เมื่อพระอรหันต์พบขอทานผู้เป็นโรคเรื้อน ขอใส่บาตร..แล้วจะเป็นอย่างไร ?
ข้อนี้ทรงสอนให้เคารพในบุคคลผู้ให้ และเคารพในของที่เขาให้ ไม่แสดงอาการดูหมิ่นหรือรับมาอย่างเสียไม่ได้ ชวนให้เข้าใจว่า เมื่อพ้นหน้าเขาแล้วท่านคงเททิ้ง หรือตั้งแลไว้ไม่ยอมฉัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นประโยชน์ในการรักษาศรัทธาของญาติโยมไว้ http://winne.ws/n11592
พระพุทธเจ้า ทรงให้ความสำคัญและทรงบัญญัติพระวินัยว่าด้วยการบิณฑบาตและการขบฉันภัตตาหาร ของพระภิกษุไว้ 30 ข้อ วันนี้ขอนำมาเพียง 1 ข้อ ก่อนนะครับ
ข้อที่ 1 "ภิกษุถึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตโดยเคารพ"
ข้อนี้ทรงสอนให้เคารพในบุคคลผู้ให้ และเคารพในของที่เขาให้ ไม่แสดงอาการดูหมิ่นหรือรับมาอย่างเสียไม่ได้ ชวนให้เข้าใจว่า เมื่อพ้นหน้าเขาแล้วท่านคงเททิ้ง หรือตั้งแลไว้ไม่ยอมฉัน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นประโยชน์ในการรักษาศรัทธาของญาติโยมไว้ จึงทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นมาว่า เมื่อออกรับบิณฑบาตต้องรับอาหารไม่คำนึงว่าอาหารนั้นจะประณีตหรือไม่ เมื่อรับแล้วต้องฉัน ห้ามเอาไปเททิ้ง ถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่งของพระภิกษุ
อย่างเรื่องในอดีต มีพระอรหันต์รูปหนึ่ง ท่านปลงใจได้ในเรื่องอาหารอย่างน่าเลื่อมใสมาก มีเรื่องเล่าว่า คราวหนึ่งท่านออกบิณฑบาต พบขอทานคนหนึ่งกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ริมทาง
ธรรมเนียมการรับประทานอาหารของชาวอินเดีย สมัยนั้นเขาเอาอาหารใส่รวมกันในถาดเพียงถาดเดียว ส่วนมากเป็นอาหารแห้ง ๆ มีอะไรก็คลุก ๆ เข้าด้วยกัน ไม่แบ่งเป็นจาน ๆ อย่างพวกเรา เวลารับประทานอาหารก็นั่งล้อมวง รับประทานพร้อมกันทั้งครอบครัว ช้อนอะไรก็ไม่ใช้ มือใครมือมันหยิบอาหารใส่ปากเอาเอง
นายขอทานคนที่ว่านี้เป็นโรคเรื้อนงอมแงม นิ้วมือแต่ละข้อแทบจะขาดหลุดทั้งนั้น แต่ถึงแม้ยากจน เขาก็ใจบุญ พอเห็นพระอรหันต์บิณฑบาตตรงมา ก็ดีใจว่าวันนี้จะได้ถวายทาน รีบเอามือกวาดอาหารในถาดกันไว้เป็นแถบ ๆ ว่า แถบนี้ยังไม่ได้กิน แถบโน้นกินแล้ว จากนั้น ก็ยกถาดขึ้นสาธุท่วมหัวนิมนต์พระอรหันต์ให้รับบาตร
ภาพแทน
พระอรหันต์รับอาหารของขอทานโดยไม่แสดงอาการรังเกียจเลย แม้เขาจะเอานิ้วขี้เรื้อน ทั้ง 5 หยิบอาหารใส่บาตรอย่างไม่ถนัดถนี่นัก บังเอิญนิ้วขี้เรื้อนนิ้วหนึ่งเกิดขาดหลุดตกลงไปในบาตร...
