วิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ วิโมกข์ ๘ จรณะ ๑๕ ในพระพุทธศาสนา คืออะไร ???
วิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ วิโมกข์ ๘ จรณะ ๑๕ ในพระพุทธศาสนา คืออะไร ??? http://winne.ws/n7798
วิชชา ๓ (โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
๑. ปุพเพนิวาสนานุสสติญาณ ความรู้จักระลึกชาติหนหลังได้ ตรัสเปรียบไว้เหมือนอย่างบุรุษคนหนึ่งที่ออกจากบ้านของตนไปเยี่ยมบ้านนั้นบ้านนี้ แล้วก็กลับมาบ้านของตน ก็รู้ระลึกได้ว่าตนออกจากบ้านไปบ้านนั้น เดินยืนนั่งนอนพูดเป็นต้นอย่างนั้น ๆ ออกจากบ้านนั้นไปบ้านโน้นก็ไปทำไปพูดอย่างนั้นๆ ออกจากบ้านโน้นกลับมาสู่บ้านของตน
๒. จุตูปปาตญาณ ความรู้จักจุติคือความเคลื่อน อุปบัติคือความเข้าถึงชาตินั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม ตรัสเปรียบไว้เหมือนอย่างว่า บุรุษขึ้นไปสู่ปราสาทที่ตั้งอยู่ที่ถนนสามแพร่ง มองลงมาก็เห็นหมู่มนุษย์หมู่คน เดินออกจากบ้านบ้าง เดินเข้าบ้านบ้าง นั่งอยู่ที่ทางสามแพร่งบ้าง เดินไปตามถนนบ้าง
๓. อาสวักขยญาณ ความรู้จักทำอาสวะให้สิ้น คือญาณที่เป็นเหตุสิ้นไปอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย ตรัสเปรียบไว้เหมือนอย่างว่าบุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่ที่ริมสระน้ำที่ใสสะอาด ก็มองเห็นก้อนกรวดหอยโข่งเป็นต้นอยู่ในน้ำ มองเห็นปลาว่ายไปว่ายมาอยู่ในน้ำ
วิชชา ๘ ประการ (โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
๑. มโนมยิทธิ
(เริ่ม ๘๐/๒) มโนมยิทธิญาณ คือความรู้จักแสดงฤทธิ์ นิรมิตมโนมัยกายคือกายที่สำเร็จจากใจ มโนมยะ มโนมัย แปลว่าสำเร็จจากใจ อิทธิแปลกันว่าฤทธิ์ ตามศัพท์แปลว่าความสำเร็จ ก็คือน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปที่สำเร็จจากใจ คือนิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปที่สำเร็จจากใจ มีอินทรีย์ที่สมบูรณ์ คือเหมือนมีตามีหูมีจมูกมีลิ้นมีกายและมีมนะคือใจ ซึ่งเป็นอินทรีย์ ๖ ของกายใจบุคคลนี้ ตรัสเปรียบเหมือนอย่างว่าชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง
๒. มโนมัยกาย กายทิพย์
ในเมืองไทยนี้ท่านผู้ปฏิบัติกรรมฐานและสนใจในวิชชานี้ ท่านตั้งชื่อเรียกว่ากายทิพย์ ส่วนกายธรรมดาซึ่งประกอบขึ้นด้วยธาตุดินน้ำไฟลมเรียกว่ากายเนื้อ กายทิพย์นี้ก็คือมโนมัยกาย หรือมโนมัยรูป ซึ่งท่านได้แสดงเอาไว้ในประวัติพระพุทธศาสนา ว่าพระพุทธเจ้าโดยปรกติเสด็จไปด้วยกายเนื้อ แต่ในบางคราวเสด็จไปด้วยกายทิพย์ หรือมโนมัยกายนี้
๓. อิทธิวิธิญาณ
อิทธิวิธิญาณคือความรู้จักวิธีแสดงฤทธิ์ ก็คือน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ด้วยวิธีต่างๆ ตามที่น้อมจิตไปว่าจะแสดงวิธีไหนอย่างไร ดังที่ท่านแสดงไว้เช่น คนเดียวเป็นมากคนหลายคนเป็นคนเดียว ปรากฏตัวหายตัว เดินทะลุฝากำแพงภูเขา เหมือนอย่างเดินไปในที่ว่าง ดำดินโผล่ขึ้นเหมือนอย่างดำน้ำโผล่ขึ้น ดำน้ำ เดินบนน้ำเหมือนเดินบนแผ่นดิน ไปในอากาศได้เหมือนนก ดั่งนี้เปนต้น ตรัสเปรียบไว้เหมือนอย่างช่างหม้อ หรือลูกศิษย์ของช่างหม้อผู้ฉลาด เมื่อได้เตรียมดินไว้ดี ก็ปั้นภาชนะดินต่างๆ ได้ตามต้องการ
๔. ทิพยโสตญาณ
ทิพยโสตญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ด้วยทิพยโสต หูทิพย์ น้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตญาณ ก็ฟังเสียงได้ ๒ อย่างคือเสียงทิพย์ หรือเสียงมนุษย์ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่ไกลทั้งที่ใกล้ เหมือนอย่างคนเดินทางไกลได้ยินเสียงสังข์เสียงตะโพน ก็รู้ว่านี่เป็นเสียงสังข์เสียงตะโพน ในที่ใกล้บ้างที่ไกลบ้างที่ผ่านไป ทิพยโสตญาณนี้เป็นวิชชาที่ ๔
๕. เจโตปริยญาณ
เจโตปริยญาณความรู้จักกำหนดใจของผู้อื่นได้ คือน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ ก็กำหนดรู้ใจได้ อ่านใจได้
๖. ปุพเพนิวาสนานุสสติญาณ
ความรู้จักระลึกชาติหนหลังได้ ตรัสเปรียบไว้เหมือนอย่างบุรุษคนหนึ่งที่ออกจากบ้านของตนไปเยี่ยมบ้านนั้นบ้านนี้ แล้วก็กลับมาบ้านของตน ก็รู้ระลึกได้ว่าตนออกจากบ้านไปบ้านนั้น เดินยืนนั่งนอนพูดเป็นต้นอย่างนั้นๆ ออกจากบ้านนั้นไปบ้านโน้นก็ไปทำไปพูดอย่างนั้นๆ ออกจากบ้านโน้นกลับมาสู่บ้านของตน ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนี้เป็นวิชชาที่ ๖
๗. จุตูปปาตญาณ
ความรู้จักจุติคือความเคลื่อน อุปบัติคือความเข้าถึงชาตินั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม ตรัสเปรียบไว้เหมือนอย่างว่า บุรุษขึ้นไปสู่ปราสาทที่ตั้งอยู่ที่ถนนสามแพร่ง มองลงมาก็เห็นหมู่มนุษย์หมู่คน เดินออกจากบ้านบ้าง เดินเข้าบ้านบ้าง นั่งอยู่ที่ทางสามแพร่งบ้าง เดินไปตามถนนบ้าง จุตูปปาตญาณนี้เป็นวิชชาที่ ๗
๘. อาสวักขยญาณ
ความรู้จักทำอาสวะให้สิ้น คือญาณที่เป็นเหตุสิ้นไปอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย ตรัสเปรียบไว้เหมือนอย่างว่าบุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่ที่ริมสระน้ำที่ใสสะอาด ก็มองเห็นก้อนกรวดหอยโข่งเป็นต้นอยู่ในน้ำ มองเห็นปลาว่ายไปว่ายมาอยู่ในน้ำ
อภิญญา ๖
อภิญญา แปลว่า ความรู้ยิ่ง หมายถึงปัญญาความรู้ที่สูงเหนือกว่าปกติ เป็นความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นจากการอบรมจิตเจริญปัญญาหรือบำเพ็ญกรรมฐาน
อภิญญาในคำวัดหมายถึงคุณสมบัติพิเศษของพระอริยบุคคลซึ่งเป็นเหตุให้มีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ มี ๖ อย่าง คือ
๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ เช่น ล่องหนได้ เหาะได้ ดำดินได้
๒. ทิพพโสต มีหูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้
๕. ทิพพจักขุ มีตาทิพย์
๖. อาสวักขยญาณ รู้การทำอาสวะให้สิ้นไป
อภิญญา ๕ ข้อแรกเป็นของสาธารณะ (โลกียญาณ) ข้อ ๖ มีเฉพาะในพระอริยบุคคล
ถ้าพบผู้แสดงฤทธิ์ได้ อย่าพึ่งหมายว่าผู้นั้นจะเป็นอริยบุคคล (https://th.wikipedia.org/wiki/อภิญญา)
ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ (ความแตกฉาน ๔)
ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือ ความสามารถพิเศษในการสั่งสอนคนอื่น ได้แก่
๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉาน ในอรรถ เห็นข้อธรรมใดก็สามารถอธิบายขยายความออกไปได้โดยพิสดาร
๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉาน ในธรรม สามารถสรุปข้อความได้อย่างกระชับเก็บความสำคัญได้หมด
