ไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุ D614G ติดง่ายขึ้น 10 เท่า น่ากังวลแค่ไหน
ไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุใหม่ที่ชื่อ D614G ซึ่งเชื่อกันว่ามีอำนาจการติดต่อสู่คนอื่นมากกว่าสายพันธ์ุดั้งเดิมจากเมืองอู่ฮั่นของจีนหลายเท่า เริ่มมาปรากฏในหลายพื้นที่ของทวีปเอเชียแล้ว http://winne.ws/n27348
ไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุใหม่ที่ชื่อ D614G เริ่มมาปรากฏในหลายพื้นที่ของทวีปเอเชียแล้ว โดยล่าสุดเพิ่งมีรายงานค้นพบที่ประเทศมาเลเซีย กับฟิลิปปินส์
วันที่ 16 ส.ค. ดร.นูร์ ไฮชาม อับดุลเลาะห์ ผู้อำนวยการสำนักงานสุขภาพของมาเลเซีย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด-19 สายพันธ์ุนี้มีโอกาสติดต่อสู่คนอื่นๆ มากกว่าปกติถึง 10 เท่า และสามารถแพร่กระจายโดยบุคคลที่เป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ได้ง่ายกว่า
ไวรัสสายพันธ์ุนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร, แตกต่างจากสายพันธ์ุอื่นๆ อย่างไร และน่ากังวลมากแค่ไหน
D614G คืออะไร?
D614G ถูกเรียกว่า ‘สายพันธ์ุ G’ กลายพันธ์ุมาจากไวรัสโควิด-19 ดั้งเดิมที่เริ่มระบาดในเมืองอู่ฮั่นของจีนตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน ซึ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมา ไวรัสตัวนี้กลายพันธ์ุไปหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งมหาวิทยาลัยโบโลญญา ของอิตาลี เพิ่งเผยผลวิจัยเมื่อเดือนก่อนว่า ไวรัสโควิด-19 อย่างน้อย 6 สายพันธ์ุที่กลายพันธ์ุจากไวรัสดั้งเดิม เป็นสาเหตุทำให้เชื้อระบาดไปทั่วโลก
ในปัจจุบันสายพันธ์ุ D614G กลายเป็นสายพันธ์ุเด่นของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดทั่วโลกไปแล้ว เมื่อดูจากข้อมูล จีโนม หรือ ข้อมูลทางพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 จำนวนราว 50,000 จีโนมที่บันทึกเอาไว้ในฐานข้อมูล พบว่า มีจีโนมถึง 70% ที่มีการกลายพันธ์ุดังกล่าวปรากฏให้เห็น
โควิด-19 สายพันธ์ุ G พบได้ทั่วไปในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป แต่มันเริ่มมาปรากฏในทวีปเอเชียมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว
D614G เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
ศาสตราจารย์ เกวิน สมิธ จากโครงการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ของมหาวิทยาลัยแพทย์ ‘ดุค-เอ็นยูเอส’ (Duke-NUS) ของสิงคโปร์ กล่าวว่า ไวรัสทุกชนิดแบ่งตัวเองออกมาระหว่างการติดเชื้อ และบางครั้งก็เกิดความผิดพลาดระหว่างแบ่งตัว และความผิดพลาดนั้นก็กลายเป็น การกลายพันธ์ุ
ในกรณีของ D614G การกลายพันธ์ุเกิดขึ้นเมื่อกรดอะมิโน ในตำแหน่ง 614 หรือบริเวณหนามของไวรัส เปลี่ยนจาก D (กรดแอสพาร์ติก) เป็น G (ไกลซีน) ส่งผลให้สายพันธ์ุ D614 เดิมกลายเป็น D614G
สายพันธ์ุใหม่ระบาดง่ายขึ้น 10 เท่า
ผลการวิจัยหลายชิ้นจนถึงตอนนี้บ่งชี้ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุ D614G สามารถติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธ์ุอื่นๆ เช่น ดร.เบตตี คอร์เบอร์ นักชีววิทยาจากห้องทดลองแห่งชาติ ลอส อลามอส ในสหรัฐฯ กับทีมของเธอ ได้ทำการทดสอบตัวอย่างจากผู้ป่วยทั่วยุโรปและสหรัฐฯ ก่อนจะเผยแพร่ผลการวิจัยผ่านวารสาร ‘Cell’ ในเดือนกรกฎาคม
