน้า และบริวารทั้งหมด 1,000 รูป

    กลุ่มที่ 2 คณะที่เป็นบริวารของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ มีจำนวน 250 รูป

        การที่มีพระภิกษุจำนวนถึง 1,250 รูป มาเป็นองค์ประชุมสันนิบาตในครั้งนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการปักหลักพระพุทธศาสนา โดยเริ่มจากแคว้นมคธซึ่งเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ เพราะเป็นแคว้นใหญ่ที่สุดในอินเดียสมัยก่อนเป็นแหล่งรวมความเจริญในทุกด้าน และมีเจ้าลัทธิต่าง ๆ แข่งขันกันเรียกความศรัทธาความเชื่อ จากประชาชนอยู่มากมายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงต้องทำอย่างเต็มที่โดยอาศัยกำลังจากภิกษุผู้เป็นคนท้องถิ่นของแคว้นนี้เป็นหลักก่อนซึ่งภิกษุทั้ง 2 คณะนี้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมคือแรกเริ่มเดิมทีก็เคยเป็นนักบวชอาศัยในเมืองนี้อยู่แล้วการแนะนำสั่งสอนพระสัทธรรมอันบริสุทธิ์แก่ชาวชมพูทวีปจึงเป็นไปได้ง่ายการมาชุมนุมกันของพระอรหันตสาวกในครั้งนี้นั้นถือว่าเป็นมหาสาวกสันนิบาตที่ต้องเร่งทำให้เร็วที่สุดคล้าย  ๆ จะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในพระทัยของพระพุทธองค์มาตั้งแต่ครั้งยังทรงเริ่มประกาศปฐมเทศนาเพียงแต่กำลังทรงรอคอยบุคคลผู้หนึ่งผู้ที่จะมาเติมเต็มความสมบูรณ์ของกองทัพธรรมอยู่ 

       นั่นก็คือ พระสารีบุตรซึ่งเมื่อท่านได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ถือได้ว่าพระธรรมเสนาบดีได้บังเกิดขึ้นดุจขุนพลแก้วบังเกิดแล้วแก่พระเจ้าจักรพรรดิโดยท่านจะมาเป็นหัวเรือใหญ่รับสนองนโยบายภารกิจนี้โดยตรงเมื่อการรอคอยของพุทธองค์บรรลุผลจึงทรงทำการประชุมสาวกสันนิบาตทันทีในวันเดียวกันนั้นเองโดยไม่มีการนัดหมายล่วงหน้า เพราะทรงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่กองทัพธรรมจะต้องเร่งรุดขยายให้ได้กว้างไกลที่สุดฉะนั้นจำต้องมียุทธศาสตร์ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน จึงได้ทรงประทาน"โอวาทปาฏิโมกข์" เพื่อไว้ใช้เป็นแม่บทในการประกาศพระศาสนา

         การประชุมมหาสาวกสันนิบาตนั้นในยุคของพระพุทธเจ้าบางพระองค์ มีการประชุมมากกว่า 1ครั้ง ดังเช่น ในสมัยของพระปทุมุตตรพุทธเจ้าได้ทรงประชุมสาวกสันนิบาตถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 มีพระอรหันตสาวก 100,000 โกฏิ ครั้งที่ 2 มีจำนวน 90,000 โกฏิ ครั้งที่ 3 มีจำนวน 80,000 โกฏิ แต่ละครั้งก็จะทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ซึ่งมีเนื้อหาสาระเหมือนที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงประทานเอาไว้ทุกอย่าง

วันมาฆบูชา คืออะไร

 สาระสำคัญของโอวาทปาฏิโมกข์    

     โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานในวันมาฆบูชา ประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6

 หลักการ คือ หลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องมี 3 ประการ ได้แก่

หลักการ 3 ได้แก่

       1. การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้นการลดละเลิก ได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ทางแห่งความชั่วมี 10ประการ อันความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ

      2. การทำกุศลให้ถึงพร้อมได้แก่ การทำความดีทุกอย่างซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ 10 เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี 10 ประกาศอันเป็นความดีทางกายทางวาจาและทางใจ

      3. การทำจิตให้ผ่องใสได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใสปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบมี 5 ประการ ได้แก่

