ออกกำลังกายเบา ๆ ช่วยทุเลาความรุนเเรงของ 'อาการเส้นเลือดเลี้ยงสมองตีบ'
มากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ป่วยออกกำลังกายเบาๆ ก่อนล้มป่วย เเละเมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มที่อยู่เฉยๆ พบว่า คนที่ออกกำลังกายเบาๆ ก่อนล้มป่วยมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรง http://winne.ws/n25160
ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวผู้ป่วย925 คนที่เข้ารับการรักษาหลังจากล้มป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบตันหรือแตกที่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก สวีเดน ระหว่างปี ค.ศ. 2014 – 2016 และพบว่า ผู้ป่วย 4 ใน 5 คนล้มป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบตันหรือแตกที่ไม่รุนแรง
ทีมนักวิจัยตีพิมพ์ผลการศึกษานี้ในวารสาร Neurology เมื่อเร็วๆนี้
มาลิน ไรน์โฮล์ดสัน (Malin Reinholdsson) นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก(University of Gothenburg) กล่าวว่า จากการศึกษาก่อนหน้านี้ทีมนักวิจัยรู้ว่าการออกกำลังกายช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเส้นเลือดในสมองตีบตันหรือแตกแต่ไม่รู้แน่ชัดว่าการออกกำลังกายมีส่วนช่วยลดระดับความรุนแรงของอาการป่วยมากน้อยแค่ไหน
ผู้ป่วยในการวิจัยอายุโดยเฉลี่ย73 ปีเเละส่วนมากมีภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดอุดตันซึ่งพบได้ทั่วไปเกิดขึ้นเมื่อมีก้อนอุดตันเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง และราวร้อยละ 6 ของผู้ป่วยเกิดอาการเส้นเลือดในสมองเเตกซึ่งพบไม่บ่อยนัก
เพื่อประเมินระดับของการออกกำลังกายก่อนล้มป่วยทีมนักวิจัยได้สอบถามผู้ป่วยในการวิจัยถึงระยะเวลาเเละความหนักหน่วงของการออกกำลังกายก่อนหน้าที่ต้องเข้าโรงพยาบาล
ทีมนักวิจัยกล่าวว่าการออกกำลังกายเบาๆ ได้เเก่การเดินเล่นสบายๆ นาน 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และการออกกำลังกายระดับปานกลาง ได้แก่การว่ายน้ำ การวิ่ง เเละการเดินเร็วอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ในบรรดาผู้ป่วย 481 คนที่ไม่ออกกำลังกายเลย มี 354หรือร้อยละ 74 เกิดอาการเส้นเลือดสมองอุดตันหรือแตกชนิดไม่รุนแรง
และสำหรับคนที่ออกกำลังกายเบาๆ330 คน หรือร้อยละ 86 เกิดอาการเส้นเลือดสมองอุดตันหรือเเตกที่ไม่รุนแร งเเละในกลุ่มผู้ป่วย 59คนที่ออกกำลังกายในระดับปานกลาง พบว่า 53 คนหรือร้อยละ 90 ล้มป่วยเเบบไม่รุนแรง
ทีมนักวิจัยชี้ว่าอายุยังเป็นปัจจัยที่สำคัญด้วย โดยคนที่อายุสูงกว่าจะล้มป่วยด้วยอาการที่รุนแรงกว่าผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า
อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ไม่ได้มุ่งพิสูจน์ว่าระยะเวลาเเละความหนักหน่วงของการออกกำลังกายมีผลต่อความรุนแรงของอาการเส้นเลือดในสมองอุดตันหรือเเตกหรือไม่ และอย่างไร
ข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งของการวิจัยนี้คือทีมนักวิจัยต้องพึ่งผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากอาการเส้นเลือดในสมองอุดตันหรือเเตกในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับนิสัยการออกกำลังกายก่อนล้มป่วยเเละความทรงจำของผู้ป่วยมีความแม่นยำลดลงหลังล้มป่วย
นิโคล สปาร์ตาโน่ (Nicole Spartano) นักวิจัยที่ภาควิชาการแพทย์มหาวิทยาลัยบอสตัน ซึ่งร่วมเขียนบทบรรณาธิการที่ตีพิมพ์พร้อมกับรายงานผลการศึกษานี้กล่าวว่า แม้กระนั้นก็ตาม ผลการวิจัยนี้ได้เพิ่มข้อมูลที่มีหลักฐานยืนยันว่าการออกกำลังกายช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเส้นเลือดในสมองอุดตันหรือเเตกลงได้ตลอดจนช่วยลดความรุนแรงของอาการป่วยลง
สปาร์ตาโน่กล่าวว่าการออกกำลังกายเป็นประจำช่วยให้สมองรักษาความเเข็งเเรงของเส้นเลือดซึ่งมีเครือข่ายที่ซับซ้อนดังนั้นหากเกิดอาการอุดตันในเส้นเลือดจุดใดจุดหนึ่งอาจจะมีเส้นทางอื่นที่สามารถนำออกซิเจนไปยังจุดที่มีปัญหาได้
สปาร์ตาโน่ย้ำว่าการออกกำลังกายสามารถช่วยป้องกันปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการเส้นเลือดอุดตันหรือแตกอาทิ ความอ้วน เบาหวานเเละความดันโลหิตสูง และย้ำว่าการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าคนเราอาจไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงเพื่อให้ห่างไกลจากโรคร้าย
ขอบคุณบทความจาก VOA