ตามรอยสักการะ 14 พระธาตุเจดีย์ (พระเจดีย์อันเนื่องกับพระพุทธเจ้า) ในประเทศไทย
พระธาตุในที่นี้ หมายถึง ส่วนสำคัญของพระสถูป หรือพระปรางค์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระธาตุไว้ภายใน ซึ่งเรียกว่า ธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพุทธเจดีย์ทั้งสี่ ซึ่งได้แก่พระธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุ http://winne.ws/n11946
1. พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม
ตามรอยสักการะ 14 พระธาตุเจดีย์ในประเทศไทย
พระธาตุ หมายถึง อัฐิ (กระดูกที่เผาแล้ว) ของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ ถ้าเป็นอัฐิของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระบรมธาตุ ถ้าเป็นอัฐิพระอรหันต์ เรียกว่า พระธาตุ แต่โดยทั่วไปแล้วจะเรียกรวม ๆ ว่า พระธาตุ
สำหรับพระธาตุในที่นี้ หมายถึง ส่วนสำคัญของพระสถูป หรือพระปรางค์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระธาตุไว้ภายใน ซึ่งเรียกว่า ธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพุทธเจดีย์ทั้งสี่ ซึ่งได้แก่พระธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุ อินเดีย เรียกเจดีย์ประเภทนี้ว่า สรีริกสถูป พระธาตุเจดีย์ รวมถึง เจดีย์ที่บรรจุธาตุของพระอรหันต์สาวกด้วย ถ้าเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะก็จะเรียกว่า พระมหาธาตุ พระบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ
ถ้าเรียกพระธาตุส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะก็จะเรียกชื่อตามนั้น เช่น พระทันตธาตุ หรือพระทาฒธาตุ (ฟัน หรือ เขี้ยวของพระพทุธเจ้า) พระเกศธาตุ (เส้นพระเศาของพระพุทธเจ้า) พระอุรังคธาตุ (พระธาตุส่วนที่เป็นกระดูกหน้าอกของพระพุทธเจ้า
บริโภคเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุของใช้ที่เกี่ยวกับเนื่องกับพระพุทธเจ้า ได้แก่ อัฐบริขาร มีบาตรและจีวร เป็นต้น นอกจากนั้นยังรวมไปถึงสถานที่อันเป็นสังเวชนียสถานทั้งสี่ คือ สถานที่ประสูติ (ลุมพินีวัน) ตรัสรู้ (พุทธคยา) แสดงปฐมเทศนา (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน) และปรินิพพาน (เมืองกุสินารา) รวมพระแท่นที่บรรทมตอนปรินิพพาน
อินเดียเรียกเจดีย์ประเภทนี้ว่า ปาริโภคสถูปพระธรรมเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุ หรือ จารึก พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เช่น หอพระไตรปิฎก และส่วนที่เป็นพระไตรปิฎกเอง ไม่ว่าจะจารึกในรูปแบบใด เดิมได้เลือกเอาหัวใจพุทธศาสนา จารึกเป็นตัวอักษร ประดิษฐานไว้สำหรับบูชา มีความว่า "เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต เตสญฺจ โย นีโรโธ จ เอวํ วาที
มหาสมโณอุเทสิกเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่ทำเป็นพุทธบัลลังก์ พระแท่นพระพุทธเจ้า รวมถึงพระพุทธฉายด้วย อินเดียเรียกเจดีย์ ประเภทนี้ว่า อุทเทสิกสถูป สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา รวมความได้ว่า พระเจดีย์ เป็นที่ทำเป็นหรือบรรจุสิ่งที่เนื่องด้วยพระพุทธเจ้า อันเป็นสิ่งที่ควรแก่การสักการบูชา พระธาตุเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ที่รู้จักกันดี และพบกันมากที่สุด
