แนะหลักสูตรสันติศึกษา"มจร" ปรับรับ"ดิสรัปชัน-โควิด-19"

"มจร-สถาบันพระปกเกล้า-ศาลยุติธรรม"ร่วมวิพากษ์หลักสูตรสันติศึกษา แนะปรับให้"จิ๋วแต่แจ๋ว"รับภาวะดิสรัปชั่น-โควิด-19 ผู้แทนสถาบันพระปกเกล้าแนะใช้กระบวน FA- 3 H สอดรับSDG http://winne.ws/n26939

1.2 พัน ผู้เข้าชม
แนะหลักสูตรสันติศึกษา"มจร" ปรับรับ"ดิสรัปชัน-โควิด-19"

        วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2563 หลักสูตรพุทธศาสตรดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชาสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้จัดเวทีวิพากษ์หลักสูตร (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2563) 

        โดยมีพระสุวรรณเมธาภรณ์ ผศ. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร ในฐานะกำกับดูแลด้านวิชาการเป็นประธานกล่าวเปิดการวิพากษ์ กล่าวว่า หลักสูตรสันติศึกษามีความชัดเจนดีอยู่แล้ว แต่ต้องปรับปรุงพัฒนาเพราะเราต้องการความเป็นมาตรฐาน มองว่าหลักสูตรมีความเหมาะสมกับยุคสมัยมาก เป็นหลักสูตรที่เป็นเกราะคุ้มกันมนุษย์เป็นอย่างดี เพราะโลกเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง เราจึงต้องปรับปรุงปรับตัวให้เหมาะสมโดยเฉพาะในเรื่องของจิตใจ หลักสูตรสันติศึกษาต้องพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์แบบ ทำให้จิตใจมีความเข้มแข็ง หลักสูตรสันติศึกษาต้องไม่วัดกันที่เกรดแต่จะต้องวัดกันในการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ 

แนะหลักสูตรสันติศึกษา"มจร" ปรับรับ"ดิสรัปชัน-โควิด-19"

       "มหาวิทยาลัยสงฆ์จะต้องออกแบบออกเครื่องมือในการพัฒนาความเป็นมนุษย์ งานวิจัยของสันติศึกษาถือว่าตอบโจทย์พัฒนาเป็นหลักสูตรระยะสั้น เราต้องพัฒนาหลักสูตรสันติศึกษาให้จิตวิญญาณพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่แท้จริง สันติศึกษาจะผลิตเครื่องมืออะไรให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นจริงจังในสังคม" รองอธิการบดี มจร กล่าว  

        จากนั้น พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวว่า หลักสูตรสันติศึกษาเราเดินตามพระพุทธเจ้าซึ่งตรัสว่า พึงศึกษาสันติศึกษาเท่านั้น สันติเกิดขึ้นครั้งแรกใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เราได้ช่วยได้สานต่องานของพระพุทธเจ้า โดยความร่วมมือของศาลพระปกเกล้าและศาลยุติธรรม จึงขอขอบคุณคุณท่าน ปัจจุบันระดับปริญญาเอกจบการศึกษาหลายรูปคน  คำถามทำไมเราต้องปรับปรุงเพราะเป็นนโยบายของกระทรวงใหม่และ สกอ. ว่า ในรอบ 5  ปี เราจะพัฒนาหลักสูตรเพื่อความเป็นมาตรฐาน 

แนะหลักสูตรสันติศึกษา"มจร" ปรับรับ"ดิสรัปชัน-โควิด-19"

       "ดังนั้น ในปี 2556  พระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. อดีตอธิการบดี มจร สมัยลวนามความร่วมมือ กล่าวว่า ผู้จบการศึกษาสันติศึกษาจะต้องเป็น  วิศวกรสันติภาพ จะต้องตอบโจทย์ตนเองและสังคม เราจึงต้องพัฒนาด้านสันติภายในและสันติภายนอก เราพยายามมุ่งสันติภายใน คือ สติ ขันติ สันติเมื่อมีความเข้มแข็งภายในจึงออกไปช่วยเหลือสังคมด้านการไกล่เกลี่ยในชุมชน คำถามคือ 5 ปีข้างหน้าผลผลิตของวิศวกรสันติภาพควรจะเป็นอย่างไร อยากให้วิศวกรสันติภาพได้เครื่องมืออะไร หน้าตาของวิศวกรสันติภาพควรจะมีหน้าตาอย่างไร?"    ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าว 

