สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
เสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นสิทธิตามธรรมชาติจะล่วงละเมิดไม่ได้ และเป็นสิทธิศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ทุกคนต้องให้การรับรองและคุ้มครอง โดยรัฐจะต้องทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม http://winne.ws/n11082
สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
เสรีภาพทางศาสนาในประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีการปกครองรูปแบบใดก็ให้ความสำคัญแก่เสรีภาพในศาสนาของประชาชนทั้งสิ้น โดยตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานสองประการ คือ
1. เสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นสิทธิตามธรรมชาติจะล่วงละเมิดไม่ได้ และเป็นสิทธิศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ทุกคนต้องให้การรับรองและคุ้มครอง
2. เป็นหลักความจริงว่าเสรีภาพในศาสนาไม่มีใครจะใช้เสรีภาพอยู่เหนือผู้อื่น ทุกคนมีสิทธิและหน้าที่เท่าเทียมกัน โดยรัฐจะต้องทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม ถึงต้องเข้ามาจัดระเบียบการใช้เสรีภาพในทางศาสนาของประชาชนและ ป้องกันไม่ให้การใช้เสรีภาพของประชาชนคนหนึ่งกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของผู้อื่น
โดยรัฐจะไปจำกัดหรือแทรกแซงเสรีภาพในศาสนาของประชาชนจนเกินขอบเขตจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไม่ได้ หากแต่จะต้องกำหนดไว้ให้ชัดเจน เนื่องจากเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนามีบทบาทสำคัญทางสังคม การจัดระเบียบความสงบเรียบร้อยของประชาชนและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จึงเป็น สิ่งสำคัญที่รัฐจะช่วยให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างศาสนา หากไม่ได้รับความใส่ใจจากภาครัฐแล้ว ปัญหาดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างศาสนาได้
"บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามวรรคหนึ่งบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใด ๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนาหรือปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น"
มาตรา 37 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 3 สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
เสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาหรือ ความเชื่อ ในที่นี้นั้นหมายรวมถึงเสรีภาพในการยึดมั่นศรัทธาหรือมีความเชื่อที่แตกต่างจากบุคคลอื่น ในหลักการทางศาสนาหรือความเชื่อใด ๆ หรือเสรีภาพที่จะไม่นับถือศาสนาใด ๆ เสรีภาพในการ นับถือศาสนาจำเป็นต้องมีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา สิทธิที่จะคงไว้ในความเชื่อถือศรัทธา จึงไม่มีบุคคลใดที่จะถูกบังคับให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่เสรีภาพในการเลือกถือศาสนาด้วยมาตรการใด ๆ หรือให้นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
อย่าปล่อยให้สวยหรูแค่ตัวหนังสือ แต่ขาดความศักดิ์สิทธิ์ด้วยการไม่นำมาใช้
เสรีภาพในการนับถือศาสนาในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยนั้นเริ่มกล่าวถึงเสรีภาพต่าง ๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญไทยฉบับแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาไว้ในมาตรา 13 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 หมวด 2 ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของ ชนชาวสยามความว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการ ถือศาสนาหรือลัทธิใด ๆ และย่อมมีเสรีภาพ ในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความนับถือของตน เมื่อไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมของประชาชน”
แนวความคิดการให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการ นับถือศาสนานี้เกิดจากคณะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่าการให้เสรีภาพในประเทศไทยไม่มีความชัดเจนแน่นอน ซึ่งไม่อาจเป็นการให้หลักประกันของประชาชนได้ จึงจำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่าผู้ปกครองจะละเมิดมิได้ และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
รัฐธรรมนูญไทยฉบับ หลัง ๆ ทุกฉบับก็ได้วางหลักประกันสิทธิเสรีภาพ ในศาสนาตลอดมาเสรีภาพในการนับถือศาสนาในประเทศไทย มีลักษณะเช่นเดียวกันกับเสรีภาพในเรื่องอื่น ๆ ตามที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติรับรองไว้ กล่าวคือ เสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยเนื้อหาของการใช้เสรีภาพแล้วเป็นเสรีภาพที่สมบูรณ์และไม่อนุญาตให้มีการจำกัดใด ๆ ได้เลย รัฐหรือหน่วยงานของรัฐไม่มีอำนาจแทรกแซงเสรีภาพในการถือศาสนา
แต่การใช้เสรีภาพจะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย หากมีการใช้เสรีภาพที่ไม่ชอบย่อมจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังได้วางหลักไว้ว่าบุคคลจะไม่นับถือศาสนาใด ๆ เลยก็ได้ รัฐจะบังคับให้ราษฎรนับถือศาสนาใด ศาสนาหนึ่งก็ไม่ได้ และยังได้วางหลักประกันความเป็นธรรมต่อบุคคลที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างได้เปรียบหรือเสียเปรียบ
อันเนื่องมาจากความเชื่อทางศาสนาของตน ที่วางหลักไว้เช่นนี้เป็นการนำกรณีที่เคยมีปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล มาบัญญัติให้ชัดแจ้งว่าจะเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุความเชื่อทางศาสนาไม่ได้
อ้างอิง :
นางริยา เด็ดขาด, เสรีภาพในการถือศาสนา และ การเผยแพร่ศาสนาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2546.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, หลักกฎหมายว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิญญูชน, พ.ศ. 2547.
กุลพล พลวัน, สิทธิมนุษยชนในสังคมโลก, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม, พ.ศ. 2547.
ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/เสรีภาพทางศาสนา
สถานการณ์ในปัจจุบัน จะเป็นที่น่าสังเกตว่า มีหลายหน่วยงาน มีพฤติกรรม ความคิด ส่อเจตนาในทางไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ได้ระบุไว้ ในเรื่อง เสรีภาพในการนับถือศาสนาของชาวพุทธ ดังที่เป็นข่าวลงหน้าหนังสือพิมพ์ ทีวี และสื่อออนไลน์ จำนวนมาก ล้วนล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพในวิธีปฏิบัติทั้งด้านความเชื่อ คำสอน ศาสนพิธีเช่นการบูชาข้าวพระ ของวัดใหญ่วัดหนึ่ง ในจังหวัดปทุมธานี ว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งข้อนี้ ผมเห็นว่า เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลมากกว่าครับ ว่าใคร สำนักไหน จะมีวิธีสร้างศรัทธาอย่างไร กับลูกศิษย์ของท่าน
ดังนั้น ผมขอร้องเถอะครับ สื่อบางฉบับ บุคคลที่พยามยาม ทำเรื่องที่ไม่ชัดเจนว่าผิดจริงหรือไม่ ว่าเป็นความผิด ทั้งที่ยังไม่ได้สอบสวนอะไรเลย สิทธิที่จะมีความเชื่อหรือการปฏิบัติอย่างไร ? ก็ทำไป ไม่สมควรมาวิพากษ์วิจารณ์ การปฏิบัติของบุคคลในศาสนาหรือความเชื่อที่ไม่ตรงกับความเห็นส่วนตนเองว่าผิด เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลนะครับ มิเช่นนั้น อาจได้รับข้อหา ผิดกฎหมายดังกล่าวได้นะครับ
ต้นไม้ใกล้ฝั่ง
8 ธ.ค. 2559 เวลา 13.22 น.