ดร.คอร์เบอร์ ระบุว่า ในช่วงเริ่มต้นเดือนมีนาคม D614G ยังเป็นสายพันธ์ุที่พบนอกยุโรปได้ยาก แต่พอถึงสิ้นเดือน พวกเธอกลับพบไวรัสสายพันธ์นี้ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกบ่อยขึ้น พวกเธอพบด้วยว่า ผู้ติดเชื้อ D614G จะมีร่างแบ่งตัวของไวรัสในร่างกายมากกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธ์ุ D614 ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อสามารถระบาดได้ง่ายขึ้น
ขณะที่ผลการศึกษาอีกชิ้นของทีมวิจัยจาก สถาบันวิจัย สคริปส์ (Scripps Research Institute) ในสหรัฐฯ ซึ่งเผยแพร่ในเดือนมิถุนายน พบว่า D614G สามารถติดต่อได้มากกว่าสายพันธ์ุดั้งเดิมถึง 10 เท่า เนื่องจากโปรตีนหนามของไวรัส ซึ่งทำหน้าที่เจาะเซลล์ของมนุษย์ มีการแตกหักน้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม ศ.สมิธ เตือนว่า ผลการศึกษาเหล่านี้เป็นผลที่เกิดขึ้นในห้องทดลอง ไม่จำต้องเกิดขึ้นกับมนุษย์ในสถานการณ์จริง นอกจากนี้นักวิจัยคนอื่นๆ ยังระบุด้วยว่า ผลการศึกษาเป็นเพียงข้อเสนอแนะ ไม่ใช้ข้อพิสูจน์ว่า D614G มีอำนาจติดต่อมากกว่าเชื้อสายพันธ์ุอื่นๆ
อันตราย...แต่ไม่มากกว่าเชื้อดั้งเดิม
ผลการศึกษาของ ดร.คอร์เบอร์ พบด้วยว่า สายพันธ์ุ D614G ไม่ได้ทำให้อาการป่วยหนักมากกว่าไวรัสสายพันธ์ุอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราการเข้าโรงพยาบาลของคนไข้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นเช่น อายุ หรือ เพศ มากกว่า
นอกจากนี้ D614G ยังไม่ได้ทำให้การรักษายากขึ้นด้วย เพราะถ้าการรักษายากขึ้น อัตราการเสียชีวิตก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป เพราะ D614G แพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ทั่วโลกแล้ว แต่ในปัจจุบัน อัตราการเสียชีวิตของโควิด-19 ยังทรงตัวที่หรือลดลงที่ราว 1%
ขณะที่ ศ.สมิธ ระบุเช่นกันว่า ไม่มีหลักฐานชี้ว่า D614G จะอันตรายกว่าสายพันธ์ุอื่น และมันกลายเป็นสายพันธ์ุเด่น เพราะมันเข้าไปในประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ไม่ดีเท่านั้น
ไม่น่ากระทบการพัฒนาวัคซีน
ก่อนหน้านี้มีการคาดเดากันไปต่างๆ นานา ว่าจำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนหลายๆ ชนิดเพื่อรับมือกับไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุต่างๆ หรือไม่ แต่จนถึงตอนนี้ วัคซีนส่วนใหญ่ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนา มีผลกับพื้นที่อื่นบนโปรตีนหนามของไวรัส ดังนั้น การกลายพันธ์ุของ D614G จึงไม่กระทบต่อการพัฒนาวัคซีน
D614G มีการกลายพันธ์ุที่โปรตีนหนามก็จริง แต่เกิดขึ้นที่ ก้าน (stalk) ไม่ใช่ส่วนหัว หรือ ตัวรับ (RBD) ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของระบบภูมิคุ้มกันที่วัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างขึ้น การกลายพันธ์ุนี้จึงไม่น่าส่งผลกระทบต่อประสิทธิ์ภาพของวัคซีน
อย่างไรก็ดี แม้การวิจัยต่างๆ และความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจะชี้ว่า D614G ไม่ได้ร้ายแรงไปกว่าไวรัวสายพันธ์ุดั้งเดิม แต่ไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะสายพันธ์ุใดก็ถือว่ามีความอันตรายสูง ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7.8 แสนราย ในระยะเวลาเพียง 8 เดือน มนุษย์โลกยังต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง จนกว่าจะถึงวันที่มีวิธีจัดการ หรือป้องกันเชื้อร้ายตัวได้อย่างสิ้นเชิง
ที่มา
https://www.thairath.co.th/