พระอนุรุทธเถระ ทำบุญด้วยอะไร ? จึงไม่รู้จักคำว่า "ไม่มี" ทำไม? จึงพูดว่า "ตายดีกว่าถ้าไม่ได้บวช"
พระอนุรุทธเถระ ทำบุญอย่างไร ? จึงไม่รู้จักคำว่า "ไม่มี" ทำไม? จึงพูดว่า "ตายดีกว่าถ้าไม่ได้บวช" และปฐมเหตุการทอดผ้าป่าในสมัยพุทธกาล ซึ่งถือปฏิบัติมาถึงปัจจุบันนี้ http://winne.ws/n8649
พระอนุรุทธเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีทิพยจักษุญาณ
พระอนุรุทธะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ผู้เป็นพระเจ้าอาของพระบรมศาสดา มีพระเชษฐา (พี่ชาย) พระนามว่า เจ้าชายมหานามะ มีพระกนิษฐภคินี (น้องสาว) พระ นามว่า พระนางโรหิณี รวมเป็น ๓ พระองค์ด้วยกัน เมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้วเสร็จมาโปรดพระประยูรญาติศากยวงศ์ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ได้มีศากยกุมารผู้มีชื่อเสียงออกบวชติดตามพระบรมศาสดาหลายพระองค์
พี่ชายชวนบวช
ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ เสด็จจาริกไปสู่มหาชนบท ประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน แขวงเมืองพาราณสี ครั้งนั้น เข้าศากยพระนามว่าเจ้าชายมหานามะ ผู้เป็นพระเชษฐา ได้ปรึกษากับเจ้าชายอนุรุทธะพระอนุชาว่า:-
“ในตระกูลของเรานี้ ยังไม่มีผู้ใดออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาเลย เราสองคนพี่ น้องนี้ ควรที่คนใดคนหนึ่งน่าจะออกบวช น้องจะบวชเองหรือจะให้พี่บวช ขอให้น้องเป็นผู้เลือก ตามความสมัครใจ ถ้าไม่มีใครบวชเลย ก็ดูเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง” เนื่องจากอนุรุทธกุมารนั้น เป็นพระโอรสองค์เล็ก พระเจ้าอมิโตทนะ พระบิดาและพระมารดามีความรักทะนุถนอมเป็นอย่างมาก เป็นกษัตริย์สุขุมมาลชาติ มีบุญมาก หมู่พระประยูรญาติทั้งหลายต่างก็โปรดปรานเอาอกเอาใจตั้งแต่แรกประสูติจนเจริญวัยสู่วัยหนุ่ม เมื่อได้ฟังเจ้าพี่มหานามะตรัสถึงเรื่องการบรรพชาอย่างนั้น จึงกราบทูลถามว่า
“เสด็จพี่ ที่เรียกว่าบรรพชานั้น คืออะไร”
“ที่เรียกบรรพชาก็คือการปลงพระเกศาและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสต์ บรรทมเหนือ พื้นดิน และบิณฑบาตเลี้ยงชีพตามกิจของสมณะ”
“เสด็จพี่ หม่อมฉันไม่เคยทุกข์ยากลำบากอย่างนั้น ขอให้เสร็จพี่บวชเองเถิด”
“อนุรุทธะ ถ้าอย่างนั้น เจ้าก็ต้องศึกษาเรื่องการงาน และการครองเรือนให้เข้าใจเป็นอย่างดี”
ไม่รู้จักคำว่า “ไม่มี”
แท้ที่จริง เจ้าชายอนุรุทธะ ได้รับการเอาอกเอาใจจากพระประยูรญาติดังกล่าว จนกระทั่งไม่ทราบเรื่องการงาน และการดำเนินชีวิตของฆราวาสเลย ยิ่งไปกว่านั้นแม้แต่คำว่า
