องค์การเภสัช จ่อทดสอบวัคซีนโควิดในมนุษย์ 8 มี.ค.64
การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดเชื้อตายที่ฟักในไข่ไก่ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้มานาน พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม ในมนุษย์ระยะแรกในประเทศไทย http://winne.ws/n27633
วันนี้ 10 ก.พ. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม (อภ.) คณะเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบัน PATH ร่วมกันแถลงข่าวการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดเชื้อตายที่ฟักในไข่ไก่ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้มานาน พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม ในมนุษย์ระยะแรกในประเทศไทย
นายอนุทิน เผยว่าผลการศึกษาวิจัยทางคลินิควัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ อภ. คืบหน้าถึงขั้นตอนเตรียมทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 จำนวน 210 คน ในเดือน มี.ค.64 ซึ่งหากผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้ ในเร็วๆ นี้จะมีโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขององค์การเภสัช ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพิ่มอีกแห่ง โดยมีกำลังการผลิต 25-30 ล้านโดสต่อปี ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงต่อระบบสาธารณสุข และพร้อมเป็นฐานการผลิตวัคซีนให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
"ความก้าวหน้าในเรื่องวัคซีน จะลบข้อครหาว่ารัฐบาลแทงม้าตัวเดียว แต่เราพัฒนาจนกลายเป็นเจ้าของคอกม้าแล้ว เพื่อทำให้ประเทศไทยปลอดภัย หวังว่าประชาชนคงจะได้รับข้อมูลเรื่องวัคซีนที่เป็นประโยชน์ เราทำงานเป็นทีม ทุกลมหายใจเข้าออกมุ่งที่จะทำให้ภารกิจบรรลุเป้าหมาย ไม่เสียใจ ไม่ย่อท้อ ขอกำลังใจจากทุกคนให้บุคลากรสาธารณสุขด้วย และวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้คนไทยไม่มีอิทธิพลทางการเมือง ไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองใดๆ ขอให้ประชาชนมั่นใจและอย่าได้ฟังหรือเชื่อคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ จากบุคคลที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในการจัดหา จัดซื้อ พัฒนาและให้บริการวัคซีนกับประชาชนคนไทย และย้ำว่าแม้มีวัคซีนใช้แล้ว การสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างยังเป็นมาตรการที่จำเป็น" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทิน ยืนยันด้วยว่าการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาลเป็นไปตามแผน ไม่ได้ล่าช้าตามที่มีการกล่าวหา โดยขณะนี้ได้มีการสั่งซื้อแล้วรวม 63 ล้านโดส โดยจะได้รับมอบวัคซีนจากบริษัท ซิโนแวค จากประเทศจีน ล็อตแรก 2 แสนโดสช่วงปลายเดือน ก.พ.64 หลังจากนั้นเดือน มี.ค.64 จะได้รับมอบอีก 8 แสนโดส และอีก 1 ล้านโดสในเดือน เม.ย.64 ซึ่งในกระบวนการจัดหานั้นมีการติดต่อเจรจากับผู้ผลิตหลายราย ส่วนวัคซีนของบริษัท แอสต้าเซเนกา ที่ผลิตในประเทศไทยโดยบริษัทสยามไบโอไซแอนซ์ จะได้รับมอบในเดือน พ.ค.64 ซึ่งได้รับรายงานว่าวัคซีนที่ผลิตได้เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัท แอสต้าเซเนกา
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า กระบวนการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ อภ. ใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเชื้อในไข่ไก่ฟักที่มีต้นทุนไม่สูง และเรามีประสบการณ์ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว ซึ่งผลศึกษาผ่านเฟส 1-2 แล้ว เตรียมทดลองในคนจะใช้เวลาอีก 8 เดือน คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ในช่วงต้นปี 65
ที่มา https://news.ch7.com