ถ้อยคำที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
การไม่นับรวมพระภิกษุสามเณรว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนา เกรงเหลือเกินว่าจะเป็นการสั่นคลอนต่อการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาได้และส่งผลกระทบโดยตรงต่อประโยชน์ที่มวลมนุษยชาติพึ่งจะได้รับจากพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะลูกหลานในภายหน้า http://winne.ws/n23910
ศาสนา หมายถึง พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ศาสนาจึงไม่ใช่วัดศาสนาไม่ใช่พระภิกษุสามเณร ศาสนาไม่ใช่โบสถ์วิหาร
คำพูดดังกล่าว ถ้าฟังผ่านอย่างผิวเผินก็ดูเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ “พระพุทธศาสนา”และมองไกลไปสู่อนาคต การนิยาม “ศาสนา”ดังกล่าวดูจะมองสั้นมากเกินไปไหม ?
พระพุทธศาสนา อยู่มาได้ เพราะมีองค์ประกอบของการขับเคลื่อนเพื่อนำ “พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ไปสู่ผู้คน 5 ประการสำคัญ คือ
1. มีพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทุ่มเทสร้างบารมี คือทำความดีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน จนกระทั้งความดีเต็มเปี่ยมและได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งนั้น คือ การพิสูจน์ให้มวลมนุษย์ได้เห็นว่าเหตุผลของความดี มีผลจริง พระพุทธองค์ทรงเป็นต้นแบบ
2. มีพระธรรมคำสั่งสอน คือ การถ่ายทอด ถอดบทเรียนจากการใช้ชีวิต การสร้างชีวิต การพัฒนาชีวิต ให้ประสบความสำเร็จมีชีวิตที่ปลอดภัยในวัฏฏสงสาร จนกระทั้ง หลุดพ้นจากความทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานได้ซึ่ง พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนไว้ ในพระสูตรต่างๆ ในวาระ และกรณีต่างๆทั้งสำหรับฆราวาสผู้ยังครองเรือน และ ผู้ที่ออกบวช ว่ามีหลักการ วิธีการในการปฏิบัติตนอย่างไร เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตนตั้งใจไว้
3. มี พุทธบริษัท 4คือ มี พระภิกษุ คือ ผู้เป็นอายุพระพุทธศาสนาคือ ศึกษาและสืบทอดธรรมะของพระพุทธเจ้า สามเณร คือ ผู้เป็นเหล่าก่อเป็นทายาท ที่จะเจริญรอยเป็นพระภิกษุและรับภาระพระพุทธศาสนาต่อไปโดยไม่ให้ขาดสายธรรม
อุบาสก อุบาสิกา คือ ผู้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง และสนับสนุนภาระกิจเพื่อสร้างสันติสุขให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
4. มี ศาสนสถาน คือ ต้องมีสถานที่รองรับผู้คนที่มาฟังธรรมะมาศึกษาธรรมะ มาปฏิบัติธรรมและใช้ประกอบพิธีกรรม การมีผู้กล่าวว่า ในสมัยพุทธกาลไม่มีสิ่งก่อสร้าง ไม่มีวัดวาอารามอะไรเลย พระภิกษุอาศัยอยู่ตามต้นไม้ เรือนว่าง หรือถ้ำตามป่า นั้นแปลว่าบุคคลที่กล่าวไม่ได้ศึกษา ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎก
ในสมัยพุทธกาลนั้นประชาชนมีความศรัทธามีใจเป็นกุศล ต่างพากันสร้างวัด สร้างโบสถ์ วิหารเพื่อให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์ที่จาริกมาจากทั้ง 4 ทิศและเพื่อเป็นที่แสดงธรรมเผยแผ่ธรรมะ ที่แต่ละครั้งมีผู้มาฟังธรรมเป็นจำนวนเรือนพัน หมื่น และแสน