เป็นเราคงไม่ปล่อยจนได้ของแถมอย่างนี้หรอก แค่เห็นนิ้วร่องแร่งก็ปิดฝาบาตรแน่นเดินหลีกไปแล้ว
แต่พระอรหันต์ท่านมีเมตตาสูง ท่านหมดกิเลสจริง ๆ เขาแถมนิ้วมือให้นิ้วหนึ่ง ท่านก็ไม่ว่ากระไร เท่านั้นยังไม่พอท่านตั้งใจฉลองศรัทธาของขอทานขี้เรื้อนอย่างเต็มที่ หวังให้เขาได้บุญมาก ๆ ทันตาเห็น จะได้หมดเวรเป็นขอทานแค่ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายเสียที ท่านรับบาตรแล้วก็ตรงไปที่ร่มไม้ใกล้ ๆ ลงนั่งขัดตะหมาด วางบาตรไว้ข้างหน้า หยิบนิ้วขี้เรื้อนท่อนนั้นโยนทิ้งเหมือนเป็นเศษไม้เศษผงธรรมดา แล้วท่านก็หยิบคำข้าวขึ้นฉันหน้าตาเฉย
ฝ่ายขอทานเห็นแล้วก็ดีอกดีใจยกใหญ่ เป็นพระอรหันต์ท่านทำใจได้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็ยากอยู่นะ
ชาวบ้านทั่วไป พอตักบาตรก็อยากให้พระฉันของที่ตัวถวาย กับข้าวจะประณีตไม่ประณีต เหมาะกับวัยกับสังขารของท่านหรือไม่ ก็ไม่ค่อยคำนึงถึง ถ้าท่านเผลอแสดงอาการไม่อยากได้ เขาก็เสียใจ
จากการที่ได้อ่านพระวินัยข้อที่ 1 หมวด โภชนปฏิสังยุตนี้ แสดงให้เห็นว่า มารยาทของพระภิกษุ ในการรับบิณฑบาต หรือรับประเคนของที่ญาติโยม มีศรัทธาเลื่อมใสก็ตาม ต้องรับด้วยความเคารพและรักษาศรัทธาญาติโยมไว้ อย่างเห็นได้ชัด ตามพระวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้นมา ให้พระสงฆ์สาวกได้ยึดถือปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน
แล้วอย่างนี้ กรณีข้อกล่าวหาของพระธัมมชโย หรือพระเทพญาณมหามุนี แห่งวัดพระธรรมกาย ที่ท่านรับประเคนปัจจัยมาจากญาติโยมที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาท่าน แล้ว ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า "รับของโจร" จะเป็นไปได้อย่างไร ? ถ้าถามโยมก่อนว่า "ทรัพย์นี้ ได้มาอย่างไร ? เป็นของโจรหรือลักขโมยมาหรือเปล่า" คงไม่ใช่มารยาทพระภิกษุสงฆ์อย่างแน่นอน ที่สำคัญ ถ้าถามอย่างนั้น ก็เท่ากับไม่ปฏิบัติตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า "ต้องรักษาศรัทธาญาติโยม" ไว้นั่นเอง
ท่านผู้อ่านก็ลองพิจารณาดูเถอะครับ ว่าพระรับประเคนแล้ว จะกลายเป็นรับของโจรได้อย่างไร ?? เพราะเป็นหน้าที่ของพระ ตามพระวินัย นะครับ คนที่แจ้งข้อกล่าวหาพระเช่นนั้น คงไม่ทราบพระวินัยของพระสงฆ์ และเอาบรรทัดฐานของฆราวาสมาวัด กับเสขิยวัตรของพระหรือไม่ ??
โปรดกลับมาทบทวนอีกครั้ง ว่า คดีนี้ มีความชอบธรรมกับพระสงฆ์หรือไม่ ?? ก่อนที่จะสายเกินแก้ เพราะ การทำอันตรายกับผู้ไม่เป็นอันตราย จะเป็นอันตรายใหญ่หลวง กับผู้กระทำนะครับ.
เมื่อพระต้องคอยถามโยม แล้วโยมจะศรัทธาหรือไม่ ถ้าโยมไม่ศรัทธาพระ แล้วพระจะอยู่ได้อย่างไร ? พระต้องรักษามารยาทตามพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ถ้าพระอยู่ไม่ได้ พระพุทธศาสนาก็จะหมดไปจากผืนแผ่นดินไทย ? หรือว่าเป็นความต้องการของใคร ?
ต้นไม้ใกล้ฝั่ง
23ธ.ค.2559 เวลา 20.00 น.
อ้างอิง : หนังสือเสขิยวัตร ต้นบัญญัติมารยาทไทย ตอน โภชนปฏิสังยุต