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉาน ในนิรุตติ คือแตกฉานเรื่อง ภาษาต่าง ๆ
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉาน ในปฏิภาณ มีไหวพริบปฏิภาณดี สามารถอธิบายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ดี ตอบคำถามได้แจ่มแจ้ง
ที่มา : พระไตรปิฏก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค หน้า 87 ข้อ [๑๘๖] เป็นต้นไป
วิโมกข์ ๘
{๑๐๑}[๑๗๔] อานนท์ วิโมกข์ A ๘ ประการนี้
วิโมกข์ ๘ ประการ คือ
๑. บุคคลผู้มีรูปเห็นรูปทั้งหลาย นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๑
๒. บุคคลผู้มีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอก นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๒
๓. บุคคลผู้น้อมใจไปว่า ‘งาม’ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๓
๔. บุคคลบรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได‘’ อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๔
๕. บุคคลล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๕
๖. บุคคลล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ นี้เป็นวิโมกข์ ประการที่ ๖
๗. บุคคลล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๗
๘. บุคคลล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๘
อานนท์ วิโมกข์ ๘ ประการนี้แล
เชิงอรรถ
A ดูเทียบข้อ ๑๒๙ หน้า ๗๕ ในเล่มนี้ และดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๙/๒๓๑, ม.ม. ๑๓/๒๔๘/๒๒๓-๒๒๔, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๖๖/๓๖๘-๓๖๙
จรณะ หมายถึง ความประพฤติอันงดงามมี ๑๕ ประการ ได้แก่
๑. ศีลสังวร คือความสำรวมในพระปาฏิโมกข์
๒. อินทรีย์สังวร คือความสำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๓. โภชเนมัตตัญญุตา คือความรู้จักประมาณในการบริโภค
๔. ชาคริยานุโยค คือการประกอบความเพียรที่ทำให้เป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ
๕. ศรัทธา คือ ความเชื่อมั่น
๖. สติ คือ ความระลึกได้
๗. หิริ คือ ความละอายบาป
๘. โอตตัปปะ คือ ความกลัวบาป
๙. พาหุสัจจะ คือความเป็นผู้ได้สดับมาก ( พหูสูต )
๑๐. อุปักกะโม คือเว้นจากพยายามเพื่อฆ่า และพยายามเพื่อลัก
๑๑. ปัญญาและ
รวมรูปฌาน ๔ รวมเป็น ๑๕ สิ่ง
รูปฌาน ๔ ฌานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์ ฌานที่เป็นรูปาวจร ได้แก่
ปฐมฌาน ( ฌานที่ 1 ) ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา
ทุติยฌาน ( ฌานที่ 2 ) ประกอบด้วย ปิติ สุข เอกัคคตา
ตติยฌาน ( ฌานที่ 3 ) ประกอบด้วย สุข เอกัคคตา
จตุตถฌาน ( ฌานที่ 4) ประกอบด้วย อุเบกขา เอกัคคตา
เหล่านี้แสดงถึงว่าพระพุทธองค์ทรงมีศีลาจารวัตรที่งดงาม ทรงประพฤติปฏิบัติจรณะทั้ง ๑๕ ประการมามากมายหลายภพหลายชาติจึงทำให้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะจรณะทั้ง ๑๕ ประการเป็นพื้นฐานที่ทำให้พระองค์มีความหนักแน่น มั่นคงอย่างต่อเนื่องในการสร้างบารมีจนกระทั่งบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตามความปรารถนาที่ตั้งใจไว้
อ้างอิง : http://www.84000.org/tipitaka/read/?10/66
อ้างอิง : https://th.wikipedia.org/wiki/ฌาน