“ไม่มี” ก็ไม่เคยได้ยินนับตั้งแต่ประสูติมา ดังมีเรื่องเล่าว่า.....ครั้งหนึ่ง เจ้าชายอนุรุทธะ พร้อมด้วยพระสหายชวนกันไปเล่นตีคลี โดยมีการตกลงกันว่า “ถ้าใครเล่นแพ้ต้องนำขนมมาเลี้ยงเพื่อน” ในการเล่นนั้นเจ้าชายอนุรุทธะ แพ้ถึง ๓ ครั้ง ในแต่ละครั้งให้คนรับใช้ไปนำขนมจากเสด็จแม่มาเลี้ยงเพื่อนตามที่ตกลงกัน ในครั้งที่ ๔ เจ้าชายอนุรุทธะ ก็เล่นแพ้อีก และก็ใช้ให้คนไปนำขนมมาจากพระมารดาอีก พระมารดาตรัสสั่ง
คนรับใช้มาบอกว่า “ขนมไม่มี” เจ้าชายอนุรุทธะ ไม่รู้ความหมายของคำว่า “ไม่มี” เข้าใจไปว่าคำนั้นเป็นชื่อของขนมชนิดหนึ่ง จึงส่งคนรับใช้ให้ไปกราบทูลแก่เสด็จแม่ว่า “ขนมไม่มีก็เอามาเถอะ”พระมารดา เข้าพระทัยทันทีว่า พระโอรสของพระองค์นั้นไม่เคยได้ยินค่ำว่า “ไม่มี” ดังนั้น จึงดำริที่จะให้โอรสของตนทราบความหมายของคำว่า “ไม่มี” นั้นว่าเป็นอย่างไร จึงนำถาดเปล่ามาทำความสะอาดแล้วปิดฝาด้วยถาดอีกใบหนึ่ง ส่งให้คนรับใช้นำไปให้พระโอรส ในระหว่างทางที่คนรับใช้ถือถาดเปล่าเดินไปนั้น เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูคิดว่า
“เจ้าชายอนุรุทธะ นี้ ได้สร้างบุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อน ครั้งที่เกิดเป็นอันนภารบุรุษ ได้ถวายอาหารที่ตนกำลังจะบริโภคแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่าอริฏฐะ แล้วได้ตั้งความปรารถนาว่า “ถ้าได้เกิดใหม่ ขออย่าให้ได้ยินคำว่า “ไม่มี” กับทั้งสถานที่เกิดของอาหาร ก็ขออย่าได้พานพบเลย”
ดังนั้น ถ้าเจ้าชายอนุรุทธะได้รู้จักคำว่า ไม่มี แล้วเราต้องถูกเทพยาดาผู้มีอำนาจเหนือกว่าลงโทษแน่” จึงเนรมิตขนมทิพย์จนเต็มถาด เจ้าอนุรุทธะและพระสหายได้เสวยขนมทิพย์มีรสโอชายิ่งนัก ซึ่งพวกไม่เคยได้เสวยมาก่อน จึงกลับไปต่อว่าพระมารดาว่า:-“ข้าแต่เสด็จแม่ ทำไมเสด็จแม่เพิ่งจะมารักลูกวันนี้เอง วันอื่น ๆ ไม่เห็นเสด็จแม่ทำขนมไม่มีให้ลูกเสวยเลย ตั้งแต่นี้ไป ลูกขอเสวยแต่ขนมไม่มีเพียงอย่างเดียว ขนมชนิดอื่นไม่ต้องทำให้อีก”
นับแต่บัดนั้นเมื่อเจ้าชายอนุรุทธะ ขอเสวยขนม พระมารดาก็จะนำถาดมาทำความสะอาดแล้วปิดฝาด้วยถาดอีกใบหนึ่งส่งไปให้ทุกครั้ง ด้วยเหตุนี้ เมื่อเจ้าพี่มหานามะ บอกให้ศึกษาเรื่องการงานการครองเรือน เจ้าชายอนุรุทธะ จึงทูลถามเจ้าพี่ว่า:-“การงานที่ว่านั้น คืออะไร ?" เรียนเรื่องการทำนาเจ้าชายมหานามะ ได้สดับคำถามของพระอนุชาดังนั้น จึงได้ยกเอาเรื่องการทำนาขึ้นมาสอน เริ่มด้วยการไถ การหว่าน การดูแลรักษา ตลอดจนการเก็บเกี่ยว การนวด และการนำเข้าเก็บในยุ้งฉาง อย่างนี้แหละ เรียกว่า “การงาน”
“เสด็จพี่ การงานนี้จะสิ้นสุดเมื่อไร ?” “ไม่มีวันสิ้นสุด เมื่อถึงฤดูกาลก็ต้องทำอย่างนี้ตลอดไป วนเวียนหาที่สุดมิได้ เจ้าชายอนุรุทธะ นั้นจะรู้เรื่องการทำนาได้อย่างไร ในเมื่อครั้งหนึ่งเคยนั่งสนทนากับพระสหายและตั้งปัญหาถามกันว่า:- “ภัตตาหารที่เราเสวยกันทุกวันนี้ เกิดที่ไหน ?” “เกิดในฉาง” เจ้าชายกิมพิละตอบ เพราะเคยเห็นคนนำข้าวออกจากฉาง “เกิดในหม้อ” เจ้าชายภัททิยะตอบ เพราะเคยเห็นคดข้าวออกจากหม้อ “เกิดในชาม” เจ้าชายอนุรุทธะตอบ เพราะทุกครั้งจะเสวยภัตตาหาร ก็จะเห็นข้าวอยู่ในชามเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเข้าใจอย่างนั้น