5. มีศาสนพิธี อันเป็น กิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีในสังคมของชาวพุทธ ซึ่งจะช่วยสร้างศรัทธาให้กับทั้งผู้ที่ศรัทธาอยู่แล้วก็ศรัทธามั่นคงยิ่งขึ้น ผู้ที่ยังไม่ศรัทธาเมื่อได้เห็นความงดงาม เรียบร้อย ที่แสดงออกถึงความเคารพต่อพระรัตนตรัยก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส ซึ่งจะเป็นทางมาแห่งกุศลต่อตัวผู้เกิดศรัทธาและเป็นแสงสว่างให้แก่ผู้อื่นต่อๆ ไป
องค์ประกอบทั้ง 5 ประการนั้น ทำให้ความเป็น “พระพุทธศาสนา” มีความสมบูรณ์ และสามารถขับเคลื่อนภารกิจในการ สืบทอด เผยแผ่ พระธรรมไปสู่ชาวโลกได้ ซึ่งเป็นมาอย่างนี้นับตั้งแต่สมัยพุทธกาลและในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ไม่ใช่พระองค์ใดพระองค์หนึ่งเท่านั้น และจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้( แม้ในศาสนาอื่นๆ ก็ย่อมต้องมีองค์ประกอบสำคัญดังกล่าว )
ฉะนั้น การนิยาม พระพุทธศาสนา โดยไม่นับรวมพระภิกษุสามเณร และโบสถ์วิหาร เกรงเหลือเกินว่าจะเป็นการสั่นคลอนต่อการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาได้และส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ประโยชน์ที่มวลมนุษยชาติพึ่งจะได้รับจากพระพุทธศาสนา
โดยเฉพาะลูกหลานในภายหน้า
เพราะ ถ้าหากมีเพียง “พระธรรม” ที่ถูกเก็บอยู่ในตู้ แล้วใครคือ ผู้ที่จะมาศึกษามาพิสูจน์ และนำพระธรรมนั้น มาอธิบายถ่ายทอดสู่ผู้คน ถามว่าเป็นบุคคลธรรมดาฆราวาสจะสามารถทุ่มชีวิตเพื่อศึกษาเพื่อปฏิบัติธรรมให้เห็นผลเต็มที่ ให้เหมือนพระภิกษุสามเณรนั้นย่อมเป็นไปได้ยาก
และมากไปกว่านั้น อาจจะนำมาซึ่งความผิดเพี้ยนของ“พระธรรม” มากขึ้น เพราะชีวิตของฆราวาสยังข้องเกี่ยวอยู่กับกามคุณรอบด้าน ความบริสุทธิ์ในการทำภารกิจสำคัญของพระพุทธศาสนาให้เที่ยงตรงนั้นยาก
ความละเอียดอ่อนของ “ธรรมะ” นั้นเป็นสิ่งสำคัญและยิ่งใหญ่ ไม่เช่นนั้น เจ้าชายสิทธัตถะ คงจะไม่สละสมบัติจักรพรรดิออกบวช
เหตุร้ายที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อพระพุทธศาสนา ในวันนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ให้แน่ชัด เรื่องที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายหลายบุคคล รูปการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ดูออกจะผิดปกติสำหรับการดำเนินการกับพระภิกษุสงฆ์ระดับบริหารสังฆมณฑลอยู่ไม่น้อย
การนำสถานการณ์คลุมเครือดังกล่าว มาเป็นประเด็นชี้นำว่า ศาสนา หรือ พระพุทธศาสนา ไม่จำเป็นต้องมี พระภิกษุ สามเณร ศาสนสถาน นั้น ออกจะเป็นการตัดแขนขา โดยขาดความรอบคอบอยู่มาก และการกล่าวให้เหตุผลแบบตัดเยื้อใยดังกล่าวนั้น ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ของพระพุทธศาสนาดีขึ้น ไม่ใด้ช่วยนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และยกพระพุทธศาสนาให้พ้นจากสถานการณ์วิกฤตได้เลย
ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายพึ่งพิจารณาด้วยยึดตามธรรมของพระบรมศาสดา ที่ทรงสร้างไว้เป็นบรรทัดฐานแก่ชนรุ่นหลังเถิดให้ละเอียดรอบคอบเถิด
โดย โฆษิกา
บทความที่เกี่ยวข้อง
https://www.thairath.co.th/content/1291201