สำหรับพระธาตุเจดีย์ ในประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก มีขนาดและอายุแตกต่างกัน พอประมวลได้ดังนี้
1. พระปฐมเจดีย์
เป็นพระมหาเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย การที่ได้ชื่อว่าพระปฐมเจดีย์นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงสัณนิษฐานว่า น่าจะเป็นพระเจดีย์เก่ากว่าพระเจดีย์อื่น ๆ ในประเทศสยาม สันนิษฐานว่าสร้างสมัยทวาราวดี ตั้งอยู่ที่เมืองนครไชยศรีในสมัยก่อน ปัจจุบันอยู่ในอำเภอเมืองนครปฐม จากเอกสารเก่าที่บันทึกเรื่องนี้ไว้มีประวัติว่า พระปฐมเจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๕๐๐ ก็มี พ.ศ. ๑๐๐๐ ก็มี พ.ศ. ๑๑๘๕ ก็มี พ.ศ. ๑๒๖๔ ก็มี พ.ศ. ๑๖๓๐ ก็มี ความสูง ๔๐ วา ๕ ศอก มีพระแท่นบรรทม ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาบรรทม บรรจุพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้ว องค์หนึ่ง บรรจุพระบรมธาตุ หนึ่งทะนาน มีปรากฎก่อนพบพระพุทธบาท พระพุทธฉาย กว่าพันปี
2. พระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
2. พระบรมธาตุดอยสุเทพ
พระบรมธาตุดอยสุเทพเป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของเมืองเชียงใหม่ ประดิษฐานอยู่บนดอยสุเทพ สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐๐ เมตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมือง ห่างจากตัวเมืองเก่าประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีบันไดนาคเจ็ดเศียรทอดจากทางขึ้นไปถึงซุ้มประตูวัด จำนวน ๓๐๐ ขั้น ครูบาศรีวิชัยได้บอกบุญชักชวนชาวเหนือ ให้ช่วยกันสร้างถนนจากเชิงดอยไปจนถึงยอดดอย ณ ที่ตั้งพระบรมธาตุ
ตามตำนานกล่าวว่า เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้เสด็จมายังดอยอุจฉุปัพพต เพื่อฉันภัตตาหาร พร้อมด้วยพระสาวก ณ ที่นี้มีย่าแสะแม่ลูกได้ตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า พระองค์จึงมอบพระเกศาธาตุให้ประดิษฐานไว้ที่ดอยแห่งนี้
3. พระบรมธาตุดอยตุง จ.เชียงราย
3. พระบรมธาตุดอยตุง
พระบรมธาตุดอยตุง เป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดของเชียงราย ประดิษฐานอยู่บนยอดดอยตุง ในเขตกิ่งอำเภอแม่ฟ้าหลวง มีถนนแยกจากบ้านห้วยไคร้ขึ้นไปจนถึงองค์พระบรมธาตุ องค์พระธาตุบรมธาตุเจดีย์ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ ๒๐๐๐ เมตร
ตามตำนานมีว่า เดิมสถานที่ตั้งพระบรมธาตุดอยตุง มีชื่อว่า ดอยดินแดง อยู่บน เขาสามเส้น ของพวกลาวจก ต่อมาสมัยพระเจ้าอุชุตะราช รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์สิงหนวัต ผู้ครองนครโยนกนาคนคร เมื่อปี พ.ศ. ๑๔๕๒ พระมหากัสสป ได้นำพระบรมสารีริกธาตุในส่วนของพระรากขวัญเบื้องซ้าย (ไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้ามาถวาย ซึ่งตรงตามคำทำนายของพระพุทธองค์ว่า
"ที่ดอยดินแดงแห่งนี้ ต่อไปจะเป็นที่ประดิษฐานพระมหาสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในภายภาคหน้า" พระเจ้าอุชุตะราช มีพระราชศรัทธา ได้เรียกหัวหน้าลาวจกมาเฝ้า พระราชทานทองคำจำนวนแสนกษาปณ์ ให้เป็นค่าที่ดินบริเวณดอยดินแดงแก่พวกลาวจก แล้วทรงสร้างพระสถูปขึ้น โดยนำธงตะขาบยาว ๓,๐๐๐ วา ไปปักไว้บนดอย เมื่อหางธงปลิวไปไกลเพียงใด้ ให้กำหนดเป็นฐานพระสถูปเพียงนั้น ดอยดินแดงจึงได้ชื่อใหม่ว่า ดอยตุง (คำว่า ตุง แปลว่า ธง) เมื่อสร้างพระสถูปเสร็จ ก็ได้นำพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวบรรจุไว้ให้คนสักการะบูชา
4. พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
4. พระธาตุลำปางหลวง
พระธาตุลำปางหลวง ประดิษฐานอยู่ที่วัดลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร องค์พระธาตุเจดีย์สูง ๒๒ วา ๒ ศอก ฐานกว้างด้านละ ๑๒ วา ก่อด้วยอิฐถือปูน ฉาบด้วยแผ่นทองเหลือง ทองแดง ตลอดทั้งองค์
ตามประวัติกล่าวว่า พระมหากัสสปเถระ และพระเมติยะเถระ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาจากประเทศอินเดีย เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช โปรดให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ นำไปประดิษฐานในอาณาจักรต่าง ๆ
ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงมอบพระเกศาธาตุให้ชาวลัวะผู้หนึ่งชื่อกอน ลั๊วะกอนได้สร้างพระสถูปเจดีย์สูงเจ็ดศอก เพื่อบรรจุพระเกศาธาตุไว้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๘ ได้มีพระอรหันต์สององค์คือ พระกุมารกัสสปะ ได้นำเอาพระอัฐิธาตุพระนลาตข้างขวา และพระเมฆิยะ ได้นำเอาอัฐิธาตุลำคอ มาบรรจุไว้ในพระสถูปเจดีย์ไว้อีก พระสถูปเจดีย์องค์นี้ได้มีการสร้างเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง
5. พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน
5. พระธาตุหริภุญชัย
พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน เป็นปูชยสถานที่สำคัญยิ่งอีกแห่งหนึ่งของดินแดนล้านนาไทย มาแต่โบราณกาล ประมาณหนึ่งพันปีมาแล้ว บรรดาเจ้านครต่าง ๆ ในดินแดนส่วนนี้ได้มีความเคารพนับถือและศรัทธา ได้รับภาระในการปฏิสังขรณ์กันต่อมาจนถึงทุกวันนี้ องค์พระธาตุเป็นรูปทรงแบบลังกา ฝีมือประนีต และมีความคงทนถาวรมาก
ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. ๑๔๔๐ พระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์วงค์รามัญผู้ครองนครลำพูน เป็นลำดับที่ ๓๓ มีศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ได้ทรงรับเอาพระพุทธศาสนาจากเมืองมอญ มาประดิษฐานที่นครลำพูน และได้ทรงสร้างพระมณฑป เพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุ สูงสามวา มีซุ้มทั้งสี่ด้าน ครอบโกศสูงสามศอก แล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน ดังนั้นจึงเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า บรรดาบ้านเรือนในนครลำพูน จะต้องสร้างไม่ให้สูงเกินสามศอก เพื่อให้สูงกว่าองค์พระบรมธาตุ
6. พระธาตุพนม จ.นครพนม
6. พระธาตุพนม
พระธาตุพนม ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรวิหาร ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตำบล และอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม สถานที่ประดิษฐานองค์พระธาตุ อยู่บนภูกำพร้า หรือดอยกำพร้า ภาษาบาลีว่า กปณบรรพตหรือ กปณคีรี ริมฝั่งแม่น้ำขลนที อันเป็นเขตแขวงนครศรีโคตบูรโบราณ
