อาการและสาเหตุ "โรครองช้ำ"
โรครองช้ำหรือโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยจะมีอาการปวดส้นเท้าที่บางคนหรือหลาย ๆ คนอาจคิดว่าเป็นการปวดเมื่อยธรรมดา ทั้งที่จริงอาจเป็นสัญญาณของโรครองช้ำที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว http://winne.ws/n26708
โรครองช้ำหรือโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยจะมีอาการปวดส้นเท้าที่บางคนหรือหลาย ๆ คนอาจคิดว่าเป็นการปวดเมื่อยธรรมดา หรือเป็นอาการบาดเจ็บชั่วคราวของกล้ามเนื้อ ทั้งที่จริงอาจเป็นสัญญาณของโรครองช้ำที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว
อาการของโรครองช้ำ
โรครองช้ำจะมีอาการปวดและกดเจ็บบริเวณส้นเท้า ระยะแรกอาจเกิดหลังการออกกำลังกาย เดิน หรือยืนนาน ๆ แต่เมื่ออาการมากขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดส้นเท้าอยู่ตลอดเวลา อาการจะชัดเจนเมื่อลุกขึ้นเดิน 2-3 ก้าวแรกหลังจากตื่นนอนในตอนเช้า หรือหลังจากนั่งพักขาเป็นเวลานาน โดยจะรู้สึกเจ็บบริเวณส้นเท้า เนื่องจากเกิดการกระชากของเอ็นฝ่าเท้าที่อักเสบอย่างทันทีทันใด แต่เมื่อเดินไประยะหนึ่งเอ็นฝ่าเท้าจะค่อย ๆ ยืดหยุ่นขึ้น อาการเจ็บส้นเท้าจึงค่อย ๆ ทุเลาลง
ผู้ที่เสี่ยงโรครองช้ำ
- ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากไขมันส้นเท้าจะบางกว่า เอ็นและกล้ามเนื้อของน่องและฝ่าเท้าไม่แข็งแรงเท่า
- นักวิ่ง เนื่องจากเป็นกีฬาที่ใช้เท้าและส้นเท้าเป็นเวลานาน
- คนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ยืนนาน หรือ เดินนาน เป็นต้น
การรักษาโรครองช้ำ
รักษาโรครองช้ำสามารถเริ่มดูแลจากตนเองและควรพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาถ้ามีอาการรุนแรง
1. รักษาด้วยตัวเอง
- เลือกรองเท้าที่เหมาะสม มีเจลรับแรงกระแทกบริเวณส้นเท้าเป็นพิเศษ หรือเจาะรูที่พื้นรองเท้าให้เป็นวงกลม เพื่อไม่ให้เกิดแรงกดทับบริเวณที่อักเสบ
- บริหารโดยยึดพังผืดฝ่าเท้าสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น ช่วยลดแรงกระชากบริเวณจุดเกาะที่กระดูกส้นเท้า ส่วนในรายที่พังผืดตึงมาก ๆ ให้ แช่เท้าในน้ำอุ่นก่อนทำการยึดประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้พังผืดอ่อนตัว และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ช่วยลดอาการเจ็บขณะบริหาร
- ลดน้ำหนัก หากน้ำหนักตัวยังคงมากอยู่ควรเปลี่ยนไปออกกำลังชนิดอื่น ที่ไม่มีการกระแทกบริเวณส้นเท้าก่อน เช่น การว่ายน้ำ หรือ ปั่นจักรยาน
- การทำกายภาพบำบัด ได้แก่ การฝึกยึดเอ็นร้อยหวาย ซึ่งมีการศึกษาพบว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ
2. การรักษาโดยแพทย์
ปัจจุบันสามารถรักษาโดยทำการฉีดสเตียรอยด์ เฉพาะที่เพื่อลดอาการอักเสบ การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Therapy) บริเวณที่เจ็บปวดโดยตรงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการรักษา ส่วนมากใช้ในกรณีที่มีอาการเจ็บปวดเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาชนิดอื่น และสุดท้ายคือ การผ่าตัด ซึ่งพบได้น้อย จะใช้วิธีนี้ต่อเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้ว แต่ยังไม่หาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและการวินิจฉัยของแพทย์
ปัจจัยเสี่ยงโรครองช้ำ
1. การรับน้ำหนักเป็นเวลานาน: การใช้งานที่มากเกินไปจนร่างกายทนไม่ไหว เช่น การฝึกวิ่งที่หักโหม จนเกินไป หรือการวิ่งในระยะทางที่ไกลเกินไป
2. ทำกิจกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม: การวิ่งบนพื้นแข็ง หรือการเพิ่มระยะทางการเดิน วิ่งมากขึ้นจากเดิม
3. สวมใส่รองเท้าไม่เหมาะสม: เช่น รองเท้าที่ไม่มีพื้นบุรองส้นเท้าหรือ บางเกินไป
4. น้ำหนักตัวมากเกินไป: ในคนอ้วนมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากกว่า เนื่องจากแรงกระแทกจะมีการแปรผันตามน้ำหนักตัวที่ลงไปบนส้นเท้า
5. ปัจจัยทางโครงสร้างร่างกาย: เช่น อุ้งเท้าโก่งมากเกินไป เท้าแบนเกินไป หรือเส้นเอ็นยึดบริเวณน่อง ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อเท้าได้ตามปกติ
6. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือข้อสันหลังอักเสบ: อาจทำให้มีโอกาสเกิดการอักเสบที่เส้นเอ็นในจุดใดจุดหนึ่งที่เชื่อมต่อกับกระดูก ทำให้มีโอกาสเกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
7. เอ็นร้อยหวายยึด: ทำให้ส้นเท้าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
อุปกรณ์ช่วยรักษาโรครองช้ำ
- Night Splints เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้เท้าของผู้ป่วยอยู่ในตำแหน่งปกติในเวลานอน ช่วยรักษาเส้นเอ็นให้หายเร็วขึ้น เมื่อผู้ป่วยตื่นขึ้นในตอนเช้าจะช่วยลดความเจ็บปวดของส้นเท้าลง
- Shoe Inserts การใช้แผ่นรองเท้าที่ดีนั้นจะช่วยลดแรงกระแทกที่ฝ่าเท้ากระทำกับพื้นรองเท้า
ขอขอบคุณ ภาพ/ข้อมูล : thaihealth