เปิดสมอง! ทำไมไอสไตน์ถึงเป็นอัจฉริยะ
คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์ (McMaster University) ได้เสนอรายงานผลการวิจัยสมองของไอน์สไตน์ http://winne.ws/n5639
เมื่อคณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์ (McMaster University) เมืองออนตาริโอ ประเทศแคนาดา ได้เสนอรายงานผลการวิจัยสมองของไอน์สไตน์ ในวารสารทางการแพทย์ The Lancet โดยระบุว่าจากการศึกษาเปรียบเทียบสมองของไอน์สไตน์กับสมองคนฉลาดปกติทั่วไป เป็นชาย 35 คน หญิง 56 คน พบว่าบริเวณส่วนล่างของสมองด้านข้าง (inferior parietal region) ของไอน์สไตน์ใหญ่กว่าของคนปกติธรรมดาถึง 15 เปอร์เซ็นต์ สมองบริเวณดังกล่าวอยู่ในระดับเดียวกับหู มีหน้าที่เกี่ยวกับการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์
นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกด้วยว่า ร่องสมองของไอน์สไตน์หายไปบางส่วน โดยที่สมองของคนทั่วไปจะมีร่องสมองจากส่วนหน้าต่อเนื่องไปยังสมองส่วนหลัง ซึ่งร่องที่หายไปบางส่วนนี้ อาจจะเป็นกุญแจสำคัญที่แสดงความเป็นอัจฉริยะของไอน์สไตน์ เนื่องจากทำให้เส้นประสาทและเซลล์สมองบริเวณนั้น สามารถเชื่องโยงเข้าหากันได้ง่ายขึ้น
ผลของการศึกษาวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า อัจฉริยภาพของนักทฤษฎีทางฟิสิกซ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกผู้นี้ มีมาตั้งแต่กำเนิด
อย่างไรก็ตามคณะนักวิทยาศาสตร์ทางด้านประสาทวิทยา ของมหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์ได้ชี้ว่า การค้นพบจากการศึกษา ด้านกายภาพของสมองไอน์สไตน์ครั้งนี้ไม่ได้เป็นการบรรลุจุดมุ่งหมายปลายทางของการศึกษาเรื่องสมอง พวกเขาตระหนักดีว่าสภาพแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการทางสมองเช่นกัน เพียงแต่การศึกษาสมองของไอน์สไตน์ครั้งนี้สามารถบอกได้ว่า สภาพแวดล้อมไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อพัฒนาการของสมอง
ผลการวิจัยของสมองไอน์สไตน์ที่เผยแพร่ออกมานี้ นับเป็นครั้งแรกหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปเมื่อปี 2498 ที่พรินซตัน (Princeton) รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา และสมองของเขาตกอยู่ในความครอบครองเพื่อการศึกษาของดอกเตอร์โธมัส ฮาร์วีย์(Thomas Harvey) นักพยาธิวิทยาซึ่งทำหน้าที่ชันสูตรศพเขา โดยดอกเตอร์ฮาร์วีย์ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องทั้งจากกองมรดกและบุตรชายไอน์สไตน์-Hans Albert
ดอกเตอร์ฮาร์วีย์ได้ถ่ายภาพสมองของไอน์สไตน์ พร้อมทั้งวัดขนาดไว้ นอกจากนั้นยังได้ตัดสมองออกเป็นชิ้นขนาดต่าง ๆ กัน ถึง 240 ชิ้น แต่ไม่มีผลการศึกษาวิจัยใด ๆ ออกมา
จนกระทั่งเมื่อปี 2539 ดอกเตอร์ฮาร์วีย์ได้ส่งโทรสารประโยคเดียว ไปยังมหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์ในแคนนาดา ถามว่าสนใจที่จะศึกษาสมองของไอน์สไตน์ไหม ซึ่งก็ได้รับคำตอบจากคณะนักวิจัยด้านประสาทวิทยาของที่นั่นกลับมาว่าสนใจ จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยครั้งนี้
ซึ่งก็เป็นตามความมุ่งหวังของตัวไอน์สไตน์เองที่เคยบอกไว้ในประวัติของเขาชิ้นหนึ่งว่า เขาหวังว่าจะมีการศึกษาสมองของเขาเมื่อเขาตายแล้ว
จนถึงขณะที่เขียนต้นฉบับชิ้นนี้ ยังไม่มีความเห็นในเรื่องผลการศึกษาครั้งนี้จากดอกเตอร์ฮาร์วีย์ผู้ซึ่งเก็บสมองของไอน์สไตน์ไว้นานถึง 41 ปี ก่อนที่จะส่งต่อให้กับนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์
ส่วนหัวหน้าทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์บอกว่าชั้นต่อไป พวกเขาจะทำการถ่ายภาพของบรรดานักคณิตศาสตร์ ที่มีความฉลาดหลักแหลมซึ่งมีชีวิตอยู่ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ค้นพบจากสมองของไอน์สไตน์
ขอบคุณ http://www.stjohn.ac.th/