เมื่อใดฟังเจ้าพี่มหานามะ สอนถึงเรื่องการงาน ดังนี้แล้ว จึงเกิดการท้อแท้ขึ้นมา และ
การงานนั้นก็ไม่มีที่สิ้นสุด จึงกราบทูลเจ้าพี่มหานามะว่า
“ถ้าเช่นนั้นขอให้เสด็จพี่อยู่ครองเรือนเถิด หม่อมฉันจักบวชเอง ถึงแม้การบวชจะลำบากกว่าการเป็นอยู่ในฆราวาสนี้ ก็ยังมีภาระที่น้อยกว่า และมีวันสิ้นสุด”
ตายดีกว่าถ้าไม่ได้บวช
เมื่อตกลงกันเช่นนี้แล้ว เจ้าชายอนุรุทธะจึงเข้าไปเฝ้าพระมารดา กราบทูลให้ทรงทราบเรื่องที่ตกลงกับเจ้าพี่มหามานะ แล้ว กราบทูลขอลาบวชตามเสด็จพระบรมศาสดา พระมารดาได้ฟังก็ตกพระทัยตรัสห้ามไว้ถึง ๓ ครั้ง แต่พระโอรสก็ยืนยันจะบวชให้ได้ ถ้าไม่ทรงอนุญาตก็จะขออดอาหารจนตาย และก็เริ่มไม่เสวยอาหารตั้งแต่บัดนั้น ในที่สุดพระมารดาเห็นว่าการบวชยังมีโอกาสได้เห็นโอรสดีกว่าปล่อยให้ตาย
อนึ่ง อนุรุทธะนั้น เมื่อบวชแล้วได้รับความลำบากก็คงอยู่ได้ไม่นานก็จะสึกออกมาเองพระมารดาจึงตกลงอนุญาตให้บวช แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าเจ้าชายภัททิยะพระสหายออกบวชด้วยจึงจะให้บวช เจ้าชายอนุรุทธะดีใจรีบไปชวนเจ้าชายภัททิยะให้บวชด้วยกันโดยกล่าวว่า “การบวชของเราเนื่องด้วยท่าน ถ้าท่านบวชเราจึงจะได้บวช” อ้อนวอนอยู่ถึง ๗ วัน เจ้าชายภัททิยะจึงยอมบวชด้วย
ในครั้งนั้น เจ้าชายศากยะ ๕ พระองค์ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัคคุ และ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายฝ่ายโกลิยะ ๑ พระองค์ คือ เจ้าชายเทวทัต พร้อมด้วยอำมาตย์ช่างกัลบกอีก ๑ คน ชื่อ อุบาลี รวมเป็น ๗ เสด็จออกเดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน เมืองพาราณสี ในระหว่างทางเจ้าชายทั้ง ๖ ได้เปลื้องเครื่องประดับอันมีค่าส่งมอบให้อุบาลีช่างกัลบกที่ติดตามไปด้วย พร้อมทั้งตรัสสั่งว่า:-“ท่านจงนำเครื่องประดับเหล่านี้ไปจำหน่ายขายเลี้ยงชีพเถิด” อุบาลี รับเครื่องประดับเหล่านั้นแล้วแยกทางกลับสู่พระนครกบิลพัสดุ์ พลางคิดขึ้นมาว่า
“ธรรมดาเจ้าศากยะทั้งหลายนั้นดุร้ายนักถ้าเห็นเรานำเครื่องประดับกลับไปก็จะพากันเข้าใจว่า เราทำอันตรายพระราชกุมารแล้ว นำเครื่องประดับมาก็จะลงอาญาเราจนถึงชีวิต อนึ่งเล่า เจ้าชายศากยกุมารเหล่านี้ ยังละเสียซึ่งสมบัติอันมีค่าออกบวชโดยมิมีเยื่อใย ตัวเรามีอะไรนักหนาจึงจะมารับเอาสิ่งของที่เขาทิ้งดุจก้อนเขฬะนำไปดำรงชีพได้”
เมื่อคิดดังนั้นแล้ว จึงแก้ห่อนำเครื่องประดับทั้งหลายเหล่านั้นแขวนไว้กับต้นไม้แล้วกล่าวว่า
“ผู้ใดปรารถนาก็จงถือเอาตามความประสงค์เถิด เราอนุญาตให้แล้ว” จากนั้นก็ออกเดิน
ทางติดตามเจ้าชายทั้ง ๖ พระองค์ ไปทันที่อนุปิยอัมพวัน กราบทูลแจ้งความประสงค์ขอบวชด้วย
