กรมการแพทย์ชี้โรคกระดูกหักจากกระดูกพรุนเกิดได้ทุกวัย
กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลเลิดสิน ชี้โรคกระดูกหักจากกระดูกพรุนเกิดได้ทุกช่วงทุกวัย โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ http://winne.ws/n27497
กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลเลิดสิน ชี้โรคกระดูกหักจากกระดูกพรุนเกิดได้ทุกช่วงทุกวัย โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสะโพกหักในผู้อายุ ซึ่งคุณภาพกระดูกในผู้สูงอายุมักลดน้อยลงตามอายุที่มากขึ้นและหากเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลทำให้เกิดกระดูกหักไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย ควรตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกทุกปี ทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคกระดูกหักจากกระดูกพรุนเกิดได้ทุกช่วงวัย เด็กมักกระดูกหักจากเล่นซน ผู้ใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุ ผู้สูงวัยมักเกิดกระดูกหักจากกระดูกพรุน มวลกระดูกที่เปราะบางแม้เพียงลื่นหกล้มก็หักได้ง่าย อาการกระดูกหักมักเห็นชัดเจนจะบวมปวด ไม่สามารถลงน้ำหนักหรือเคลื่่อนไหวบริเวณที่หัก
โดยเฉพาะกระดูกสะโพกหักได้ในผู้สูงอายุ สาเหตุหลักของกระดูกหัก นอกจากอุบัติเหตุจากการจราจรแล้ว ยังมีอุบัติเหตุจากการทำงาน การเล่นกีฬา อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งพบมากขึ้นเรื่อยๆ คือ กระดูกหักในผู้สูงอายุซึ่งคุณภาพของกระดูกลดน้อยลงหากมีอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยส่งผลให้เกิดกระดูกหักไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น กระดูกสะโพก กระดูกสันหลังอาการกระดูกหักมักเห็นชัดเจนจะบวมปวด ไม่สามารถลงน้ำหนักหรือเคลื่อนไหวได้บริเวณที่หัก
ดังนั้น ควรตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกทุกปี เพื่อป้องกันกระดูกทรุดตัว เสริมความแข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีส่วนประกอบของแคลเซียม ได้แก่ นม ถั่ว ปลาหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น
นายแพทย์ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยและตำแหน่งการหักของกระดูกสะโพก โดยจะมี 2 วิธีคือ วิธีแรกการผ่าตัดใส่ข้อสะโพกข้อเทียม วิธีที่สองการผ่าตัดเพื่อยึดตรึงกระดูกไว้ภายใน โดยการผ่าตัดใส่โลหะพิเศษยึดกระดูกไว้ให้เข้าที่และเกิดการติดของกระดูกตามธรรมชาติ
สำหรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยสูงอายุกระดูกสะโพกหักไม่ได้จบแค่การผ่าตัด ยังต้องมีการประเมินและรักษาภาวะกระดูกพรุนอย่างต่อเนื่อง เป็นหัวใจสำคัญอีกส่วนหนึ่ง หรือเป็นการป้องกันภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน และยังรวมถึงการดูแลภาวะการมองเห็น ประสาทตา และการดูแลหลังการผ่าตัดด้วยการกายภาพบำบัดเฉพาะสำหรับผู้สูงวัยด้วย แนวทางการป้องกัน ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน