ประวัติและความเป็นมาของวันเข้าพรรษา

"เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า "ปุริมพรรษา" http://winne.ws/n27237

3.6 พัน ผู้เข้าชม
ประวัติและความเป็นมาของวันเข้าพรรษา

    "เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า "ปุริมพรรษา" 

      ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "ปัจฉิมพรรษา" เว้นแต่มีกิจธุระคือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด

ประวัติและความเป็นมาของวันเข้าพรรษา

ประวัติวันเข้าพรรษา และความเป็นมาของวันเข้าพรรษา

       เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ณ วัด เวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นคือ พวกชาวบ้าน กลุ่มหนึ่งพากันกล่าวตำหนิพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาว่า ช่างไม่รู้จักกาลเวลาเสียเลยพากันจาริกไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้งแม้ในระหว่างฤดูฝนบางครั้งก็ไปเหยียบข้าวกล้าของชาวนาเสียหาย ขณะที่พวกนิครนถ์ นักบวชในศาสนาอื่นและฝูงนกยังหยุดพักผ่อนไม่ท่องเที่ยงไปในฤดูฝนเช่นนี้ เรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้าในกาลต่อมา พระองค์จึงทรงรับสั่งให้พระสงฆ์ประชุมพร้อมกันตรัสถามจนได้ความเป็นจริงแล้วจึงทรงบัญญัติเรื่องการเข้าพรรษาไว้ว่า

           อนุชานามิ ภิกขะเว อุปะคันตุง    แปลว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พวกเธออยู่จำพรรษา"

       พระสงฆ์ที่เข้าจำนำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ แต่หากมีกรณีจำเป็น 4 ประการต่อไปนี้ ภิกษุผู้อยู่พรรษาสามารถไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่ต้องกลับมาภายในระยะเวลา 7 วัน คือ

1. ไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
2. ไประงับไม่ให้ภิกษุสึก
3. ไปเพื่อธุระของสงฆ์
4. ทายกนิมนต์ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขา

     วันเข้าพรรษานี้โดยทั่วไปกำหนดในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เรียกว่า วันเข้าพรรษา (ปุริมพรรษา) ถ้าปีใดเป็นปีอธิกมาส มีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเข้าพรรษา ในวันแรม๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถเข้าพรรษาได้ก็เลื่อนเข้าพรรษา ในแรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ก็ได้ ไปสิ้นสุดเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน๑๒ เรียกว่า วันเข้าพรรษาหลัง (ปัจฉิมพรรษา) 

ประวัติและความเป็นมาของวันเข้าพรรษา

ความสำคัญและประโยชน์ของการเข้าพรรษา

      1. ช่วงเข้าพรรษานั้นเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา ดังนั้นการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ก็จะช่วยให้พันธุ์พืชของต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อย ไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์

     2. หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 - 9 เดือน ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน

      3. เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอนให้กับประชาชนเมื่อถึง วันออกพรรษา

    4. เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

     5. เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา

ประวัติและความเป็นมาของวันเข้าพรรษา

มูลเหตุที่พระพุทธเจ้าอนุญาตการจำพรรษาแก่พระสงฆ์

       ในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงวางระเบียบเรื่องการเข้าพรรษาไว้ แต่การเข้าพรรษานั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์และพระสงฆ์สาวกปฏิบัติกันมาโดยปกติเนื่องด้วยพุทธจริยาวัตรในอันที่จะไม่ออกไปจาริกตามสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงฤดูฝนอยู่แล้ว เพราะการคมนาคมมีความลำบาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์ในช่วงต้นพุทธกาลมีจำนวนน้อยและส่วนใหญ่เป็นพระอริยะบุคคล จึงทราบดีว่าสิ่งใดที่พระสงฆ์ควรหรือไม่ควรกระทำ

