เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะเติบโตในสภาพแวดล้อมครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่
เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะเติบโตในสภาพแวดล้อมครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่ ร่วมสร้างแผนงานเพื่อป้องกันการแยกเด็กออกจากครอบครัวและส่งเสริมการจัดบริการเพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของครอบครัว http://winne.ws/n28420
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ประเทศไทย ร่วมกันจัดการประชุมระดับชาติเรื่องการเลี้ยงดูทดแทน เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ด้านการเลี้ยงดูทดแทนในประเทศไทย และเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว เพื่อป้องกันการพรากเด็กออกจากครอบครัวโดยไม่จำเป็น
ทั้งนี้ ผลการประชุมจะนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายและกระบวนการพัฒนาระบบการเลี้ยงดูทดแทนที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพสำหรับเด็กทุกคนในประเทศไทย
เนื่องในวันสิทธิเด็กสากล (20 พฤศจิกายน) ประจำปี 2564 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย กลุ่มการเลี้ยงดูทดแทน และองค์การยูนิเซฟ จัดการประชุมระดับชาติด้านการเลี้ยงดูทดแทน เรื่อง "เด็กอยู่ในครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่" เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการทำให้เด็กทุกคนในประเทศไทยมีสิทธิที่จะเติบโตในสภาพแวดล้อมครอบครัวที่ปลอดภัยและได้รับการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว
การประชุมครั้งนี้มุ่งหารือแนวทางการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายระดับชาติเพื่อสนับสนุนการการทำหน้าที่ของครอบครัว และป้องกันการแยกเด็กออกจากครอบครัวโดยไม่จำเป็น โดยจะมีการหารือกับผู้เข้าร่วมประชุมถึงการดำเนินงานที่จำเป็นเพื่อให้การเลี้ยงดูทดแทนเป็นทางเลือกสำหรับเด็กที่ไม่สามารถอยู่กับพ่อแม่ได้เท่านั้น โดยระบบดังกล่าวต้องมีลักษณะใกล้เคียงกับความเป็นครอบครัวให้มากที่สุด รวมถึงการสร้างหลักประกันให้เด็กกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานและบริการที่ส่งเสริมการทำหน้าที่ของครอบครัวได้
การเติบโตในครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการทางอารมณ์ สังคม และสติปัญญาของเด็ก ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและองค์การยูนิเซฟ พบว่า จำนวนเด็กที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18 ใน พ.ศ. 2548 เป็นร้อยละ 22 ในพ.ศ. 2562 สร้างความเป็นห่วงว่าเด็ก ๆ จะไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ตลอดจนขาดการส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสม
กลุ่มตัวแทนเด็กและเยาวชนจากทั่วประเทศซึ่งผ่านประสบการณ์ด้านการเลี้ยงดูหลากหลายรูปแบบได้รวบรวมข้อเสนอแนะจากการประชุมเตรียมการ เมื่อวันที่ 6-7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเสนอให้มีการส่งเสริมการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา สุขภาพ โภชนาการ การพัฒนาเด็กปฐมวัย
รวมไปถึงการปกป้องคุ้มครองเด็กจากความรุนแรงภายในบ้าน เพื่อไม่ให้เด็กต้องเข้ารับการเลี้ยงดูทดแทนเพียงเพราะครอบครัวไม่สามารถดูแลพวกเขาได้ และเสนอว่าเด็ก ๆ ที่อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูทดแทนจะต้องสามารถรักษาการติดต่อกับครอบครัวของตนเองได้อย่างสม่ำเสมอ และมีขั้นตอนให้สามารถกลับคืนสู่ครอบครัวหากเป็นไปได้
นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ตามที่ตัวแทนเด็กและเยาวชนได้ส่งเสียงบอกพวกเรา ครอบครัวเป็นสภาพแวดล้อมโดยธรรมชาติ ที่จะคุ้มครองและมอบความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพวกเขา
เราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เด็ก ๆ ได้อาศัยอยู่กับครอบครัวหรืออยู่ภายใต้การดูแลในรูปแบบครอบครัว ด้วยการช่วยให้ครอบครัวเปราะบางสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน และช่วยให้เด็กที่อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูทดแทนสามารถติดต่อกับครอบครัวของพวกเขา” “ในการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับการดูแลเด็ก จะต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและการปกป้องคุ้มครองเด็ก ดังนั้นเราจึงต้องรับฟังเสียงของเด็ก ๆ เกี่ยวกับความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา”
นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มุ่งเน้นให้เด็กทุกคนจะเจริญเติบโตได้ดีที่สุดในครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่ สิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีความสุข คือ การได้รับความมั่นคงทางจิตใจ การได้รับความรัก ความผูกพันจากผู้ดูแล ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่พัฒนาการด้านสมองที่สมบูรณ์ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ”
ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของยุทธศาสตร์การคุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ที่มุ่งเน้นการทำให้ “เด็กทุกคนอยู่ดีมีสุข ปลอดภัย ในครอบครัว ชุมชนและสังคมแวดล้อมที่คุ้มครองและดูแล”
การที่เด็กไม่ได้รับการดูแลจากพ่อแม่ จากการถูกแยกจากครอบครัว และการเลี้ยงดูทดแทนที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในรูปแบบสถานสงเคราะห์ อาจส่งผลกระทบด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมต่อตัวเด็กในระยะยาว เด็ก ๆ อาจต้องเผชิญกับการถูกบังคับให้อยู่อาศัยร่วมกับผู้อื่น หรือถูกกำหนดตารางในชีวิตประจำวันโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการเฉพาะตัว และยังอาจถูกจำกัดความสามารถในการเลือกสิ่งที่จะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดอีกด้วย
สัดส่วนบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านสังคมในประเทศไทยนั้นค่อนข้างต่ำ ด้วยจำนวนนักสังคมสงเคราะห์เพียง 4 คนต่อประชากรทุก 100,000 คน เพื่อให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับครอบครัว และป้องกันการถูกแยกจากครอบครัวโดยไม่จำเป็น ยูนิเซฟสนับสนุนให้มีการลงทุนในการจัดบริการเพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของครอบครัว และสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริการระดับชุมชน รวมถึงกำลังคนด้านสังคมเพื่อส่งเสริมครอบครัว
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และองค์การยูนิเซฟ กำลังทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านการเลี้ยงดูทดแทน ที่จะส่งเสริมการจัดบริการเพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของครอบครัว และมุ่งเน้นการเลี้ยงดูทดแทนในรูปแบบครอบครัว อันได้แก่ครอบครัวเครือญาติอุปถัมภ์ หรือครอบครัวอุปถัมภ์ แทนที่การดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์ โดยจะได้มีการนำผลจากการประชุมครั้งนี้ไปต่อยอดในแผนปฏิบัติงานเพื่อนำไปสู่การดำเนินงานโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจะได้รับสิทธิในการเติบโตในสภาพแวดล้อมครอบครัวที่ปลอดภัยและเอาใจใส่