      1. กามฉันทะคือความพอใจในกาม

      2. พยาบาทคือความอาฆาตพยาบาท

      3. ถีนะมิทธะคือความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจ

      4. อุทธัจจะกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ

      5. วิจิกิจฉาคือความสงสัย   

  

สิ่งที่สามารถควบคุมนิวรณ์ได้คือ ศีล 5 ได้แก่

        กามฉันทะ ให้ควบคุมคุมด้วย ศีลข้อ 3 คือการไม่ประพฤติผิดในกาม

        ความพยาบาทให้ควบคุมด้วย ศีลข้อ 1 คือการไม่ฆ่าสัตว์

        ถีนมิทธะ ให้ควบคุมด้วย ศีลข้อ 5 การไม่เสพสิ่งเสพติดอันเป็นเหตุให้ประมาท

        อุทธัจจะกุกกุจจะ ให้ควบคุมด้วย ศีลข้อ 2 การไม่ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้

        วิจิกิจฉา ให้ควบคุมด้วย ศีลข้อ 4 การไม่พูดเท็จ

 

อุดมการณ์ คือ เป้าหมายสูงสุดในการดำเนินชีวิตมี 4 ประการ ได้แก่

อุดมการณ์ 4 ได้แก่

         1. ความอดทนได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

         2. ความไม่เบียดเบียนได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้ายรบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น

         3. ความสงบได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

         4. นิพพานได้แก่ การดับทุกข์ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8

 

      

วันมาฆบูชา คืออะไร

     วิธีการ คือ แนวทางปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาตนและการเผยแผ่พระพุทธศาสนามี 6 ประการ คือ

      1. อนูปวาโทไม่ไปว่าร้ายกัน ผู้เผยแผ่คำสอนจะต้องไม่โจมตี ไม่นินทาใคร

      2. อนูปฆาโตไม่ไปล้างผลาญกัน ไม่เผยแผ่ศาสนาด้วยการฆ่า และต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

      3. ปาฏิโมกฺเขจ สํวโร สำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นข้อที่ได้ตรัสห้ามไว้ และทำตามข้อที่ทรงอนุญาต

      4. มตฺตญฺญุตาจ ภตฺตสฺมึ ต้องรู้จักประมาณในการกิน การใช้เครื่องอุปโภคบริโภคทุกอย่าง

      5. ปนฺตญฺจสยนาสนํ เลือกที่นั่งที่นอนในที่สงบ เพื่อให้ตนเองมีโอกาสในการบำเพ็ญเพียรเต็มที่

      6. อธิจิตฺเตจ อาโยโค ประกอบความเพียรในการทำใจหยุดนิ่งอยู่เสมอ มุ่งทำตนให้หลุดพ้นจากกิเลส

        โอวาทปาฏิโมกข์ทั้ง 3ส่วนนี้เป็นหลักปฏิบัติและนโยบายในการเผยแผ่ของพระพุทธศาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานให้แก่พระอรหันต์ชุดแรกที่ได้ออกไปประกาศพระศาสนาในโอกาสที่ได้มาประชุมพร้อมเพรียงกันเพื่อให้ถือเป็นนโยบายและหลักปฏิบัติในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นแนวทางเดียวกัน การประชุมพระอรหันตสาวกเช่นนี้ เพื่อประทานนโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไม่ได้มีแต่ในยุคของพระสมณโคดมพุทธเจ้า 

        ซึ่งอยู่ในกัปนี้เท่านั้นแต่ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ในอดีตก็ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์  แต่จำนวนครั้งในการประชุมภิกษุสาวกและจำนวนพระอรหันตสาวกที่เข้าร่วมประชุมต่างกันจะเห็นได้ว่า วิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ทรงปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน คือ เมื่อทรงฝึกพระอรหันต์ชุดแรกสำหรับเป็นครูและเป็นต้นแบบให้กับชาวโลกได้จำนวนมากพอสมควรแล้ว ก็ส่งออกไปประกาศพระพุทธศาสนาและเมื่อคราวที่พระอรหันตสาวกเหล่านั้น มาประชุมโดยพร้อมเพรียงกันพระพุทธองค์ก็ทรงประทานนโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อจะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทะเลแห่งทุกข์ ไปสู่ฝั่งแห่งพระนิพพาน