      ต่อมาเมื่อมีพระสงฆ์มากขึ้น และด้วยพระพุทธจริยาที่พระพุทธเจ้าจะไม่ทรงบัญญัติพระวินัยล่วงหน้า ทำให้พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้ทรงบัญญัติเรื่องให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษาไว้ด้วย จึงเกิดเหตุการณ์กลุ่มพระสงฆ์ฉัพพัคคีย์พากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ทำให้ชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน ในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่น พากันหยุดเดินทางในช่วงฤดูฝน การที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน อาจเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง เป็นเวลา 3 เดือนดังกล่าว

การเข้าพรรษาของพระสงฆ์ตามพระวินัยปิฎก

    ตามพระวินัย พระสงฆ์รูปใดไม่เข้าจำพรรษาอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงปรับอาบัติแก่พระสงฆ์รูปนั้นด้วยอาบัติทุกกฎ

     และพระสงฆ์ที่อธิษฐานรับคำเข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ แต่ถ้าหากเดินทางออกไปแล้วและไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือ ก่อนรุ่งสว่าง ก็จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้น"ขาดพรรษา" และต้องอาบัติทุกกฎเพราะรับคำนั้น รวมทั้งพระสงฆ์รูปนั้นจะไม่ได้รับอานิสงส์พรรษา ไม่ได้อานิสงส์กฐินตามพระวินัย และทั้งยังห้ามไม่ให้นับพรรษาที่ขาดนั้นอีกด้วย


ประเภทของการเข้าพรรษาของพระสงฆ์
       การเข้าพรรษาตามพระวินัยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท  คือ

    1. ปุริมพรรษา (เขียนอีกอย่างว่า บุริมพรรษา) คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

     2. ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน


ข้อยกเว้นการจำพรรษาของพระสงฆ์

       แม้การเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุโดยตรง ที่จะละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม แต่ว่าในการจำพรรษาของพระสงฆ์ในระหว่างพรรษานั้น อาจมีกรณีจำเป็นบางอย่าง ทำให้พระภิกษุผู้จำพรรษาต้องออกจากสถานที่จำพรรษาเพื่อไปค้างที่อื่น พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษาโดยมีเหตุจำเป็นเฉพาะกรณี ๆ ไป ตามที่ทรงระบุไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการพระศาสนาหรือการอุปัฏฐานบิดามารดา แต่ทั้งนี้ก็จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน การออกนอกที่จำพรรษาล่วงวันเช่นนี้เรียกว่า "สัตตาหกรณียะ" ซึ่งเหตุที่ทรงระบุว่าจะออกจากที่จำพรรษาไปได้ชั่วคราวนั้นเช่น

       1. การไปรักษาพยาบาล หาอาหารให้ภิกษุหรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย เป็นต้น กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5 และมารดาบิดา

        2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้ กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5

        3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด หรือ การไปทำสังฆกรรม เช่น สวดญัตติจตุตถกรรมวาจาให้พระผู้ต้องการอยู่ปริวาส เป็นต้น

       4. หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปให้ทายกได้ให้ทาน รับศีล ฟังเทสนาธรรมได้ กรณีนี้หากโยมไม่มานิมนต์ ก็จะไปค้างไม่ได้

      ซึ่งหากพระสงฆ์ออกจากอาวาสแม้โดยสัตตาหกรณียะล่วงกำหนด 7 วันตามพระวินัย ก็ถือว่า ขาดพรรษา และเป็นอาบัติทุกกฎเพราะรับคำ (รับคำอธิษฐานเข้าพรรษาแต่ทำไม่ได้)

       ในกรณีที่พระสงฆ์สัตตาหกรณียะและกลับมาตามกำหนดแล้ว ไม่ถือว่าเป็นอาบัติ และสามารถกลับมาจำพรรษาต่อเนื่องไปได้ และหากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องออกจากที่จำพรรษาไปได้ตามวินัยอีก ก็สามารถทำได้โดยสัตตาหกรณียะ แต่ต้องกลับมาภายในเจ็ดวัน เพื่อไม่ให้พรรษาขาดและไม่เป็นอาบัติทุกกฎดังกล่าวแล้ว

ที่มา https://kalyanamitra.org/

แชร์