กรมควบคุมโรค แนะปราบยุงลายใช้ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา แนะปราบยุงลายใช้ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ http://winne.ws/n27370

991 ผู้เข้าชม
กรมควบคุมโรค แนะปราบยุงลายใช้ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”

       กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา แนะปราบยุงลายใช้ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ


       นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย

       เตือนประชาชนให้ช่วยกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ และระมัดระวังป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด


สถิติโรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 24 ส.ค.63

- ผู้ป่วยไข้เลือดออก 47,738 ราย

- เสียชีวิต 32 ราย

-กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี (ร้อยละ 26.22)


       จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรมากที่สุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ระยอง ชัยภูมิ นครราชสีมา และขอนแก่น

       อาการของโรค เป็นไข้สูงฉับพลัน 38-41 องศา และสูงลอยเกิน 2 วัน ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน อาจมีผื่น หน้าแดง ปวดท้อง หรือท้องเสีย มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด แต่มักจะไม่มีน้ำมูกและไม่ไอ ใช้เวลา 2-7 วัน

       หากมีภาวะช็อกจะมือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วกระสับกระส่าย ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะออกน้อย ถ้าเป็นเด็กเล็กจะสังเกตได้จากเด็กอาจซึมลง ทานอาหารได้น้อย ส่วนใหญ่เกิดอาการในช่วงที่หมอให้กลับมารักษาตัวที่บ้าน หากกลับไปหาหมอช้าก็อาจจะอันตรายมากถึงกับเสียชีวิตได้


หลักปราบยุงลายใช้ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”


       1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง

       2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

       3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่


       ไม่ควรไปหาซื้อยากินเองเมื่อมีอาการไข้หรือสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422



ขอบคุณข้อมูลข่าว/ภาพ  :  เพจ สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

แชร์