ให้อุบาลีกัลบกบวชก่อนเจ้าชายอนุรุทธะ
เมื่อทราบความประสงค์ของอุบาลีเช่นนั้น จึงกราบทูลพระบรมศาสดาว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์เป็นกษัตริย์ มีขัตติยมานะแรงกล้า ขอพระองค์ประทานการบรรพชาแก่อุบาลี ผู้เป็นอำมาตย์รับใช้ปวงข้าพระองค์ก่อนเถิด เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายจะได้แสดงคารวะกราบไหว้ อุบาลี ตามประเพณีนิยมของพระพุทธสาวก จะได้ปลดเปลื้อง ขัตติยมานะให้หมดสิ้นไปจากสันดาน”
พระพุทธองค์ตรัสอนุโมทนา แล้วประทานการบรรพชาแก่อุบาลีก่อนตามประสงค์ แล้วประทานการบรรพชาแก่กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ภายหลัง
เมื่อบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้วพระภัททิยะ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมไตรวิชาภายในพรรษานั้น
พระอนุรุทธะ ได้สำเร็จทิพยจักษุญาณก่อนแล้วภายหลังได้ฟังพระธรรมเทศนามหาปุริสวิตกสูตร ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
พระอานนท์ ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบันพระภัคคุ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
พระกิมพิละ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พระเทวทัต ได้บรรลุธรรมชั้นฤทธิ์ปุถุชนอันเป็นโลกิยะพระอุบาลี ศึกษาพุทธพจน์แล้ว เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ภายในพรรษานั้น
พระอนุรุทธะ เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้เรียนกรรมฐานจากพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแล้วเข้าไปสู่ป่าปาจีนวังสมฤคทายวัน ขณะเจริญสมณธรรมอยู่นั้นได้ตรึกถึงมหาปุริสวิตก ๗ ประการ คือ:-
๑ ธรรมนี้ของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความปรารถนาใหญ่
๒ ธรรมนี้ของผู้สันโดษ ยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ
๓ ธรรมนี้ของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่
๔ ธรรมนี้ของผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน
๕ ธรรมนี้ของผู้มีสติตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีสติหลง
๖ ธรรมนี้ของผู้มีใจตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีใไม่ตั้งมั่น
๗ ธรรมนี้ของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้มีปัญญาทราม
เมื่อพระเถระตรึกอยู่อย่างนี้ พระบรมศาสดาเสด็จไปยังที่อยู่ของพระเถระ ทราบว่าเธอ
กำลังตรึกอยู่อย่างนั้น ทรงอนุโมทนาว่า ดีล่ะ ดีล่ะ แล้วทรงแนะให้ตรึกใน
ข้อที่ ๘ ว่า ๘ ธรรมนี้ของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า
ได้รับยกย่องผู้มีทิพยจักษุญาณ
ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ตรัสสอนพระเถระแล้ว ได้เสด็จกลับสู่ที่ประทับ ส่วนพระอนุรุทธะ ได้บำเพ็ญสมณธรรมต่อไป ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ตั้งแต่นั้นมา ท่านได้ตรวจดูสัตว์โลกด้วยทิพยจักษุญาณเสมอ ยกเว้นขณะกำลังฉันภัตตาหารเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดา ได้ตรัสยกย่องชมเชยท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้มีทิพยจักษุญาณ
ปฐมเหตุประเพณีการทอดผ้าบังสุกุล-ผ้าป่า
สมัยหนึ่งท่านพระอนุรุทธเถระ จำพรรษาอยู่ที่เวฬุวันเมืองราชคฤห์ จีวรที่ท่านใช้อยู่นั้นเก่ามาก ท่านจึงแสวงหาผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) ตามกองขยะ กองหยากเยื่อเพื่อนำมาทำจีวร
ครั้งนั้น อดีตภรรยาเก่าของท่านชื่อ ชาลินี ซึ่งจุติได้เกิดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เห็นพระเถระแสวงหาผ้าอยู่เช่นนั้นก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงนำผ้าทิพย์มาจากสวรรค์ลงมายังโลกมนุษย์ และคิดว่า “ถ้าเราจะนำเข้าไปถวายโดยตรง พระเถระก็คงไม่รับแน่” จึงหาอุบายซุกผ้าผืนนั้นในกองขยะกองหยากเยื่อ มีชายผ้าโผล่ออกมาเพื่อให้พระเถระได้เห็น ในทางที่พระเถระกำลังเดินมุ่งหน้าไปทางนั้น
พระเถระเห็นชายผ้าผืนนั้นแล้วถึงออกมาพิจารณาเป็นผ้าบังสุกุลและคิดว่า “ผ้าผืนนี้เป็นผ้าบังสุกุลที่มีคุณค่ายิ่งนัก” แล้วนำกลับไปสู่อาราม เพื่อจัดการทำจีวร
พระพุทธองค์ช่วยเย็บจีวร
ในการทำจีวรของท่านนั้นเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระบรมศาสดาทรงพาพระมหาสาวกเป็นจำนวนมากมาร่วมทำจีวร โดยพระองค์เองทรงร้อยเข็ม พระมหากัสสปะนั่งอยู่ช่วงต้น พระสารีบุตรนั่งอยู่ตรงกลาง พระอานนท์นั่งอยู่ช่วงปลายสุด ทั้ง ๓ ท่านนี้ช่วยกันเย็บจีวร ส่วนพระภิกษุสงฆ์ที่เหลือก็ช่วยกันกรอด้าย พระมหาโมคคัลลานะ กับนางเทพธิดาชาลินี ช่วยกันไปชักชวนอุบาสกอุบาสิกาในหมู่บ้าน ให้นำภัตตาหารมาถวายพระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ประมาณ ๕๐๐ รูป การเย็บจีวรของพระอนุรุทธะสำเร็จลงด้วยดีภายในวันเดียวเท่านั้น
อนึ่ง กิริยาที่นางเทพธิดาชาลินี นำผ้าไปวางซุกไว้ในกองขยะกองหยากเยื่อ ในลักษณะทอดผ้าบังสุกุลนั้น พุทธบริษัทได้ถือเป็นแบบอย่างในการทอดผ้าบังสุกุล และทอดผ้าป่าในปัจจุบันนี้พระอนุรุทธเถระ ดำรงชนมายุมาถึงหลังพุทธปรินิพพาน
ในวันที่พระบรมศาสดานิพพานนั้น ท่านก็ร่วมอยู่เฝ้าแวดล้อม ณ สาลวโนทยานนั้นด้วย และท่านยังได้ร่วมทำกิจพระศาสนาครั้งสำคัญ ในการทำปฐมสังคายนากัลป์คณะสงฆ์โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน พระอุบาลีเถระวิสัชนาพระวินัย และพระอานนท์เถระวิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรมท่านพระอนุรุทธเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธ์ เข้าสู่นิพพาน ณ ภายใต้ร่มกอไผ่ ในหมู่บ้านเวฬุวะ แคว้นวัชชี