ศาลปกครองคืออะไร มีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง
ศาลปกครองคืออะไร มีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง http://winne.ws/n3684
ศาลปกครองคืออะไร
ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
(กฎ) น. ศาลที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติอันได้แก่ คดีพิพาทที่เกิดจากการกระทำทางปกครองไม่ว่าจะเป็นคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน.
ศาลปกครอง คือ องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการเช่นเดียวกับศาลยุติธรรม แต่จะทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดี ที่เรียกว่า คดีปกครอง ศาลปกครองนั้นจะมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีพิพาทที่เกิดระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง
ซึ่งข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามกฎหมาย ออกคำสั่งหรือการกระทำอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือมีการกระทำละเมิดหรือต้องรับผิดอย่างอื่นใดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย รวมทั้งคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองด้วย
การจัดตั้งศาลปกครองขึ้น นั้น ส่วนหนึ่ง เป็นผลของ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่กำหนดให้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นอีกศาลหนึ่งที่เรียกว่า ระบบศาลคู่ คือมี ศาลยุติธรรม ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญา ที่เรียกว่า กระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและอาญา และมี ศาลปกครอง ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองที่เรียกว่า กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง (Administrative Justice)
แต่คนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจสถานะของศาลปกครอง เนื่องจากเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นพร้อมกับองค์กรใหม่ ๆ ตามรัฐธรรมนูญอีกหลายองค์กร จึงมีความเข้าใจว่าเป็นองค์กรที่จัดอยู่ในกลุ่มขององค์กรที่ชอบเรียกกันว่าเป็นองค์กรอิสระ
โครงสร้างศาลปกครอง
ศาลปกครองมีเขตอำนาจ (เขตพื้นที่ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง) และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรืออำนาจของศาลปกครอง (อำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาคดีปกครองประเภทต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด) แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ศาลปกครองสูงสุดและ ศาลปกครองชั้นต้น
อำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง
( 1 ) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎคำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
( 2 ) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
( 3 ) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดชอบอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
( 4 ) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ( 5 ) คดีที่กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
( 6 ) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
มาทำความรู้จักศาลปกครองกัน ศาลปกครองเป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นแยกออกจากศาลยุติธรรม จัดตั้งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ตามมาตรา 276 – 280 ในส่วนที่ 4 ว่าด้วยศาลปกครองประกอบด้วยอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง การแต่งตั้งตุลาการศาลปกครอง คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง การบริหารงานบุคคล และการงบประมาณ
ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แบ่งศาลปกคองออกเป็น 2 ชั้น คือ
1. ศาลปกครองสูงสุดเทียบได้กับศาลปกครองชั้นฎีกา มีแห่งเดียวอยู่ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียง มีอำนาจพิจารณาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น หรือคดีอื่นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 11 ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจพิจารณาคดี ดังนี้
1) คดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทตามที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนด
2) คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
3) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด
4) คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
2. ศาลปกครองชั้นต้น ได้แก่ ศาลปกครองครองกลางตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือในจังหวัดใกล้เคียง โดยมีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม นอกจากนี้มีอำนาจในระหว่างที่ศาลปกครองในภูมิภาคยังมิได้มีเขตอำนาจ หรือยังมิได้จัดตั้ง
ศาลปกครองชั้นต้นอีกประเภทหนึ่งคือ ศาลปกครองในภูมิภาคมีทั้งหมด 16 แห่ง คือ ศาลปกครองขอนแก่น ศาลปกครองชุมพร ศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลปกครองนครราชสีมา ศาลปกครองนครศรีธรรมราช ศาลปกครองบุรีรัมย์ ศาลปกครองพิษณุโลก ศาลปกครองแพร่ ศาลปกครองยะลา ศาลปกครองระยอง ศาลปกครองลพบุรี ศาลปกครองสกลนคร ศาลปกครองสงขลา ศาลปกครองสุพรรณบุรี ศาลปกครองอุครธานี และศาลปกครองอุบลราชธานี
ศาลปกครองชั้นต้นทั้ง 16 แห่งที่กล่าวมาตั้งอยู่ในจังหวัดตามชื่อศาล และมีอำนาจในเขตใกล้เคียง ดังเช่น ศาลปกครองจังหวัดระยอง ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง มีเขตตลอดท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว หรือศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ มีเขตตลอดท้องที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูนส่วนการฟ้องคดีปกครองนั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 42 ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 9 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อน หรือความเสียหาย หรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับที่กำหนดในมาตรา 72 ผู้นั้นมีสิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
ลักษณะการฟ้องและการมอบอำนาจ มาตรา 45 โดยคำฟ้องใช้ถ้อยคำสุภาพ และในคำฟ้องต้องประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้คือ
1 .ชื่อและที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี
2. ชื่อหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี
3. การกระทำทั้งหลายที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีพร้อมทั้งข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์ตามสมควรเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว
4. คำของผู้ฟ้องคดี
5. ลายมือชื่อผู้ฟ้องคดี ถ้าเป็นการยื่นฟ้องคดีแทนผู้อื่นจะต้องแนบใบมอบฉันทะให้ฟ้องคดีมาด้วย
คำฟ้องใดมีรายการไม่ครบตามวรรคหนึ่ง หรือไม่ชัดเจนหรือไม่อาจเข้าใจได้ ให้สำนักงานศาลปกครองให้คำแนะนำแก่ผู้ฟ้องคดีเพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องนั้นให้ถูกต้อง ในการนี้ให้ถือวันที่ยื่นฟ้องครั้งแรกเป็นหลักในการนับอายุความ
ในกรณีที่มีผู้ประสงค์จะฟ้องคดีปกครองหลายคนในเหตุเดียวกัน บุคคลเหล่านั้นอาจจะยื่นคำฟ้องร่วมกันเป็นฉบับเดียวกัน โดยจะมอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีคนใดเป็นผู้แทนของผู้ฟ้องคดีทุกคนในการดำเนินคดี ในกระบวนพิจารณาผูกพันผู้ฟ้องคดีทุกคน
ในการดำเนินกระบวนการพิจารณา คู่กรณีจะดำเนินการทั้งปวงด้วยตนเอง หรือจะมอบอำนาจให้ทนายความหรือบุคคลอื่นซึ่งมีคุณสมบัติตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดกำหนดเพื่อฟ้องคดีหรือดำเนินการแทนได้
ในโอกาสต่อไปจะมานำเสนอเกี่ยวกับศาลปกครองในเรื่องเกี่ยวกับอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองและลักษณะการฟ้องคดีปกครอง สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ
เอกสารอ้างอิง
ว่าที่ร้อยตรี สนิทศักดิ์ สนิทศักดิ์ดี “ศาลปกครอง” ใน ยุทธโกษ ปีที่ 110 ฉบับที่ 2 ประจำ
เดือนมกราคม – มีนาคม พ.ศ. 2545.การดำเนินคดีในศาลปกครอง
การดำเนินคดีในศาลปกครองนั้น การแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้ได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะนิติสัมพันธ์ระหว่างทางราชการกับเอกชนไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ต้องใช้ระบบวิธีพิจารณาแบบไต่สวนดังที่กล่าวมาแล้ว ควบคู่กับหลักการให้สิทธิโต้แย้งหรือหลักการฟังความสองฝ่าย ด้วยเหตุนี้ หากผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้อย่างเต็มที่ เพราะเอกสารหลักฐานอยู่ในความครอบครองของทางราชการ ก็สามารถระบุเหตุขัดข้องเพื่อที่ศาลจะดำเนินการให้ได้พยานหลักฐานนั้นต่อไป หรือเมื่อทางราชการมีคำชี้แจงหรือข้อโต้แย้งอย่างใด จะต้องให้ผู้ฟ้องคดีได้รับทราบโดยผู้ฟ้องคดีสามารถชี้แจงแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งเสนอพยานหลักฐานของตนได้ และในการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกก็ยังเปิดโอกาสให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำแถลงของฝ่ายตน และอาจมาแถลงด้วยวาจาต่อหน้าศาลได้อีกด้วย
