วัดประจำรัชกาลที่ 1-10 แห่งราชวงศ์จักรี

มารู้จักกับวัดประจำรัชกาลที่ 1-10 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์ http://winne.ws/n26045

2.1 หมื่น ผู้เข้าชม

   มารู้จักกับวัดประจำรัชกาลที่ 1-10  แห่งราชวงศ์จักรี  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์  ซึ่งวัดประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์นั้น  เป็นสิ่งที่แสดงให้ชาวไทยเห็นว่า  ประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ของเราทรงเป็นพุทธศาสนิกและอัครศาสนูปถัมภกในพระพุทธศาสนาเสมอมา


วัดประจำรัชกาลที่ 1-10  แห่งราชวงศ์จักรี

      วัดประจำรัชกาลที่ ๑     :    วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร  (วัดโพธิ์)

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

วัดประจำรัชกาลที่ 1-10  แห่งราชวงศ์จักรี

     วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดโพธิ์”  เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง 

     ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551และวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติ

     วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์[5] พระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

     วัดประจำรัชกาลที่ ๒     :    วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร  (วัดแจ้ง)

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)

วัดประจำรัชกาลที่ 1-10  แห่งราชวงศ์จักรี

     วัดแจ้ง เป็นวัดโบราณ จากหลักฐานเชื่อว่าสร้างในสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดมะกอกนอก ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 2 มาบรรจุที่พุทธอาสน์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในอุโบสถ

     วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงโปรดให้สร้างพระอุโบสถและพระวิหารต่อจนแล้วเสร็จ พร้อมทั้งทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูป ด้วย ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดอรุณราชธาราม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการก่อสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งมีความสูง 82 เมตร กว้าง 234 เมตร แต่มาเสร็จสมบูรณ์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอรุณราชวราราม”

      วัดประจำรัชกาลที่ ๓     :    วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร  (วัดราชโอรสาราม หรือ วัดจอมทอง)

วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร (วัดราชโอรสาราม หรือ วัดจอมทอง)

วัดประจำรัชกาลที่ 1-10  แห่งราชวงศ์จักรี

     วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่เดิมชื่อวัดจอมทอง เป็นวัดที่มีมาก่อนการสร้างกรุงเทพมหานคร พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงสถาปนาวัดจอมทองขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม เนื่องจากเมื่อครั้งที่ทรงยกทัพไปสกัดทัพพม่าที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรีใน พ.ศ. 2363 เมื่อกระบวนทัพเรือมาถึงวัดจอมทอง ฝั่งธนบุรีทรงหยุดพักและทำพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงคราม พร้อมทรงอธิษฐานขอให้การไปราชการทัพครั้งนี้ได้ชัยชนะ แต่ปรากฏว่าไม่มีทัพพม่ายกเข้ามา เมื่อยกทัพกลับ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่และถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่าวัดราชโอรส ซึ่งหมายถึง พระราชโอรสคือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในปัจจุบันมี พระธรรมกิตติวงศ์เป็นเจ้าอาวาส

     วัดประจำรัชกาลที่ ๔     :    วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร 

วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

วัดประจำรัชกาลที่ 1-10  แห่งราชวงศ์จักรี

     เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหารและเป็นวัดที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์ตามโบราณพระราชประเพณี และทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระกษัตริย์ทุกพระองค์สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ และพระราชประสงค์อีกประการหนึ่งในการสร้างวัดราชประดิษฐ์ฯ คือ เพื่ออุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ เนื่องจากครั้งทรงผนวชอยู่ พระองค์ทรงเป็นหัวหน้านำพระสงฆ์ชำระข้อปฏิบัติก่อตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายขึ้น รวมทั้งทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างวัดธรรมยุติกนิกายขึ้นใกล้กัพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้ทรงทำบุญและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาได้โดยสะดวก ดังนั้น พระอารามนี้จึงนับเป็นพรอารามแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุตด้วย

      วัดประจำรัชกาลที่ ๕ , ๗     :    วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

วัดประจำรัชกาลที่ 1-10  แห่งราชวงศ์จักรี

     เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุต ความสำคัญของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามแห่งนี้ คือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๗ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งถือว่าเป็นวัดแห่งเดียวของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เป็นวัดประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ถึง ๒ พระองค์ ( เพราะในรัชสมัยของ รัชกาลที่ 7 มิได้มีการสร้างวัด แต่ท่านก็ได้รับพระราชภาระในการทำนุบำรุงและบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธนี้ด้วย ดังนั้นจึงถือเป็นวัดประจำพระองค์ด้วยเช่นกัน)

วัดประจำรัชกาลที่ 1-10  แห่งราชวงศ์จักรี

     คำว่า ราชบพิธ หมายถึง พระราชาทรงสร้าง ซึ่งก็คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับพระอัครมเหสีพระราชเทวี และเจ้าจอมพระสนมเอกของพระองค์ ส่วน สถิตมหาสีมาราม ก็คือเป็นวัดที่ประดิษฐานเสมาขนาดใหญ่ เพราะตามปกติแล้วเสมาของวัดโดยทั่วไปจะอยู่ตามมุมหรือติดอยู่กับตัวพระอุโบสถ แต่เสมาของวัดนี้ตั้งอยู่บนกำแพงรอบวัดถึง 8 ด้าน จึงเป็นการขยายเขตทำสังฆกรรมของสงฆ์ให้กว้างขึ้น

     ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ วัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช องค์พระประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย ๒ พระองค์คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชุมพูนุท สิริวฑฺฒโน) และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) ตลอดจนเคยเป็นที่พำนักของสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะหลายรูปด้วย

      วัดประจำรัชกาลที่ ๖, ๙     :    วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร

วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร

วัดประจำรัชกาลที่ 1-10  แห่งราชวงศ์จักรี

     เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุต ตั้งอยู่ต้นถนนตะนาวและถนนเฟื่องนคร เขตพระนคร กรุงเทพฯ แต่เดิมวัดแห่งนี้ ชื่อว่า “วัดใหม่” ตั้งอยู่ใกล้กับวัดรังสีสุทธาวาส ต่อมา ในทางนิตินัย วัดประจำรัชกาลได้สิ้นสุดลงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงมีพระราชดำริว่า พระอารามหลวงในกรุงเทพฯ มีเป็นจำนวนมากแล้ว และการสร้างวัดนั้นก็เพื่อประโยชน์ในทางศึกษาของเยาวชนด้วย เพราะการศึกษาของไทยแต่โบราณกาลมาก็เริ่มที่วัด ดังนั้น จึงทรงสถาปนา โรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือในปัจจุบันคือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ขึ้นเพื่อแทนการสร้างวัดประจำรัชกาล และให้ถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ด้วย

วัดประจำรัชกาลที่ 1-10  แห่งราชวงศ์จักรี

     วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร เดิมชื่อ วัดใหม่ เป็นวัดโบราณ เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงผนวชได้เสด็จมาประทับ และทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตติกนิกายขึ้นที่วัดนี้เป็นครั้งแรก ถือเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่ง เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ณ วัดนี้อีกด้วย

     อีกทั้งหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) จะอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารประดิษฐานที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ซึ่งจะถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9

      วัดประจำรัชกาลที่ ๘     :    วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

วัดประจำรัชกาลที่ 1-10  แห่งราชวงศ์จักรี

     เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ฝ่ายมหานิกายตั้งอยู่ ณ แขวงราชบพิธ เขตพระนคร โดยมีชื่อเรียกกันเป็นสามัญหลายชื่อ ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น วัดพระใหญ่ วัดพระโต หรือวัดเสาชิงช้า ซึ่งเรียกตามสถานที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับเสาชิงช้าด้านหน้าเทวสถานของพราหมณ์บริเวณใจกลางพระนคร

     ภายในวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493 และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี

       วัดประจำรัชกาลที่ ๙    :    วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก 

วัดประจำรัชกาลที่ 1-10  แห่งราชวงศ์จักรี

     เป็นวัดที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริเริ่มแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ทรงให้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในชุมชนริมคลองลาดพร้าวย่านพระราม ๙ จากเดิมที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าวย่านพระราม ๙ นี้ ต้องประสบกับปัญหาน้ำเน่าเสีย

     จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียด้วยวิธีการเติมอากาศที่บึงพระราม ๙ โดยมีวัตถุประสงค์คือ ทดสอบการบำบัดน้ำเน่าเสียที่ไหลมาตามคลองลาดพร้าวส่วนหนึ่งให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยวิธีการเติมอากาศลงไปในน้ำ แล้วปล่อยให้น้ำตกตะกอน และปรับสภาพน้ำก่อนระบายลงสู่คลองตามเดิม

     จากแนวพระราชดำรินี้เองทำให้ชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าวย่านพระราม ๙ มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต่อมาได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมให้ทำการปรับปรุงพื้นที่และพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม ๙ และมีพระราชประสงค์ให้ดำเนินการจัดตั้งวัดขึ้นในบริเวณชุมชนบึงพระราม ๙ เพื่อเป็นทั้งพุทธสถานในการประกอบกิจของพระสงฆ์ในการสืบทอดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา

     ในขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของราษฎรในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทางศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนการพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม ๙ ร่วมกับทางโรงเรียนหรือส่วนราชการต่างๆ ด้วย

     สำหรับ พระประทานที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดพระรามเก้าฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเลือกแบบพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางชนะมาร) จากการออกแบบเสนอโดยเรืออากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีและสถาปนิกของกรมศิลปากรทั้งหมด 7 แบบ โดยพระองค์ทรงแก้ไขแบบด้วยพระองค์เอง

     แม้วัดพระรามเก้าจะไม่ได้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9 แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีความผูกพันอย่างใกล้ชิด

      วัดประจำรัชกาลที่  ๑๐    :    วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร (วัดทุ่งสาธิต) 

วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร (วัดทุ่งสาธิต)

วัดประจำรัชกาลที่ 1-10  แห่งราชวงศ์จักรี

     วัดนี้เดิมทีคหบดีชาวลาวเป็นผู้สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๙๙ เล่ามาว่าเป็นวัดร้างมาก่อนชาวลาวท่านนี้อพยพมาสมัยเวียงจันทร์แตก หลังจากคหบดีท่านนี้ถึงแก่กรรมวัดนี้เลยร้าง เนื่องจากไม่มีใครอุปถัมภ์ ประกอบกับเจ้าอาวาสองค์สุดท้ายมรณภาพลง เลยไม่มีใครสืบสาน และก็สมัยก่อนนั้นวัดนี้อยู่ห่างไกลความเจริญ เป็นทุ่งนาส่วนใหญ่

     เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) รับวัดทุ่งสาธิตไว้ในพระอุปถัมภ์ เป็นอารามหลวงได้พระราชทานนามว่า วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร

อ้างอิง :

1.  http://travel.trueid.net/detail/97mobVrwAKj

2.  http://www.chaoprayanews.com

3.  https://th.wikipedia.org

แชร์