คนเช่นอสูรกับคนเช่นเทวดาเป็นเช่นไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ชัดเจน
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลในโลก มี 4 จำพวก คือ บุคคลเช่นกับอสูรมีคนเช่นกับอสูรเป็นบริวาร บุคคลเช่นกับอสูรมีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวาร บุคคลเช่นกับเทวดามีคนเช่นอสูรเป็นบริวาร และบุคคลเช่นกับเทวดามีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวาร ” http://winne.ws/n24568
คนเช่นอสูร คนเช่นเทวดา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อสุรสูตร จตุกกนิบาต ว่า
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลในโลก มี 4 จำพวก คือ บุคคลเช่นกับอสูรมีคนเช่นกับอสูรเป็นบริวาร บุคคลเช่นกับอสูรมีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวาร บุคคลเช่นกับเทวดามีคนเช่นอสูรเป็นบริวาร และบุคคลเช่นกับเทวดามีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวาร ”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรมครูของพวกเรา ทรงสั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้รู้จักจำแนกแยกแยะถึงพฤติกรรมของมนุษย์ ที่เข้ามามีส่วนในชีวิตของเรา เพราะหากผู้นำหรือผู้เป็นหัวหน้าเป็นคนดีจริง มีศีลธรรม ไว้วางใจได้ แต่บริวารรอบข้างกลับไม่เหมือนหัวหน้า เป็นคนทุศีล มีแต่จะนำความเดือดร้อนมาให้ ซึ่งการดูคนให้ออกนั้นไม่ใช่เรื่องจะทำได้ง่าย เพราะจิตของมนุษย์ยากแท้หยั่งถึง ต้องอาศัยประสบการณ์ และปัญญาบริสุทธิ์ที่สั่งสมอบรมมาดีแล้ว พิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วน จึงจะตัดสินเรื่องบุคคลได้อย่างถูกต้อง ถ้าเราฉลาดในเรื่องบุคคล การอยู่ร่วมกันกับหมู่คณะก็จะอยู่กันอย่างผาสุก
ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า " บุคคลเป็นเช่นอสูร และมีคนเช่นอสูรเป็นบริวาร "
ในความหมายนี้ หมายถึงตัวเราไม่ค่อยจะดี และมีพวกพ้องบริวารที่ไม่มีคุณธรรม เป็นคนทุศีล ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ใช้ชีวิตสะเปะสะปะเหมือนสวะลอยน้ำ มีความรู้สึกนึกคิดเพียงแค่ดำรงชีวิตอยู่ไปวันๆ ไม่ได้ทำความดีใดๆ ไม่รู้ว่าชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร ชีวิตเช่นนี้ เป็นชีวิตเช่นเดียวกับอสูร คือ มีความสะดุ้ง หวาดกลัวอยู่เป็นนิตย์ เพราะไม่ได้ทำความดีใดๆ ประกอบมิจฉาชีพ ลักเล็กขโมยน้อย มีบริวารลูกน้องเป็นขโมยด้วย
กลุ่มคนประเภทนี้ อยู่ที่ไหนย่อมทำความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นที่นั่น ถ้าเป็นผู้บริหารบ้านเมืองก็เป็นพวกคอรัปชั่นกันเป็นทีม ใช้อำนาจในทางที่ผิด เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก ไม่ได้สนใจที่จะบริหารบ้านเมืองอย่างดี ดังนั้น เราต้องรู้จักเลือกคนดี สนับสนุนคนดี เพื่อเป็นศรีแก่ประเทศชาติ บ้านเมืองของเราจะได้เจริญรุ่งเรือง
อีกประเภทหนึ่งคือ " บุคคลเช่นกับอสูร แต่มีคนเช่นเทวดาเป็นบริวารพวกพ้อง "