นอกจากนั้น ระบบวิธีพิจารณาคดีปกครองยังให้มีการถ่วงดุลการใช้อำนาจระหว่างตุลาการศาลปกครองด้วยกัน เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ถูกต้องของข้อเท็จจริง กล่าวคือ โดยหลักแล้ว ตุลาการเจ้าของสำนวน จะเป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการแสวงหาและรวบรวมข้อเท็จจริง แต่จะต้องเสนอข้อเท็จจริงนั้นต่อตุลาการอื่นที่ประกอบเป็นองค์คณะ และต่อ ตุลาการผู้แถลงคดี ซึ่งมิใช่ตุลาการในองค์คณะนั้นได้พิจารณาด้วย สำหรับในส่วนของการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดี ตุลาการผู้แถลงคดี จะเสนอ คำแถลงการณ์ ซึ่งรวมถึงความเห็นในทางชี้ขาดตัดสินคดีต่อองค์คณะก่อนที่องค์คณะจะลงมติวินิจฉัย อันเปรียบเสมือนเป็นความเห็นของตุลาการคนเดียวว่า หากตนมีหน้าที่ต้องตัดสินคดีเรื่องนั้นตนจะพิพากษาอย่างไร ด้วยเหตุผลประการใด ซึ่งแม้ว่าคำตัดสินขององค์คณะเท่านั้นที่จะถือเป็นคำพิพากษา แต่การให้มีระบบการเสนอ คำแถลงการณ์ ของตุลาการผู้แถลงคดีต่อองค์คณะเช่นนี้ จะช่วยส่งเสริมให้การใช้อำนาจตัดสินคดีขององค์คณะมีความรอบคอบและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะหากองค์คณะไม่เห็นด้วยกับคำแถลงการณ์ โดยหลักก็จะต้องแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่หนักแน่นและน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะจะมีการเปรียบเทียบข้อวินิจฉัยและเหตุผลของตุลาการผู้แถลงคดีและขององค์คณะได้ง่าย เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้มีการพิมพ์เผยแพร่คำพิพากษาขององค์คณะและคำแถลงการณ์ของผู้แถลงคดีควบคู่กันเสมอเขตอำนาจศาลปกครอง
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 94 บัญญัติว่า ในวาระเริ่มแรก ให้จัดตั้งศาลปกครองในภูมิภาค ดังต่อไปนี้
(1) ศาลปกครองขอนแก่น ตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม
(2) ศาลปกครองชุมพร ตั้งอยู่ในจังหวัดชุมพร โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดชุมพร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดระนอง
(3) ศาลปกครองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน
(4) ศาลปกครองนครราชสีมา ตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดนครราชสีมา
(5) ศาลปกครองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดกระบี่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
(6) ศาลปกครองจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์
(7) ศาลปกครองพิษณุโลก ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดตาก จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดสุโขทัย
(8) ศาลปกครองแพร่ ตั้งอยู่ในจังหวัดแพร่ โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ และจังหวัดอุตรดิตถ์
(9) ศาลปกครองยะลา ตั้งอยู่ในจังหวัดยะลา โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา
(10) ศาลปกครองระยอง ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดจันทบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดตราด จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดสระแก้ว
(11) ศาลปกครองลพบุรี ตั้งอยู่ในจังหวัดลพบุรี โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดนครนายก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง
(12) ศาลปกครองสกลนคร ตั้งอยู่ในจังหวัดสกลนคร โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดสกลนคร
(13) ศาลปกครองสงขลา ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล
(14) ศาลปกครองสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอุทัยธานี
(15) ศาลปกครองอุดรธานี ตั้งอยู่ในจังหวัดอุดรธานี โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานี
(16) ศาลปกครองอุบลราชธานี ตั้งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีเขตตลอดท้องที่จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง
ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา "คดีปกครอง" ซึ่งได้แก่ คดีในลักษณะ ดังต่อไปนี้
1. คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำทางปกครองฝ่ายเดียว อันได้แก่ การใช้อำนาจที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถดำเนินการได้เองฝ่ายเดียวโดยไม่จำเป็นต้องให้เอกชนยินยอมเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ เช่น กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ระเบียบข้อบังคับต่างๆที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป หรือการออกคำสั่งทางปกครอง เช่น คำสั่งอนุญาต อนุมัติ คำสั่งแต่งตั้ง ฯลฯ
2. คดีพิพาทอันเนื่องมาจากสัญญาทางปกครอง เช่น สัญญาสัมปทาน สัญญาที่หน่วยงานของรัฐจ้างให้เอกชนสร้างสะพาน สร้างถนน
3. มาจากการกระทำละเมิดทางปกครอง หรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ เช่น ทางราชการออกคำสั่งปิดโรงงานและก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของโรงงาน หรือเจ้าหน้าที่ละเลยหรือต่อใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการล่าช้าเกินสมควรจนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย
4. คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เช่น ในเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดเวลาให้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน หรือแม้กระทั่งในเรื่องที่กฎหมายไม่ได้กำหนดเวลาเอาไว้ แต่โดยปกติสามารถดำเนินการให้เสร็จในระยะเวลาหนึ่ง แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการใดๆจนเวลาล่วงเลยไปหลายเดือน
5. คดีพิพาททางปกครองอื่น ๆ เช่น คดีที่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะว่าให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง หรือให้หน่วยงานทางปกครองต้องฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับบุคคลให้กระทำหรือละเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด คดีปกครองเหล่านี้ กฎหมายกำหนดว่า ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลปกครองชั้นต้น
สำหรับศาลปกครองสูงสุดนั้น กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังต่อไปนี้
1. คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
2. คดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท
3. คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
4. คดีที่กฎหมายกำหนดไว้เฉพาะให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุดกล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือ ศาลปกครองชั้นต้นจะเป็นศาลที่มีอำนาจทั่วไปในการพิจารณาคดีปกครอง โดยเป็นศาลแรกที่คู่กรณีจะนำคดีมาฟ้อง ส่วนศาลปกครองสูงสุดก็จะเป็นศาลสูง ที่คอยตรวจสอบคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นอีกครั้งหนึ่งหากคู่กรณีไม่พอใจคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น และเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีบางประเภทที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ
ส่วนเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่ เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร เรื่องการดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) หรือคดีที่อยู่ในอำนาจศาลชำนัญพิเศษ เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และศาลล้มละลาย
การฟ้องคดีปกครอง
การฟ้องคดีถือหลักว่าให้กระทำได้โดยง่าย ไม่มีข้อยุ่งยาก
การฟ้องคดีปกครองนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ซับซ้อนให้เป็นภาระแก่ผู้ประสงค์จะฟ้องคดี เว้นแต่เงื่อนไขบางประการที่ต้องกำหนดเป็นกรอบในการดำเนินคดี อีกทั้งยังเสียค่าใช้จ่ายน้อยหรืออาจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย และยังไม่บังคับให้ต้องมีทนายความในการฟ้องคดีอีกด้วย
เงื่อนไขในการฟ้องคดี
ถึงแม้ว่าการฟ้องคดีปกครองจะกระทำได้โดยง่าย แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องกำหนดเงื่อนไขบางประการเอาไว้ ทั้งนี้ เพื่อมิให้มีการกลั่นแกล้งฟ้องคดีกันอย่างพร่ำเพรื่อหรือโดยไม่มีมูลใดๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ถูกฟ้องคดีและยังเป็นภาระแก่ศาล หรือเพื่อให้การแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายเป็นระบบและมีความชัดเจน เงื่อนไขเหล่านี้ กฎหมายกำหนดไว้เพียง 4 ประการเท่านั้น ได้แก่
1. ผู้ฟ้องคดี
ต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของทางราชการ หรือเป็นผู้ที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือเป็นผู้ที่มีข้อโต้แย้งอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้ฟ้องต่อศาลปกครอง
2. ระยะเวลาการฟ้องคดี
ต้องฟ้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งโดยหลัก คือ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือภายใน 1 ปี ในกรณีที่ฟ้องคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของทางราชการ หรือในกรณีที่ฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
3. คำฟ้อง
ไม่มีแบบฟอร์มบังคับโดยเฉพาะ เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าต้องใช้ถ้อยคำสุภาพและต้องมีเนื้อหาสาระให้เข้าใจได้ว่าเป็นคำฟ้อง ซึ่งประกอบด้วยชื่อและที่อยู่ของผู้ฟ้องคดีและของหน่วยงานที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี การกระทำที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี พร้อมข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามสมควร คำขอว่าประสงค์จะให้ศาลสั่งอย่างไรเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายของตน และต้องลงลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดี
4. การขอให้มีการแก้ไขเยียวยาในเบื้องต้นก่อนนำเรื่องมาฟ้องศาลปกครอง
หากในเรื่องที่จะฟ้องคดีนั้นมีกฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการอย่างใดเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายนั้นเสียก่อน ผู้ฟ้องคดีก็ต้องดำเนินการเช่นนั้นให้เสร็จสิ้นแล้วจึงจะมีสิทธิมาฟ้องคดีต่อศาลได้
การยื่นฟ้องนอกจากสามารถยื่นฟ้องได้ด้วยตนเองต่อเจ้าหน้าที่ของศาลปกครองแล้ว ผู้ฟ้องคดีอาจใช้วิธีส่งคำฟ้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้
ส่วนปัญหาที่ว่าจะต้องยื่นฟ้องต่อศาลใดนั้น ถ้าเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองชั้นต้น ก็ถือหลักง่ายๆว่าจะต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นที่ผู้ฟ้องคดีมีภูมิลำเนา หรือที่มูลคดีเกิดขึ้น ถ้าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุดก็ต้องยื่นฟ้องโดยตรงต่อศาลปกครองสูงสุด เว้นแต่การยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำพิพากษานั้นๆ
การระงับการขัดแย้งกันแห่งอำนาจหน้าที่และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองและศาลอื่น
เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 บัญญัติให้จัดตั้งศาลปกครองขึ้น ตามหลักการของระบบศาลคู่โดยมีศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดเป็นเอกเทศและคู่ขนานกับระบบศาลยุติธรรมซึ่งในประเทศที่มีระบบศาลหลายระบบ อาจเกิดปัญหาการขัดแย้งกันแห่งอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลระบบต่างๆ และการขัดแย้งกันแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งอันเป็นที่สุดของศาลระบบต่าง ๆจึงมีความจำเป็นต้องสร้างกระบวนการระงับการขัดแย้งกันแห่งอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลระบบต่างๆ และการขัดแย้งกันแห่งคำพิพากษา หรือคำสั่งอันเป็นที่สุดของศาลระบบต่าง ๆ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ. 2542 ขึ้น พระราชบัญญัติฉบับนี้ บัญญัติให้มี “คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล”มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาการขัดแย้งกันแห่งอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรมศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้และมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดการขัดแย้งกันแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งอันเป็นที่สุดของศาลเหล่านี้ด้วย[9]
จะเห็นได้ว่ากระบวนการพิจารณาวินิจฉัยคดีปกครองในประเทศไทยมีวิวัฒนาการมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานกว่าจะมาเป็นศาลปกครองอย่างในปัจจุบันโดยได้มีการผสมผสานระหว่างแนวความคิดจากพื้นฐานประเพณีสังคมแบบดั้งเดิมของประเทศไทยกับแนวความคิดซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศเพื่อก่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาและค่อย ๆพัฒนาเพื่อให้ประชาชนและประเทศชาติเกิดความพร้อมควบคู่กันไป โดยจุดมุ่งหมายก็เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เมื่อเกิดคดีพิพาททางปกครองและเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนทุกคนอย่างสูงสุด
บทความเรื่องนี้คัดมาจากเวบไซด์ของ ศาลปกครอง
http://www.lawyerthai.com/ศาลปกครอง
อ้างอิง:คณิน บุญสุวรรณ. (2548). ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ.
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ศาลปกครอง-wiki.kpi.ac.th