ความรู้เรื่อง...ฐานะนิติบุคคลของวัด
ฐานะนิติบุคคลของวัด ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (ฉบับที่ 2 )แก้ไข พ.ศ.2535 http://winne.ws/n2791
โดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 31 บัญญัติให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล คือ บุคคลตามกฎหมาย วัดทั้งหลายจึงอยู่ในฐานะที่ได้รับความคุ้มครองจากบรรดาบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตลอดถึงกฎหมายทั่วไปด้วย ซึ่งไม่อาจนำมากล่าวให้ละเอียดได้ ณ ที่นี้
อำนาจนิติบุคคล บางกรณีที่ใช้กับวัดด้วย คือ
1. สิทธิหน้าที่ของวัด กฎหมายยกฐานะของวัดเป็นนิติบุคคลก็เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของวัดและพระศาสนา โดยให้วัดสามารถมีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ แยกออกได้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากบุคคลทั้งหลายที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับวัด ดังบัญญัติในมาตรา 31 สรุปได้ 2 ประการคือ
1.1 วัดย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ต้องตามบัญญัติทั้งปวงแห่งกฎหมายภายในกรอบวัตถุประสงค์ของวัด
1.2 ภายในข้อบังคับตามข้อ 1 วัดย่อมมีสิทธิและหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดา เว้นเสียสิทธิและหน้าที่ ซึ่งว่าโดยสภาพจะพึงมีพึงได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น ดังนั้น
วัดจึงมีหน้าที่ที่ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการคือ
1. ไม่ขัดกับนิติบุคคลของวัด เช่นสิทธิและหน้าที่ระหว่างสามี-ภรรยา หรือ พ่อแม่กับบุตร วัดก็ไม่มีสิทธิ์เช่นนั้น
2. ต้องตามบทบัญญัติทั้งปวงแก่กฎหมาย หมายความว่า ถึงแม้สิทธิและหน้าที่ ดังกล่าวนั้น จะไม่ขัดกับสภาพนิติบุคคลของวัดก็ดี แต่ถ้าขัดกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย วัดก็ไม่มีสิทธิและหน้าที่เช่นนั้นเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น บุคคลธรรมดามีสิทธิโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่วัดไม่มีสิทธิโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินวัดหรือที่ธรณีสงฆ์โดยวิธีการเช่นนั้น เพราะขัดกับบทบัญญัติในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ซึ่งบัญญัติให้โอนได้แต่พระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น
หรือตัวอย่างวัดมีสิทธิได้รับมรดกของพระภิกษุในวัดผู้มรณภาพ ซึ่งมิได้ทำพินัยกรรมไว้เป็นอย่างอื่น แต่วัดคงมีสิทธิ์รับได้เฉพาะมรดกอันเป็นส่วนที่พระภิกษุได้มาในระหว่างเป็นพระภิกษุเท่านั้น สำหรับส่วนที่พระภิกษุนั้นได้มาก่อนเป็นพระภิกษุ วัดไม่มีสิทธิได้รับตามที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 , 1624
3.ภายในวัตถุประสงค์ของวัด แม้ว่าสิทธิและหน้าที่นั้น จะไม่ขัดกับสภาพนิติบุคคลและไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ๆ ก็ตาม แต่ถ้าขัดกับวัตถุประสงค์ของวัดแล้ว วัดก็ไม่มีสิทธิและหน้าที่เช่นนั้นเหมือนกัน
ในการพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลอื่น ๆ เช่นมูลนิธิ,สมาคม หรือบริษัท จะมีตราสารกำหนด แต่ของวัดทั่วราชอาณาจักร แม้ไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์ไว้ แต่วัดทั้งหลายย่อมมีวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดและเหมือนกันหมด กล่าวคือ "กิจกรรมคณะสงฆ์และกิจการทางพระพุทธศาสนา" ภายใต้ขอบเขตแห่งพระธรรมวินัยและกฎหมาย ดังที่บัญญัติไว้ในเรื่อง "อำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาส" ตามมาตรา 37 และมาตรา 38 ซึ่งแยกออกเป็นด้านการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่ และการสาธารณูปการ
เมื่อเทียบสิทธิและหน้าที่ของวัด กับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าอาวาสแล้ว มีส่วนสัมพันธ์กันไปด้วยกัน คือ เจ้าอาวาส มีอำนาจหน้าที่ภายในขอบเขตแห่งสิทธิและหน้าที่ของวัด เพราะเจ้าอาวาสมีอำนาจหน้าที่จัดกิจการของวัดในฐานะผู้แทนวัด โดยตำแหน่งตามความมาตรา 37 ซึ่งเจ้าอาวาสต้องรับผิดชอบในสิทธิหน้าที่เจ้าอาวาส สิทธิหน้าที่ของวัด และสิทธิหน้าที่ของเจ้าพนักงานด้วย
ความรับผิดชอบของวัด และผู้แทนวัด (ผู้แทนวัดโดยตำแหน่งคือเจ้าอาวาส ผู้แทนวัดโดยการแต่งตั้ง ได้แก่ ผู้แทนวัดที่ได้รับการแต่งตั้งมอบหมายให้กระทำกิจการใด ๆ แทนวัดเป็นพิเศษ ชั่วครั้งชั่วคราวหรือเฉพาะเรื่องนั้น ๆ )
ตามมาตรา 70 เมื่อผู้แทนวัดทั้ง 2 ประเภทนั้นกระทำกิจการใด ๆ แทนวัดไปแล้ว จึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า วัดจะต้องรับผิดชอบในกิจการนั้น ๆ ทุกกรณีไป เพราะในบางกรณี ผู้แทนวัดก็ต้องรับผิดชอบด้วยตนเอง และในบางกรณีวัดกับผู้แทนวัดยังต้องรับผิดชอบต่อกันอีกส่วนหนึ่ง ดังมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ความรับผิดชอบระหว่าง วัด กับ บุคคลภายนอก
2. ความรับผิดชอบระหว่าง ผู้แทนวัด กับ บุคคลภายนอก
3. ความรับผิดชอบระหว่าง วัด กับ ผู้แทนวัด
จากหนังสือ ที่ระลึกพระราชทานเพลิงศพ พระครูสุตวุฒินันท์ (สุทัศน์ ฐานนนฺโท)
ฉลอง ช่วยธานี เรียบเรียง