นั่นหมายถึงว่า โดยส่วนตัวเป็นผู้มีพฤติกรรมไม่ดี จึงไม่องอาจกล้าหาญ มีความระแวงอยู่เป็นนิตย์ ขาดความไว้ใจคนรอบข้าง ไม่เห็นคุณค่าของศีลธรรม แต่ในทางตรงกันข้าม พวกพ้องบริวารกลับมองเห็นคุณค่าของการทำความดี เป็นผู้ประพฤติธรรม มีจิตใจที่ผ่องใส สามารถแยกแยะออกว่า สิ่งใดเป็นกุศลควรทำ สิ่งใดเป็นอกุศลธรรมก็เลิกละไป มีเทวธรรม คือ ธรรมะประจำใจของเทวดา ได้แก่ มีหิริความละอายต่อบาปอกุศลทุกชนิด แม้ความคิดที่ไม่ดี ก็ไม่กล้าคิด มีปกติรักคุณงามความดียิ่งกว่าชีวิต และมีโอตตัปปะ คือ มีความเกรงกลัวต่อบาป กลัวต่อผลของบาปอกุศล ไม่กล้าที่จะทำบาปอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย คุณธรรม 2 ประการนี้เรียกว่า เทวธรรม
มนุษย์ประเภทนี้พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า บุคคลเช่นกับอสูร แต่มีคนเช่นกับเทวดาเป็นบริวาร ใครที่ได้ผู้นำเช่นนี้ก็ต้องอดทนกันไป เพราะทำความดีแล้ว แต่ผู้ใหญ่ไม่เห็นความดี บางครั้งอาจถูกกลั่นแกล้ง ก็เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ชักชวนหัวหน้าดำรงชีวิตให้ถูกต้อง โดยเริ่มจากตัวเราก่อน ทำตัวของเราให้มีธรรมะเป็นอาภรณ์ เหมือนทะเลเป็นที่รวมของแม่น้ำทุกสาย กัลยาณมิตรต้องเป็นที่รวมของคุณธรรมทั้งหลาย เป็นแบบอย่างที่ดีให้ชาวโลก เมื่อเขาเห็นจะได้เกิดกำลังใจที่จะปฏิบัติตามเรา การทำเช่นนี้นับว่าเป็นคำแนะนำ
ส่วนประเภทที่ 3 คือ " บุคคลเช่นกับเทวดา แต่มีคนเช่นอสูรเป็นบริวาร "
หมายถึง โดยส่วนตัวของผู้นำเป็นคนดี มีศีลธรรมประจำใจ ใครเห็นต่างเกิดความรู้สึกอบอุ่น และปลอดภัย เป็นหลักของสังคมประเทศชาติได้ ทุกที่ล้วนต้องการบุคคลเช่นนี้ แต่เนื่องจากพวกพ้องบริวารเป็นเช่นอสูร ไม่ประพฤติตนเป็นคนดี ไม่มีศีลธรรม สามารถทำความชั่วได้ทุกๆ อย่าง ใครที่ได้พวกพ้องบริวารเช่นนี้ แทนที่จะมีความสุข กลับต้องพบกับปัญหาความเดือดเนื้อร้อนใจอยู่เสมอ
หากเราเป็นผู้นำ แล้วต้องพบเจอบริวารแบบนี้ ขอให้ใช้ความดีที่มีอยู่หรืออำนาจของผู้นำให้เกิดประโยชน์ ให้เขาได้สร้างความดี ปลูกฝังศีลธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้ใต้บังคับบัญชา โดยต้องใช้วิธีการที่เหมาะสมนุ่มนวล บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น เพราะจริตของคนมีหลายประเภท จะฝึกคนต้องให้ถูกกับจริตอัธยาศัย จึงจะเกิดผลได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่น ผู้ที่มีโทสจริต เราต้องใช้เมตตาเข้าหา ใช้คำพูดที่ไพเราะนุ่มนวล ไม่ใช้ความรุนแรง แต่เป็นไปอย่างละมุนละม่อม ประกอบด้วยเมตตา ถ้าเป็นพุทธิจริต หมายถึง ผู้ที่ชอบแสวงหาความรู้ ก็ต้องชี้แจงด้วยเหตุผลเพื่อให้เขาเห็นความสำคัญในการทำความดี พร้อมกับตอบข้อซักถาม แก้ข้อสงสัยในใจเขาให้ได้
กลุ่มคนประเภทที่ 4 คือ " บุคคลเช่นกับเทวดา และมีคนเช่นกับเทวดาเป็นพวกพ้องบริวาร "
หมายความว่า ทั้งตนเองและบริวารล้วนมีคุณธรรม บริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ประพฤติธรรมเป็นปกติ เป็นเทวดาเดินดินหรือที่เรียกว่า มนุสสเทโว ถ้าได้คนแบบนี้ โลกจะมีแต่คนดีที่สามารถบันดาลความสุขสงบให้เกิดขึ้นแก่โลกได้อย่างแท้จริง เพราะผู้มีศีลธรรมจะเหยียบย่างไปที่ใด ย่อมนำความเจริญ สิ่งที่ดีงาม และความสุขสงบไปสู่ที่นั้น เหมือนฝนนำความชุ่มชื่นมาสู่ปฐพี เหมือนพระอาทิตย์ที่ส่องแสงสว่างให้แก่โลก
จากรายการ " ธรรมะเพื่อประชาชน "
ขอบคุณข้อมูลจาก lifEandSoul