พระธรรมวินัยในพุทธศาสนาเถรวาทกับรัฐธรรมนูญ

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐ มีบทบาท หน้าที่ อำนาจ และความรับผิดชอบที่สำคัญ เพื่อให้พระพุทธศาสนาเถรวาทมีความเจริญมั่นคงสืบไป http://winne.ws/n28381

2.6 พัน ผู้เข้าชม
พระธรรมวินัยในพุทธศาสนาเถรวาทกับรัฐธรรมนูญ

ชาวพุทธพึงทราบว่าพระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นจากการตรัสรู้ของพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพระองค์เองด้วยพระปัญญาคุณและพระบริสุทธิคุณ ซึ่งทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง 4 อสงไขยแสนกัป พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาคุณเผยแผ่พระธรรมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเกื้อกูลแก่สัตว์โลกให้พ้นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ)

คำว่า “พระพุทธศาสนาเถรวาท” หมายถึง พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นคำสอนที่มีวาทะอันมั่นคง ตรงตามพระพุทธพจน์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอดเวลา 45 พรรษาในครั้งพุทธกาลเมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช ดังที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกซึ่งประกอบด้วย พระวินัยปิฎก 21,000 พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก 21,000 พระธรรมขันธ์ พระอภิธรรมปิฎก 42,000 พระธรรมขันธ์ รวม 84,000 พระธรรมขันธ์ พระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกอบด้วยพระธรรมและพระวินัย ซึ่งเรียกว่า “พระธรรมวินัย”

การดำรงพระพุทธศาสนาเถรวาทให้มีความเจริญมั่นคงและมีความเจริญรุ่งเรืองนั้น ขึ้นอยู่กับพุทธบริษัททุกหมู่เหล่า ปัจจุบันพุทธบริษัท ได้แก่ ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา หากภิกษุซึ่งเป็นผู้ครองตนอยู่ในเพศบรรพชิตทำหน้าที่ของตนได้อย่างถูกต้อง ทั้งการศึกษาพระธรรม (คันถธุระ) การอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาธุระ) มีการขัดเกลากิเลส ประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทในพระวินัย มีการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งเป็นผู้ครองเรือนอยู่ในเพศคฤหัสถ์ ก็เป็น “ภิกษุในพระธรรมวินัย” ที่เป็นเนื้อนาบุญอันแท้จริงของผู้ครองเรือน ในขณะที่อุบาสก อุบาสิกา มีหน้าที่ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาและฟังธรรมตามกาล โดยมีพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง

การดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐที่สังกัดอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายอาณาจักรจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจและภารกิจด้วยความรับผิดชอบและอย่างประสิทธิภาพ ในการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นฝ่ายพุทธจักรในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ ทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายพุทธจักรต่างมีบทบาท หน้าที่ อำนาจ และความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายตามกฎหมายอย่างเข้มงวดกวดขัน จะเป็นหลักประกันสำคัญให้พระพุทธศาสนาเถรวาทมีความเจริญมั่นคงสืบไป

ขอบคุณคอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ

โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”

ภาพจาก : เดลินิวส์

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เดลินิวส์

แชร์