ตามตำนานพระธาตุพนม ในอุรังคนิทานกล่าวว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระอานนท์ ได้เสด็จมาทางทิศตะวันออก โดยทางอากาศ ได้มาลงที่ดอนกอนเนา แล้วเสด็จไปหนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์) ได้พยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา จากนั้นได้เสด็จไปตามลำดับ ได้ทรงประทานรอยพระพุทธบาทไว้ที่ โพนฉัน (พระบาทโพนฉัน) อยู่ตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย แล้วเสด็จมาที่ พระบาทเวินปลา ซึ่งอยู่เหนือเมืองนครพนมปัจจุบัน ได้ทรงพยากรณ์ที่ตั้งเมืองมรุกขนคร (นครพนม) และได้ประทับพักแรมที่ภูกำพร้าหนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นเสด็จข้ามแม่น้ำโขง ไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตบูร พักอยู่ที่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง (พระธาตุอิงฮังเมืองสุวรรณเขต) แล้วกลับมาทำภัตกิจ (ฉันอาหาร) ที่ภูกำพร้าโดยทางอากาศ
พญาอินทร์ได้เสด็จมาเฝ้าและทูลถามพระพุทธองค์ ถึงเหตุที่มาประทับที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ในภัททกัลป์ที่นิพพานไปแล้ว บรรดาสาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์เมื่อนิพพานแล้ว พระมหากัสสปะ ผู้เป็นสาวก ก็จะนำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ ณ ที่นี้เช่นกัน จากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ทรงปรารภถึงเมืองศรีโคตบูร และมรุกขนคร แล้วเสด็จไปหนองหารหลวง ได้ทรงเทศนาโปรดพญาสุวรรณพิงคาระ และพระเทวี ประทานรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ที่นั้น แล้วเสด็จกลับพระเชตวัน หลังจากนั้นก็เสด็จปรินิพพานที่เมืองกุสินารา
7. พระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร
7. พระธาตุเชิงชุม
พระธาตุเชิงชุม ประดิษฐานอยู่บนเนินสูง ในวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ริมหนองหาร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอานนท์ ได้เสด็จจากพระวิหารเชตวัน มาทางดินแดนทางทิศตะวันออก เพื่อโปรดสัตว์ เมื่อเสด็จตามลำแม่น้ำโขง ก็ได้ประทับรอยพระพุทธบาทมาตามลำดับ มีพระพุทธบาทบัวบก พระพุทธบาทโพนเพล พระพุทธบาทเวินปลา แล้วมาพักฉันภัตตาหารที่ภูกำพร้า อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนม จากนั้นได้เสด็จไปโปรดพระเจ้าสุวรรณภิงคาระ และได้ประทับพระพุทธบาทที่ภูเขาน้ำลอดเชิงชุม รวมกับพระพุทธบาทของ อดีตพระพุทธเจ้าองค์ก่อนอีก 3 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าพระนามกกุสันธะ พระพุทธเจ้าพระนามโกนาคมะ และพระพุทธเจ้าพระนามกัสสปะ
8. พระธาตุนารายณ์เจงเวง จ.สกลนคร
8. พระธาตุนารายณ์เจงเวง
พระธาตุนารายณ์เจงเวง ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร อยู่ห่างจากตัวเมือง ประมาณ ๖ กิโลเมตร
พระธาตุองค์นี้เป็นพระธาตุเก่าแก่ สมัยเดียวกันกับพระธาตุเชิงชุม แต่ศิลปการก่อสร้างผิดไปคนละแบบ พระธาตุองค์นี้สร้างด้วยศิลาแลง แบบเดียวกับปราสาทหินพิมาย แต่มีขนาดเล็กกว่า เป็นปรางค์แบบขอม องค์พระธาตุแบ่งเป็นหลายส่วน คือ ส่วนที่เป็นฐาน ส่วนที่เป็นองค์หลังคาและส่วนยอด ส่วนที่เป็นฐานก่อด้วยศิลาแลงก้อนขนาดใหญ่ มีเอวคอดกิ่วเหมือนพานดอกไม้ สูง ๑๘ เมตร กว้างด้านละ ๑๕ เมตร
ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระเจ้าสุวรรณภิงคาระได้ทราบข่าวว่า พระมหากัสสปะเถระ พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ จะนำพระอุรังคธาตุไปบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า ที่ประดิษฐานพระธาตุพนม และจะต้องเสด็จย่านสกลนคร ก็มีความศรัทธา ได้ประชุมอำมาตย์ผู้ใหญ่ สร้างพระเจดีย์ไว้สององค์ ไว้คอยรับเสด็จ เพื่อขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ เจดีย์องค์หนึ่งสร้างไว้ที่พระราชอุทยานหลวง อยู่บนเนินสูงด้านทิศตะวันตก ห่างจากพระราชวังสามพันวา โดยให้พระนางเจงเวงเป็นเจ้าศรัทธาสร้าง อีกองค์หนึ่งให้อำมาตย์ผู้ใหญ่ฝ่ายชายเป็นผู้สร้าง
9. พระธาตุขามแก่น จ.ขอนแก่น
9. พระบรมธาตุขามแก่น
พระบรมธาตุขามแก่น ประดิษฐาน ณ วัดเจติยภูมิ อยู่ที่ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อยู่ห่างจากตัวจังหวัดออกไปประมาณ ๓๐ กิโลเมตร
ตามตำนานกล่าวว่า ภายใต้เจดีย์บรรจุพระอังคารของพระพุทธเจัา มีเรื่องเล่าว่า หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ร่วมกับประชาชนชาวเมือง ได้สร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นที่จังหวัดนครพนม คือพระธาตุพนม ในครั้งนั้นกษัตริย์แห่งโมริยวงศ์ ได้ทรงทราบเรื่องมีศรัทธา ที่จะนำพระอังคารของพระพุทธเจ้า ไปบรรจุร่วมกับพระบรมสารีริกธาตุในพระธาตุพนม จึงได้เดินทางไปนครพนม พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๙ องค์
ระหว่างทาง เมื่อมาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง มีตอมะขามขนาดใหญ่ตอหนึ่ง ผุเหลือแต่แก่น จึงได้อัญเชิญภาชนะที่ บรรจุพระอังคารวางไว้บนตอไม้มะขามดังกล่าว แล้วพักแรมอยู่ ณ ที่นั้นหนึ่งคืน รุ่งขึ้นก็ออกเดินทางต่อไป เมื่อไปถึงสถานที่ก่อสร้างพระธาตุพนมจึงทราบว่า ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่สามารถบรรจุพระอังคารที่นำมาได้ จึงพากันเดินทางกลับ เมื่อมาถึงตอมะขามดังกล่าวปรากฎว่า ตอที่เหลือแต่แก่นนั้นกลับงอกขึ้นมาใหม่ มีกิ่งก้านสาขาและใบเขียวชอุ่ม เป็นที่น่าอัศจรรย์ กษัตริย์โมริยวงศ์พระองค์นั้น จึงโปรดให้สร้างพระปรางค์ครอบ ตอมะขามดังกล่าว แล้วบรรจุพระอังคารธาตุเอาไว้ภายในพระปรางค์ และให้ชื่อว่า พระธาตุขามแก่น
10. พระธาตุบังพวน จ.หนองคาย
10. พระธาตุบังพวน
พระธาตุบังพวน เป็นพระธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่และสำคัญยิ่งของจังหวัดหนองคาย และเป็นพระธาตุที่สำคัญองค์หนึ่งของภาคอีสาน ประดิษฐานอยู่ ณ บ้านพระธาตุบังพวน ตำบลพระธาตุบังพวน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า พระยาสุวรรณภิงคาร เจ้าเมืองหนองหาน สกลนคร พระยาคำแดง เจ้าเมืองหนองหารน้อย อุดรธานี พระยาจุลณี พรหมทัต เจ้าเมืองจุลณี (ลาวเหนือ) พระยาอินทปัตนคร เจ้าเมืองอินทปัตนนนคร (เขมร) และพระยานันทเสน เจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์หลวง (ตรงข้ามนครพนม) ได้ร่วมกันอุปถัมภ์ พระมหากัสสเถระ พร้อมด้วยพระอรหันต์ อีก 500 องค์ ทำการก่อสร้างพระธาตุพนม แล้วเสร็จ และได้บรรลุพระอรหันต์ด้วยกันทั้งหมด ต่อมาได้เดินทางไปสู่แดนพุทธภูมิ เพื่อไปอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า 45 พระองค์ นำมาประดิษฐานไว้ ณ สถานที่ 4 แห่งคือ บริเวณเมืองหนองคาย และเมืองเวียงจันทน์ หนึ่งในสี่แห่งนั้น คือพระธาตุบังพวน ซึ่งได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาพักที่ร่มไม้ปาแป้ง (ไม้โพธิ) ณ ภูเขาหลวง อันเป็นที่ตั้งพระเจดีย์ พระธาตุบังพวนปัจจุบัน
