14 เมษายน สุขสันต์ "วันครอบครัว"

วันที่ 14 เมษายน "วันครอบครัว" กรมสุขภาพจิตแนะแนวทาง อยู่บ้านอย่างไรในช่วงระบาดของโควิด-19 อีกรอบ http://winne.ws/n27714

2.8 พัน ผู้เข้าชม
14 เมษายน สุขสันต์ "วันครอบครัว"ขอบคุณภาพจาก https://e-library.siam.edu

สำหรับที่มาของวันครอบครัวนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เสนอมติโดย คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยและอนุมัติให้ วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก

วันครอบครัว ถูกกำหนดขึ้นก็เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของสถาบันครอบครัว และใช้เวลาว่างในวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว อีกทั้งช่วงเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อรวมญาติ พบปะครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว รดน้ำดำหัวขอพรผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล ความอบอุ่น และความสุขของครอบครัวตามประเพณีไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา

แม้ว่าปีนี้มีสถานการณ์การระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ "โควิด-19" เกิดขึ้น หลายครอบครัวอาจไม่ได้กลับมารวมตัวเพื่อแสดงความรัก นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา จึงแนะ 4 แนวทางเพื่อความปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ดังนี้

1. ทุกบ้านควรจัดทำกฎกติกาของบ้าน สำหรับใช้เป็นข้อตกลงร่วมเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน เช่น การล้างมือฟอกสบู่เหลวหรือสบู่ก้อนบ่อยๆ 

2. ปรับวิธีการสื่อสาร เพื่อแสดงความรัก ความห่วงใย ให้กำลังใจแก่กันและกัน ในรูปแบบของการบอกหรือใช้ข้อความแทนการสัมผัสโอบกอดหรือจูบ เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัสเชื้อ

3. ใช้วิธีคลายเครียดในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อลดความเบื่อหน่ายขณะอยู่บ้าน เช่น การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อฝึกทักษะการเรียนรู้ของสมองให้ดียิ่งขึ้น 

4. ดูแลจัดบ้านที่พักอาศัยให้สะอาดและปลอดภัย  แยกของใช้เพื่อใช้เป็นการส่วนตัว เสมือนกับว่ามีคนติดเชื้ออยู่ในบ้านแล้ว และหากมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านด้วย โดยเฉพาะเป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้านหรือติดเตียง ขอให้ใช้ผู้ดูแลคนเดิมเนื่องจากมีประสบการณ์และได้รับการฝึกทักษะการดูแลมาแล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกเคยชินได้รับการปฏิบัติในชีวิตประจำวันคงเดิม

ขอบคุณเนื้อหาจาก POST TODAY

แชร์