         ท่านผู้มีบุญทั้งหลาย ลองนึกดูเถิดว่าเพราะการรวมตัวกันของเหล่าพุทธบุตรในวันมาฆบูชาครั้งนั้นทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีการสืบทอดคำสอนมายาวนานถึง 2,500 กว่าปี หากในยุคปัจจุบันนี้พุทธบุตรทุกนิกายทั่วทุกมุมโลกมารวมชุมนุมสันนิบาตเป็นมหาสมาคมใหญ่อีกครั้งโดยยึดหลักการสมานฉันท์ว่า "พุทธบุตรต้องเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว"มาปรึกษาหารือกันเพื่อศึกษาคำสอนดั้งเดิม เพื่อให้การเผยแผ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันรังสีธรรมอันบริสุทธิ์จะเจิดจ้าเพียงใดภารกิจบุญนี้ถือเป็นกรณียกิจที่เหล่านักสร้างบารมีจะต้องรีบทำให้เกิดขึ้นจริงๆในเร็ววัน สันติภาพจะได้แผ่ขยายไปทั่วทุกมุมโลกโดยเราจะได้พร้อมใจกันกราบนิมนต์พุทธบุตรทุกนิกายจากทั่วโลกเรือนล้านให้ได้มาประชุมรวมกันณ มหารัตนวิหารคด ในวันมาฆบูชานี้

         วันมาฆบูชา เป็นวันแห่งความรักของชาวพุทธเพราะเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงออกซึ่งความรักต่อมวลมนุษชาติอย่างแท้จริงความรักของพระองค์เป็นความเมตตา ความปรารถนาดีต่อทุกสรรพชีวิตด้วยความจริงใจทรงลำบากพระวรกายเผยแผ่พระศาสนาจนตลอดพระชนม์ชีพ ยาวนานถึง 45 ปีเพราะอยากจะให้มวลมนุษยชาติได้เข้าถึงหนทางแห่งความสุขภายในอันประเสริฐคือหนทางสายกลางภายในดวงใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย

          ดังนั้น หัวใจแห่งพระพุทธศาสนา หรือ"โอวาทปาฏิโมกข์" ที่พระพุทธองค์ทรงประทานไว้ในวันมาฆบูชาเป็นแม่บทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นเมื่อใครได้นำหลักการเหล่านี้ไปปฏิบัติอย่างถูกต้องย่อมสามารถสัมผัสได้ถึงความเมตตา อันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านทางพระธรรมคำสอนของพระองค์ที่ไม่เคยเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา

         ปัจจุบันวันมาฆบูชาเป็นวันหยุดราชการในประเทศไทยโดยในวันนี้จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนาการเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวที่ถือได้ว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวงการบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล

        อีกทั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันมาฆบูชา เป็น "วันกตัญญูแห่งชาติ"เนื่องจากปัจจุบันสังคมไทยวัยรุ่นทั้งหญิงและชายมักจะเสียตัวในวันวาเลนไทน์หลายหน่วยงานจึงรณรงค์ให้วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรัก(อันบริสุทธิ์)แทน

         เนื่องในวันมาฆบูชานี้ เหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วโลกควรจะให้ความสำคัญในการเจริญพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติด้วยการมาพร้อมใจกันประพฤติปฏิบัติธรรม ทั้งทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนาที่วัดข้างบ้าน      ย้อนรำลึกถึงเมื่อคราวที่พระบรมศาสดาผู้มีเหล่าอรหันตสาวก 1,250 องค์นั่งแวดล้อมอยู่เพื่อรับฟังโอวาทปาฏิโมกข์ในวันมาฆบูชาเมื่อ 2,500 กว่าปีการสั่งสมบุญในวันนี้ นอกจากได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริงผู้เป็นต้นบุญต้นแบบของชาวโลกแล้วมหากุศลอันไม่มีประมาณจะส่งผลดลบันดาลให้เราเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไป และเป็นเหตุให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในได้โดยง่าย

ที่มา https://www.kalyanamitra.org

แชร์