สัตตสถานที่วัดพระธาตุบังพวนยังมีครบถ้วนทั้งเจ็ดองค์ และมีแผนที่ตั้งเหมือนกันกับที่พุทธคยา ประมวลได้ดังนี้
พระโพธิบัลลังก์
ตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลาง สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ เป็นพระสถูปทรงกลมสูงประมาณ สองเมตรครึ่ง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ เจ็ดเมตรครึ่ง โพธิบัลลังก์หรือวัชรอาสน์นี้ เป็นอาสน์ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่ง เพื่อบำเพ็ญเพียรทางจิต จนบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อวันเพ็ญเดือนหก ก่อนพระพุทธศักราช 45 ปี ตามพุทธประวัติจากพระไตรปิฎก กล่าวว่า พระพุทธองค์ได้ทรงประทับนั่งอยู่บนโพธิบัลลังก์นี้เป็นเวลา 7 วัน ทรงพิจารณาธรรมที่ตรัสรู้แล้ว คือ ปฏิจจสมุปบาท ทั้งสายเกิด และสายดับ กลับไปกลับมา ขณะพิจรณาธรรมทั้งสามในราตรีนั้น แล้วเปล่งพุทธอุทานในแต่ละยามดังนี้
อุทานในยามต้นว่า
เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฎแก่พราหมณ์ผู้มีพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะมารู้แจ้งธรรมว่าเกิดแต่เหตุ
อุทานในยามเป็นท่ามกลางว่า
เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฎแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย
อุทานในยามที่สุดว่า
เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฎแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนาเสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัยกำจัดมืด ทำอากาศให้สว่างฉะนั้น
พระอนิมมิสเจดีย์
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของโพธิบัลลังก์ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐสอปูน ตามพุทธประวัติจากอรรถกถา กล่าวว่า เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จมาประทับยืนอยู่ ณ ที่นี้ แล้วทรงทอดพระเนตรดูต้นพระศรีมหาโพธิ ที่ให้ร่มเงาปกคลุมโพธิบัลลังก์ อยู่ 7 วัน
พระรัตนจงกรมเจดีย์
ที่พุทธคยาจะตั้งอยู่ระหว่างพระโพธิบัลลังก์กับพระอนิมมิสเจดีย์ แต่ที่วัดพระธาตุบังพวนนั้น พระรัตนจงกรมเจดีย์ตั้งอยู่ค่อนไปทางเหนือ เป็นพระเจดีย์ก่อด้วยอิฐสอปูน มีลาดพระบาทก่อด้วยอิฐกว้างประมาณสองเมตรครึ่ง จรดพระอนิมมิสเจดีย์ ตอนกลางมีรอยพระพุทธบาทใหญ่ ตามพุทธประวัติจากอรรถกถา กล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่อนิมมิสเจดีย์ ครบ 7 วัน แล้ว ได้ทรงเดินจงกรม เพื่อพิจารณาบรรดาสัตว์โลกที่จะเสด็จไปโปรด อยู่ 7 วัน
พระรัตนฆรเจดีย์
ที่พุทธคยา จะตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระโพธิบัลลังก์ แต่ที่วัดพระธาตุบังพวน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นพระเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุม ก่อด้วยอิฐสอปูนขนาดใหญ่ ทรงปราสาทเรือนธาตุ มีซุ้มและพระพุทธรูปปางสมาธิ ตามพุทธประวัติจากอรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาพระอภิธรรมตลอด 7 วัน ทรงประทับอยู่ที่เรือนแก้วที่เทวดานิรมิตถวาย บังเกิดฉัพพรรณรังษีรอบพระวรกาย
พระอชปาลนิโครธเจดีย์
