"ไข้หวัดใหญ่-ไข้หวัดธรรมดา-ไข้เลือดออก" แตกต่างกันอย่างไร ?
สังเกตความแตกต่างระหว่างอาการของ " ไข้หวัดใหญ่-ไข้หวัดธรรมดา-ไข้เลือดออก " ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งรักษาให้หายได้เร็ว http://winne.ws/n26189
รู้หรือไม่...อาการป่วยคล้ายๆ กัน อาจมีสาเหตุมาจากโรคที่แตกต่างกัน ซึ่งหากเราสามารถแยกโรคเบื้องต้นได้ ย่อมรักษาได้เร็วกว่าและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ดีกว่า อย่างนั้นมาดูกันว่า 3 โรคฮิตที่คนส่วนใหญ่มักแยกอาการไม่ค่อยออกอย่าง ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ และ ไข้เลือดออก นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร หากป่วยขึ้นมาจะแยกโรคเหล่านี้ได้
โรคไข้หวัดธรรมดา (Common cold)
สาเหตุของโรคเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด เช่น Rhinovirus (ประมาณ 50%) Coronavirus (10-15%) และไวรัสอื่นๆ โดยทั่วไปโรคไข้หวัดธรรมดาจะก่อให้เกิดอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก มีน้ำมูกไหล จาม อาจมีไข้ต่ำๆ บางรายอาจมีอาการเจ็บคอและไอร่วมด้วยแต่ไม่รุนแรงนัก อาการเหล่านี้จะรบกวนชีวิตประจำวันเป็นระยะ และค่อยๆ หายไปเอง การรักษาทำได้โดยการดื่มน้ำมากๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้อาจรับประทานยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ เพื่อบรรเทาอาการได้ด้วย
โรคไข้หวัดใหญ่ (Flu)
โรคไข้หวัดใหญ่นั้นเกิดจากเชื้อ Influenza virus โดยอาการที่รุนแรงมักเกิดจากสายพันธุ์ Influenza A และ B เป็นหลัก อาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะเกิดขึ้นรวดเร็ว ฉับพลัน และค่อนข้างรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา โดยลักษณะเด่นคือ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง (บางรายอาจจะไม่มีไข้ก็ได้) อ่อนเพลียมาก ปวดเมื่อยตามร่างกาย เจ็บคอ คออักเสบ ไอ จาม อาจคัดจมูกและมีน้ำมูกได้บ้าง บางรายอาจคลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วงร่วมด้วย
การรักษาจำเป็นต้องรับประทานยาต้านไวรัส ร่วมกับยาที่ใช้รักษาตามอาการที่มี เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล รวมถึงเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อาจอ่อนเพลียและหมดแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ จึงจำเป็นต้องดูแลตัวเองโดยการนอนพักผ่อนและดื่มน้ำสะอาดมากๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น หรือ สามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้
โรคไข้เลือดออก (Dengue fever)
สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัส Dengue ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อ อาการของไข้เลือดออกในระยะแรกจะคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง ตัวร้อน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และอ่อนเพลีย บางรายอาจคลื่นไส้อาเจียนด้วย แต่ไข้เลือดออกจะมีลักษณะที่โดดเด่น คือมีจุดเลือดหรือจ้ำเลือดขึ้นตามผิวหนัง ซึ่งเกิดจากการมีเกล็ดเลือดต่ำ และอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การมีเลือดออกตามเยื่อบุอวัยวะ ทำให้ความดันโลหิตต่ำและช็อกได้
หลายคนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกในระยะแรก อาจสับสนว่าเป็นอาการของไข้หวัดใหญ่ จึงเลือกรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่ม NSAIDs เพื่อลดไข้ และลดอาการอักเสบ ซึ่งเป็นทางเลือกที่อันตรายมาก เพราะยาดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดอาการเลือดออกรุนแรงขึ้น การรักษาไข้เลือดออกในขั้นแรกคือการให้ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol หรือ Acetaminophen) เพื่อระงับอาการ รวมถึงอาจต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเพื่อชดเชยน้ำที่เสียไปด้วย
ความแตกต่างของ ไข้หวัดธรรมดา vs ไข้หวัดใหญ่ vs ไข้เลือดออก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : honestdocs