เทคโนโลยีใหม่ช่วยตรวจหามะเร็งตับอ่อน

การตรวจเลือดเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการค้นหามะเร็งตับอ่อนในระยะเริ่มต้น ซึ่งนักวิจัยกำลังพยายามคิดค้นพัฒนาวิธีการทดสอบด้วยการตรวจเลือดกันอยู่ http://winne.ws/n26808

1.6 พัน ผู้เข้าชม
เทคโนโลยีใหม่ช่วยตรวจหามะเร็งตับอ่อน

          มะเร็งตับอ่อนเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่เป็นอันตรายมากที่สุด แต่เป็นโรคที่ตรวจพบได้ยากและมักจะตรวจพบเมื่ออยู่ในระยะลุกลามจนเกินกว่าที่จะรักษาให้หายขาดได้ แต่บรรดานักวิจัยกำลังทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ที่อาจช่วยป้องกันการพัฒนาโรคมะเร็งตับอ่อนนี้ได้

        ตับอ่อนเป็นอวัยวะสำคัญที่ผลิตสารอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดของร่างกาย ตับอ่อนนั้นมองเห็นได้ยาก เพราะเป็นอวัยวะที่อยู่ทางด้านหลังของช่องท้องและถูกบดบังด้วยช่องท้องและตับ ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่แพทย์ตรวจหาก้อนเนื้อได้ยากในระหว่างที่ตรวจร่างกายตามปกติ

       นายแพทย์ Somashekar Krishna ผู้เชี่ยวชาญเรื่องต่อมไร้ท่อ กล่าวคือเป็นผู้ที่ศึกษาในเรื่องของฮอร์โมน และอวัยวะต่าง ๆ ที่ผลิตฮอร์โมนกล่าวว่าเรื่องดังกล่าวคือเหตุผลที่บ่งชี้ว่าเหตุใดจึงมีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนเพียง 9% เท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกห้าปีหลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ และว่าโรคมะเร็งชนิดนี้จะไม่แสดงอาการใด ๆ เลยในระยะเริ่มต้น

        Patricia Beatty ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพราะคิดว่าตนติดเชื้อไวรัสในกระเพาะอาหาร แต่ในระหว่างที่สแกนกระเพาะอาหารของเธอ แพทย์กลับพบว่ามีถุงน้ำหรือ Cyst อยู่ ซึ่งแพทย์แจ้งกับเธอว่าถุงน้ำนั้นคือ ภาวะก่อนการเป็นมะเร็ง

      ทั้งนี้ มะเร็งตับอ่อนสามารถพัฒนาได้สองวิธี คือ การที่เริ่มจากการเป็นเนื้องอก หรือ Tumor ที่มีเชื้อมะเร็ง หรือเริ่มเมื่อถุงน้ำหรือ Cyst กลายเป็นมะเร็ง ความแตกต่างระหว่างเนื้องอกและถุงน้ำคือ เนื้องอกจะเป็นก้อนแข็ง ในขณะที่ถุงน้ำจะเต็มไปด้วยของเหลว ซีสต์ในตับอ่อนนั้นเป็นเรื่องที่พบเห็นทั่วไป และส่วนใหญ่จะไม่เป็นมะเร็ง แพทย์สามารถตรวจสอบของเหลวจากภายในถุงน้ำเหล่านั้นได้ แต่ก็ยากที่จะบอกได้ว่าซีสต์ก้อนไหนที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็ง

      เนื้องอกหรือซีสต์ที่เป็นมะเร็งนั้นสามารถชี้ชัดได้ด้วยการใช้เครื่องมือถ่ายภาพชนิดพิเศษ แต่การถ่ายภาพแบบนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงจนไม่สามารถใช้เป็นอุปกรณ์ทดสอบแบบปกติได้

      นายแพทย์ Krishna เป็นหัวหน้าการในการศึกษาวิจัยอุปกรณ์ชนิดใหม่ที่ให้แพทย์สามารถดูก้อนซีสต์ได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ ที่ศูนย์การแพทย์ Wexner แห่งมหาวิทยาลัยโอไฮโอ เขากล่าวว่าการศึกษาของเขาแสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์ใหม่นี้มีความแม่นยำในการวินิจฉัยก้อนซีสต์สูงถึง 96% ถึง 97%

       วิธีดังกล่าวใช้กล้องจุลทรรศน์ขนาดเล็กที่มีแสงเลเซอร์ในการผลิตภาพด้านในของถุงน้ำ

       ซึ่งนายแพทย์ Krishna และนักวิจัยท่านอื่นๆ กำลังให้การฝึกอบรมแพทย์ทั่วสหรัฐฯ ในการใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ เพื่อที่จะสามารถชี้ระบุก้อนซีสต์ที่เป็นมะเร็งได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

        อย่างไรก็ตามแพทย์จะใช้วิธีการใหม่นี้ หลังจากผู้ป่วยได้รับใบสั่งจากแพทย์ให้เข้ารับการตรวจสอบด้วยการถ่ายภาพแบบอื่น ๆ เท่านั้น ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเชื้อมะเร็งจะยังคงเติบโตอยู่ภายในร่างกายของผู้ป่วยอย่างเงียบๆ จนสายเกินกว่าที่จะช่วยคนเหล่านั้นได้

        นายแพทย์ Somashekar Krishna กล่าวกับผู้สื่อข่าว VOA ว่าการตรวจเลือดเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการค้นหามะเร็งตับอ่อนในระยะเริ่มต้น ซึ่งนักวิจัยกำลังพยายามคิดค้นพัฒนาวิธีการทดสอบด้วยการตรวจเลือดกันอยู่

อ่านต่อที่ https://www.voathai.com

แชร์