แพทย์เตือน อันตราย "ยาเออร์กอต" ที่ใช้รักษาไมเกรน
แพทย์เตือน อันตรายจากการใช้ยาแก้ปวด "เออร์กอต" ที่ใช้สำหรับรักษาโรคไมเกรน ซึ่งสามารถส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง จนอาจถูกตัดทิ้งได้ http://winne.ws/n26482
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thiravat Hemachudha
เตือนภัยให้ประชาชนระมัดระวังการใช้ยาแก้ปวด เออร์กอต สำหรับรักษาโรคไมเกรน เนื่องจากมีฤทธิ์สุดอันตราย ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อ และอาจถูกตัดทิ้งได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียเกิดขึ้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนนำมารับประทานทุกครั้ง
โดยผู้โพสต์ได้มีข้อความระบุว่า “อันตรายจากการกินยา “เออร์กอต” ชื่อการค้ามีหลายชื่อ ที่ใช้ในการแก้ปวดหรือบรรเทาปวดหัวไมเกรน
เป็นยาที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังสูงสุด เพราะถ้ามีโรคประจำตัวหัวใจ เส้นเลือดตีบหรือใช้ยาตัวอื่นๆ อยู่ รวมทั้ง ยาฆ่าเชื้อรา ยารักษาโรคเอดส์ จะทำให้ยาแก้ปวดตัวนี้ออกฤทธิ์มากขึ้น
และทำให้เส้นเลือดหัวใจ สมอง ที่ปลายมือ ปลายเท้า แขนขา หดตัวอย่างรุนแรง ขาดเลือด ห้วใจวาย อัมพฤกษ์ จนกระทั่ง ถึงกับต้องถูกตัดแขนขาไป
ทั้งนี้เมื่อเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปก็ทำให้มีคนส่งต่อเป็นจำนวนมาก เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีพฤติกรรมบริโภคยาชนิดดังกล่าวอยู่ระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
ขณะเดียวกันได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบร้านขายยา และสั่งระงับห้ามนำยาเข้ามาจำหน่ายเพราะส่งผลอันตรายเสี่ยงต่อชีวิตได้
สำหรับการดูแลรักษาตัวเองหากเกิดอาการไมเกรนนั้น ทางเว็บไซต์ bumrungrad.com ได้เปิดเผยว่า แม้ว่าอาการปวดศีรษะแบบไมเกรนจะรักษาไม่หาย แต่ผู้ป่วยก็สามารถดูแลตัวเองเพื่อบรรเทา และลดความถี่ในการถูกกระตุ้นจนเกิดอาการปวดได้ โดยปฏิบัติดังนี้
1. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นไมเกรน
เช่น ชีส ไวน์แดง ช็อคโกแล็ต น้ำตาลเทียม ผงชูรส ชา และกาแฟ
การกระตุ้นทางประสาทสัมผัส อาทิ แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นฉุน กลิ่นบุหรี่
รูปแบบการนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนดึก นอนไม่พอ หรือนอนมากเกินไป
สิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อน ฝุ่นควัน
ยาบางชนิด
2. นอนหลับให้เพียงพอ แต่อย่าให้มากเกินไป
ผู้ใหญ่โดยทั่วไปควรนอนให้ได้ประมาณ 6 ถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน พยายามเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน
3. หยุดพักเมื่อมีอาการ
ถ้าเป็นไปได้ควรพยายามพักผ่อนในห้องเงียบ ๆ มืด ๆ ร่วมกับการประคบเย็นบริเวณต้นคอ พร้อมกับนวดบริเวณที่ปวดก็จะช่วยบรรเทาอาการได้
4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายโดยรวมแข็งแรง และลดความเครียดซึ่งอาจจะช่วยลดความถี่ของการปวดได้
5. จดบันทึกอาการของคุณ บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับความปวด อาทิ วัน เวลา ระยะเวลา ลักษณะอาการปวด อาหารที่รับประทาน รวมถึงความผิดปกติต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับอาการของคุณเลย
ขอขอบคุณข้อมูล : mthai , เฟซบุ๊ค ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา