ตายไป... แบบไร้พินัยกรรม ใคร คือ ผู้รับมรดก
เมื่อเราตายไป ทรัพย์สินทุกอย่างที่เป็นของเราจะถูกนับรวมๆ กันเป็น “กองมรดก” และถูกส่งมอบไปยังผู้รับมรดก ซึ่งหากเราได้เขียนพินัยกรรมไว้จะเรียกคนรับมรดกว่า “ผู้รับพินัยกรรม” แต่ถ้าไม่ได้เขียนไว้ก็จะตกทอดไปยัง “ทายาทโดยธรรม” ซึ่งก็คือญาติๆ ของเรานั่นเอง http://winne.ws/n10584
เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และจากไป คือ สัจธรรมของโลก ไม่มีใครหลีกหนี “ความตาย” ไปได้ เพียงแต่การจากไปของแต่ละคนจะมีสิ่งที่เหลือไว้ไม่เหมือนกัน การจากไปของคนบางคนทำให้คนข้างหลังตื่นรู้ การจากไปของคนบางคน แม้ร่างกายดับสูญไปแล้ว แต่ความดีที่ทำไว้ไม่เคยจางหายไปไหน
นอกจากความดีที่เราจะเหลือไว้แล้ว บางคนยังมี “มรดก” จำนวนหนึ่งเหลือทิ้งไว้ให้คนข้างหลังด้วย ซึ่งหากไม่ต้องการให้เกิดความสับสนวุ่นวายในภายหลัง ควรจะทำพินัยกรรม เพื่อแจกแจงว่า จะยกอะไรให้กับใครบ้าง
แต่หากจากไปแบบไม่มีพินัยกรรมก็ไม่ต้องกังวลมากเท่าไร เพราะกฎหมายให้ความยุติธรรมเสมอ
กองมรดก
เมื่อเราตายไป ทรัพย์สินทุกอย่างที่เป็นของเราจะถูกนับรวมๆ กันเป็น “กองมรดก” และถูกส่งมอบไปยังผู้รับมรดก ซึ่งหากเราได้เขียนพินัยกรรมไว้จะเรียกคนรับมรดกว่า “ผู้รับพินัยกรรม” แต่ถ้าไม่ได้เขียนไว้ก็จะตกทอดไปยัง “ทายาทโดยธรรม” ซึ่งก็คือญาติๆ ของเรานั่นเอง
แต่ถ้าเราแต่งงานแล้วก็จะต้องมาเคลียร์ให้ชัดก่อนว่าเป็นทรัพย์สินของเราจริงๆ ไม่ได้มีส่วนของคู่สมรสรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นกองมรดกจะมีเฉพาะทรัพย์สินส่วนตัว กับสินสมรสอีกครึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ กองมรดก ไม่ได้มีแต่ทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหน้าที่ และความรับผิดด้วย เพียงแต่ทายาท หรือ ผู้รับมรดกไม่จำเป็นต้องรับผิดเกินทรัพย์มรดกที่ได้รับ เช่น ได้รับมรดก 10 ล้านบาท แต่เจ้ามรดกมีหนี้ 15 ล้านบาท ก็รับผิดชอบภาระหนี้เพียง 10 ล้านบาทเท่านั้น
ในกรณีที่เจ้ามรดกเป็นพระภิกษุที่ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินจะตกเป็นของวัดที่เป็นภูมิลำเนา แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนที่จะมาบวชจะตกเป็นของทายาท ขณะที่ทายาทโดยธรรมที่บวชเป็นพระภิกษุจะมาเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกไม่ได้ ถ้าต้องการได้รับมรดกต้องสึกออกมาก่อน
ลำดับญาติ ทายาทโดยธรรม
ถ้าเราไม่ทำพินัยกรรมทรัพย์มรดกจะตกไปเป็นของ “ทายาทโดยธรรม” ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท
ประเภทแรก คือ คู่สมรส ซึ่งต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย
ประเภทที่สอง คือ ทายาทที่เป็นญาติของเรา ซึ่งมีอยู่ 6 ลำดับ จึงต้องมา “ลำดับญาติ” กันก่อนว่า ใครบ้างที่จะมีสิทธิได้รับมรดกของเราบ้าง
ทายาทอันดับ 1 คือ ผู้สืบสันดาน ได้แก่ ลูก โดยจะได้ทั้งลูกที่แท้จริง หรือลูกบุญธรรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากลูกเสียชีวิตไปก่อนมรดกจะตกไปถึงหลาน เหลน ลื่อ และต่อๆ ไปจนสุดสาย
ทายาทอันดับ 2 คือ พ่อแม่ของเรา โดยต้องเป็นพ่อแม่ที่ให้กำเนิด แต่มีข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นพ่อแม่บุญธรรม หรือพ่อที่แม้จะเป็นผู้ให้กำเนิดแต่ไม่ได้รับรองบุตรก็ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของลูก
ทายาทอันดับ 3 คือ พี่น้องพ่อแม่เดียวกัน
ทายาทอันดับ 4 คือ พี่น้องคนละพ่อ หรือคนละแม่
ทายาทอันดับ 5 คือ ปู่ ย่า ตา ยาย
ทายาทอันดับ 6 คือ ลุง ป้า น้า อา
กรณีที่มีคู่สมรส แต่ไม่มีทายาทอื่นเลย มรดกจะตกเป็นของคู่สมรสทั้งหมด แต่ถ้ามีคู่สมรสและทายาทจะต้องมาดูลำดับญาติประกอบกัน ถึงจะบอกได้ว่า ใครจะได้รับมรดกกันไปจำนวนเท่าไรบ้าง โดยหลักการง่ายๆ คือ “ญาติสนิทตัดสิทธิญาติห่าง” นั่นคือ หากมีญาติในลำดับต้นๆ แล้ว ลำดับถัดไปจะถูกตัดสิทธิออกไปทันที เช่น มีทายาทลำดับ 1 และ 2 แล้ว ทายาทลำดับถัดไปจะไม่มีสิทธิได้รับมรดก
ยกเว้นแต่คู่สมรส ลูก และพ่อแม่ จะไม่ตัดสิทธิกัน แปลว่า มีสิทธิได้รับมรดกเท่าๆ กัน (โดยที่คู่สมรสจะได้รับครึ่งหนึ่งของสินสมรสไปด้วย)
ทายาทลำดับนี้มีสิทธิเท่าไร
เพื่อความเข้าใจมากขึ้น ขอยกตัวอย่างบางกรณีให้พอเป็นแนวทางจะได้สบายใจว่า เมื่อเราจากไปใครจะได้รับมรดกไปเท่าไรกันบ้าง
กรณีที่ 1 มีคู่สมรส และทายาทลำดับ 1 คือ ลูก จะต้องนำทรัพย์มรดกมาหารเท่าๆ กันตามจำนวนคนที่มีอยู่ เช่น มีภรรยาและลูก 3 คน ต้องนำทรัพย์สินมาหาร 4 โดยแต่ละคนจะได้รับมรดกไปคนละ 1/4 เท่ากัน
กรณีที่ 2 มีคู่สมรส และทายาทลำดับ 2 คือ พ่อแม่ (ไม่มีลูก) ในกรณีนี้ คู่สมรสได้รับมรดกไปครึ่งหนึ่งของกองมรดก และเหลืออีกครึ่งหนึ่ง พ่อแม่จะได้รับไปคนละเท่าๆ กัน
กรณีที่ 3 มีคู่สมรส ลูก และพ่อแม่ กรณีนี้จะคล้ายกับกรณีที่ 1 คือ ต้องนำมรดกมาแบ่งเป็นส่วน โดยแต่ละคนจะได้รับไปเท่าๆ กัน เช่น มีภรรยา ลูก 2 คน และพ่อแม่ จะต้องนำทรัพย์มรดกมาหาร 5 ส่วนแล้วจึงแบ่งกันไป
กรณีที่ 4 มีคู่สมรส ไม่มีลูก และพ่อแม่ก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว เหลือแต่มีพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน (ทายาทลำดับ 3) ในกรณีนี้ คู่สมรสได้รับมรดกไปคนเดียวครึ่งหนึ่ง และเหลืออีกครึ่งหนึ่งจึงนำไปให้พี่น้องพ่อแม่เดียวกันแบ่งเท่าๆ กัน และหากพี่น้องคนใดเสียชีวิตก่อนเจ้ามรดก ทรัพย์สินตามสิทธินั้นจะตกไปที่ลูกหลานของคนนั้น
กรณีที่ 5 มีคู่สมรส พ่อแม่เสียชีวิตแล้ว ไม่มีพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน แต่พ่อหรือแม่มีอีกครอบครัวหนึ่ง ทำให้มีพี่น้องคนละพ่อหรือแม่ ซึ่งเป็นทายาทลำดับ 4 ที่มีส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกร่วมกับคู่สมรสด้วย แต่จะได้รับไปเพียง 1/3 ของกองมรดก (ไม่ว่าจะมีกี่คนก็ตาม) ขณะที่คู่สมรสได้รับมรดก 2/3
กรณีที่ 6 มีคู่สมรส พ่อแม่เสียชีวิตแล้ว ไม่มีพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่เดียวกัน หรือคนละพ่อคนละแม่ เหลือก็แต่ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งเป็นทายาทลำดับ 5 ในกรณีนี้คู่สมรสได้รับมรดก 2/3 และอีก 1/3 จะแบ่งให้กับปู่ ย่า ตา ยาย คนละเท่าๆ กัน
กรณีที่ 7 มีคู่สมรส ไม่มีทายาทลำดับ 1-5 เหลืออยู่เลย จะมีก็แต่ลุง ป้า น้า อา ซึ่งเป็นทายาทลำดับ 6 ในกรณีนี้คู่สมรสได้รับมรดก 2/3 อีก 1/3 ลุง ป้า น้า อา จะนำมาแบ่งเท่าๆ กัน
นอกจากนี้ ในบางกรณีกฎหมายยังให้โอกาสทายาทของทายาทมารับมรดกแทน หากทายาทโดยธรรมตัวจริง (ได้แก่ทายาทลำดับที่ 1, 3, 4 และ 6) เสียชีวิตไปก่อนเจ้ามรดก ซึ่งเรียกว่า “ผู้รับมรดกแทนที่” เช่น ทายาทลำดับ 1 ถ้ามีลูก ลูกก็จะได้ไป แต่ถ้าลูกเสียชีวิตก่อนเจ้ามรดกก็จะตกไปที่หลาน
แต่ถ้าเป็นคนไร้คู่ แถมยังไม่มีทายาทโดยธรรมสักคนเดียว แถมยังไม่ได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของแผ่นดิน เพราะฉะนั้นหากต้องการจะยกทรัพย์สินให้ใครเป็นพิเศษอย่าลืมเขียนพินัยกรรม
สำหรับคนที่อยู่ๆ ก็กลายเป็น “ทายาทโดยธรรม” จะต้องรู้ด้วยว่า ไม่ได้มีแต่ได้ทรัพย์สิน แต่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วย ซึ่งครั้งหน้าจะมาดูกันว่า “ภาษีการรับมรดก” มีรายละเอียดอะไรบ้าง