1 เม.ย.นี้ เริ่มแล้วเกณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่
วันที่ 1 เมษายนนี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว สำหรับหลักเกณฑ์ปรับปรุงการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สิ่งสำคัญคือการกำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำหรืออัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน http://winne.ws/n25854
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกํากับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการเปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย มีผู้ให้ความเห็นจํานวนมากในหลากหลายมิติ ซึ่ง ธปท. ขอขอบคุณทุกความคิดเห็น โดยคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้นำความเห็นที่ได้รับมาประกอบการพิจารณา ก่อนสรุปหลักเกณฑ์การกํากับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สาระสําคัญดังนี้
ในการกําหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำหรืออัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ให้สะท้อนความเสี่ยงได้ดีขึ้น สำหรับผู้ที่จะซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ในราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทและได้ผ่อนชำระหลังแรกผ่านมาตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปแล้ว จะต้องวางเงินดาวน์ 10% ในการซื้อหลังที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ส่วนกรณีผู้ที่จะซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 แต่ผ่อนหลังแรกไม่ถึง 3 ปี รวมทั้งกรณีที่ซื้อที่อยู่อาศัยราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องวางเงินดาวน์ 20 % ส่วนผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 3 ขึ้นไปจะต้องวางเงินดาวน์ในทุกระดับราคา
“เกณฑ์ดังกล่าวจะไม่กระทบประชาชนที่กู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท และจะไม่บังคับใช้กับการกู้เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเอง รวมทั้งจะไม่กระทบการรีไฟแนนซ์สําหรับผู้กู้ที่มีภาระผ่อนเพียงหนึ่งหลัง ทั้งนี้การรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยในทุกกรณีให้ใช้ราคาประเมินใหม่เพื่อสะท้อน มูลค่าปัจจุบัน”
นายจาตุรงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนการนับวงเงินสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในหลักประกันเดียวกัน (สินเชื่อ Top-up) จะยกเว้นสินเชื่อที่ใช้ชําระเบี้ยประกันชีวิตผู้กู้และประกันวินาศภัย ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงของทั้งผู้กู้และสถาบันการเงิน และยกเว้นสินเชื่อที่ให้กับธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย
ทั้งนี้การกำหนดวันบังคับใช้ จะเริ่มบังคับใช้กับสัญญากู้ซื้อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป แต่ยกเว้นกรณีที่ผู้ซื้อมีสัญญาจะซื้อจะขายก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2561 เพื่อลดผลกระทบต่อ ผู้ที่วางแผนซื้อที่อยู่อาศัยหรือผ่อนดาวน์อยู่ก่อนแล้ว
ขอบคุณและิ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://www.moneyandbanking.co.th