ที่พุทธคยาจะตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ที่วัดพระธาตุบังพวน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นพระสถูปเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม มีซุ้มพระพุทธรูปปางสมาธิ ตามพุทธประวัติจากพระไตรปิฎก กล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงโต้ตอบกับพราหมณ์ผู้มีทิฐิมานะคนหนึ่ง ที่ชอบว่าคนอื่น ตามอรรถกถากล่าวว่า ทรงมีพุทธฎีกาต่อธิดาพญามาร 3 ตน มีนามว่า ตัณหา ราคา และอรดี ที่รับอาสาพญามารนามว่า วสวัตตี ผู้เป็นพ่อ มายั่วยวนพระพุทธเจ้า แต่ก็พ่ายแพ้อันตรธานไปในที่สุด พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ณ ที่นี่เป็นเวลา 7 วัน
พระมุจลินทเจดีย์
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ อยู่คู่กับสระน้ำ ที่พระธาตุบังพวน ได้สร้างวิหารแบบโปร่งไม่มีผนัง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก ที่สระน้ำมีรูปปั้นพระยานาค 7 เศียร อยู่กลางสระ ตามพุทธประวัติจากพระไตรปิฎกกล่าวว่า ช่วงนี้อยู่ในสัปดาห์ที่สามหลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับอยู่ใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) ในช่วงเวลาที่ฝนตกพรำตลอด 7 วัน พญามุจลินทนาคราชได้ขึ้นมาขนดและแผ่พังพาน เพื่อบังลมและฝนให้ เมื่อพายุหายแล้ว ก็คลายขนด จำแลงกายเป็นมาณพน้อย ยืนประคองอัญชลีนมัสการพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเปล่งพุทธอุทานว่า
ความสงัดของผู้ที่ยินดีในธรรมเป็นสุข การระมัดระวังไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย การละกามคุณได้เป็นสุข การละอัสมิมานะ (ความถือตัว) เสียได้เป็นสุขอย่างยิ่ง
พระราชายตนะเจดีย์
ตั้งอยู่ทางทิศใต้ เป็นพระเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม และมีซุ้มพระพุทธรูปปางสมาธิ เช่นเดียวกับ อชปาลนิโครธเจดีย์ ตามพุทธประวัติจากพระไตรปิฎกกล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ 4 หลังการตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับที่ใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกตุ) ณ ที่นี้ได้มีพ่อค้าสองคน มีนามว่า ตปุสสะ กับ ภัลลิกะมาพบ ได้ถวายข้าวสัตตุก้อน และสัตตุผง และได้เปล่งวาจาถึงพระพุทธและพระธรรม เป็นสรณะ เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีพระสงฆ์
ในวันเพ็ญเดือนสาม ของทุกปี จะมีงานเทศกาลนมัสการ พระธาตุบังพวน เป็นเวลา 5 วัน 5 คืน
11. พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
11. พระธาตุแช่แห้ง
พระธาตุแช่แห้งประดิษฐานอยู่ ณ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ ๓ กิโลเมตร
องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ย ๆ เป็นสีทองสุกปลั่ง สามารถมองเห็นได้แต่ไกล เนื่องจากสูงถึง ๒ เส้น เป็นอนุสรณ์ของความรักและความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัย ในอดีต ที่เชิงเนินปูด้วยอิฐ ลาดขึ้นไปยังยอดเนิน กว้างประมาณ ๒๐ วา มีบันไดนาคขนาบทั้งสองข้าง องค์พระเจดีย์เป็นแบบลานนาไทย ฐานเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปจนสูง ใช้แผ่นทองเหลืองบุรอบฐาน แล้วลงรักปิดทอง
จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง และตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่ง แม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง
มีงานประจำปีฉลองพระธาตุ ในกลางเดือนหกฝ่ายเหนือ ซึ่งตรงกับเดือนสี่ฝ่ายใต้
12. พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
12. พระธาตุช่อแฮ
พระธาตุช่อแฮประดิษฐานอยู่ ณ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ ๙ กิโลเมตร
องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ เช่นเดียวกับพระธาตุแช่แห้ง สำหรับชื่อที่เรียกนี้ บางท่านอธิบายว่า เดิมมาจากชื่อว่า ช่อแพร และเมืองแพร่ก็คือเมืองแพร่
ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้ประทานพระเกศธาตุองค์หนึ่ง แก่พระอรหันต์ และพระเจ้าอโศกมหาราช ให้แก่ชาวลัวะ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์ได้นำพระธาตุส่วนข้อศอกด้านซ้าย มาประดิษฐานไว้ในพระสถูป ที่ดอยโกสัยชัคคบรรพต หรือดอยช่อแพร หรือช่อแฮแห่งนี้
13. พระบรมธาตุเมืองนคร จ.นครศรีธรรมราช
13. พระบรมธาตุเมืองนคร
พระบรมธาตุเมืองนคร ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่กลางใจเมือง
ตามตำนานกล่าวว่า องค์พระบรมธาตุเจดีย์ได้ก่อครอบพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งฝังไว้ ณ หาดทรายแก้วแห่งหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า นางเหมชาลากับเจ้าทนทกุมาร ผู้เป็นพระราชบุตรีและพระราชโอรสท้าวโกสีหราช แห่งเมืองทนทบุรี ได้นำพระทันตธาตุหนีไปลังกา เมื่อตอนที่ท้าวโกสีหราชเสียเมืองให้แก่ท้าวอังกุศราช แต่เรือแตกจึงได้พากันขึ้นบกที่หาดทรายแก้ว เอาพระทันตธาตุฝังไว้ที่หาดทราย แล้วจึงหลบหนีไป
ต่อมา พระอรหันต์ชื่อพระมหาเถรพรหมเทพ มาโดยนภากาศ ได้เห็นรัศมีพระทันตธาตุโชติช่วงขึ้นมาจากที่ฝัง จึงได้ลงไปนมัสการและทำนายว่า ในอนาคตสถานที่นี้จะมีพระยาองค์หนึ่ง มาตั้งเป็นเมืองใหญ่
ในกาลต่อมา พระยาศรีธรรมาโศกราช ได้ทรงก่อพระมหาธาตุสูง ๓๗ วา ไว้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ. ๑๐๙๘ แล้วได้สร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น
พระบรมธาตุไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
14. พระธาตุไชยา
พระธาตุไชยา ประดิษฐาน ณ วัดพระมหาธาตุ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร
องค์พระธาตุไชยา เป็นโบราณสถานฝีมือช่างสมัยศรีวิชัย ได้มีการบูรณะมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และได้มีการบูรณะอย่างจริงจังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าคุณชยาภิวัฒน์ เจ้าคณะวัดพุมเรียงเป็นผู้ควบคุม แต่เดิมวัดนี้ทั้งวัดจมดินและทรายที่ทับถมอยู่ เนื่องจากเป็นที่ลุ่ม หน้าน้ำ น้ำจะท่วมและพัดเอาดินโคลนมาทับถม จึงให้คุ้ยดินรอบองค์พระธาตุออก แล้วบูรณะฐานขึ้นใหม่ โดยใช้ปูนสอ ระดับดินปัจจุบันสูงกว่าฐานประมาณ ๑ เมตร ซึ่งเมื่อบูรณะแล้วจึงคล้ายกับมีคูน้ำล้อมรอบองค์พระธาตุ ตัวคูน้ำกว้างประมาณ ๖๐ เซนติเมตร
อิทธิพลของศิลปชวาที่เห็นได้ชัดคือ กุดุ ซึ่งชวาได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสมัยหลังคุปตะ มกรหรือกาล ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ได้รับการสลักบนทับหลังของศิลปชวาเสมอ ภายในองค์พระธาตุ มีพระพุทธรูปสมัยทวาราวดีสององค์ ประทับยืนองค์หนึ่งและประทับนั่งองค์หนึ่ง ระเบียงรอบพระธาตุเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ทำด้วยศิลาแดงสมัยศรีวิชัย