      ผู้แทนสถาบันพระปกเกล้าแนะใช้กระบวน FA- 3 H สอดรับSDG    

       พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เสนอแนวคิดวิธีการพัฒนาหลักสูตร ว่า รูปแบบการศึกษาจะต้องมีการปฏิบัติจริงเท่านั้น การทำวิจัยจะต้องเป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการสามารถตอบโจทย์สังคม เป็นภาคปฏิบัติมากกว่าทฤษฏี สันติศึกษาต้องสอนเรื่องการไกล่เกลี่ยฝึกปฏิบัติด้วย 3 มิติ “แก้ไข ปกป้อง เยียวยาสร้างความปรองดอง” 
    
      สร้างการมีส่วนร่วม สอนให้วิเคราะห์ว่า สาเหตุแห่งปัญหาเป็นอย่างไร มีการสานเสวนา กระบวนการ FA หลักสูตร FA นิสิตจะต้องเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ มีเครื่องมือการขอโทษการปรองดอง บทบาทการเป็นคนกลาง เมืองไทยขาดการให้อภัยและการขอโทษ เราต้องการให้อภัยและการขอโทษ อาจารย์จะต้องสอนแบบมีส่วนร่วม ดึงความรู้จากผู้เรียนออกมาให้ได้ ปัจจุบันเราหมดเวลาในการสอนแบบบรรยายแล้ว หลักสูตรต้องสร้างนวัตกรรมในการสอน ปัจจุบันสถาบันพระปกเกล้า เรารับสมัครแบบออนไลน์ 100  เปอร์เซ็นต์ เพราะเราจะทราบฐานข้อมูลผู้เรียน ปัจจุบันมีการประเมินแบบออนไลน์ตามแบบ KPI พยามยามจะทำให้เป็นดิจิทัล ผู้เรียนมีการศึกษาดูงานแล้วนำมาแบ่งปันนำมาเสนอเพื่อการเรียนรู้
     
       สถาบันปกเกล้าจึงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราจึงมีการลงนามร่วมมือกับ Google จะไม่ใช้กระดาษแต่จะเป็นดิจิทัล ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้สถานการณ์ปัจจุบัน โดยผู้เรียนจะต้องรู้ 3 รู้ คือ “รู้โลก รู้รอบ รู้ตนเอง” เคยเสนอมิติสงฆ์ควรมีโรงเรียนเจ้าอาวาส ผู้เรียนควรเรียนรู้วิชาดิสรัป และโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง โลกแห่งดิจิทัล การมองโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญจะต้องมี วิชา กระบวนการปรองดอง คือ ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เข้ามาด้วย 
 
         ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นสันติศึกษาใน 5 ปี ข้างหน้า มองว่า ผู้เรียนต้องเรียนรู้เทรนของโลก เทรนของความขัดแย้งในโลก ปัจจุบันจึงต้องเรียนรู้ด้านSDG ของสหประชาชาติ ผู้เรียนต้องยึดมั่นในหลักพระพุทธศาสนาเป็นหลัก เรียนรู้ความขัดแย้งในมิติอื่นๆ งานวิจัยสันติศึกษาจะต้องลงสู่การปฏิบัติมีความลึกและความกว้าง ผู้จะเป็นวิศวกรสันติภาพจะต้องนำเครื่องมือไปใช้งาน ความขัดแย้งในสถานการณ์ผู้เรียนต้องตามทัน
     
        ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวย้ำว่า สันติศึกษาต้องฝึกคนไปสู่สังคม ผู้เรียนจะต้องมี  3 H คือ ด้านปัญญาด้านสันติวิธี ด้านจิตใจมีความมุ่งมั่นสงบเย็น ด้านการสร้างเครือข่ายจับมือกันช่วยสังคมให้มากๆ งานวิจัยจะต้องนำไปสู่การพัฒนาสังคมให้มาก อยากให้มีการทดลองรูปแบบใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับยุคสมัย มีการเรียนงานวิจัยต่างประเทศ มีการปฏิบัติมากกว่าทฤษฏี วิศวกรสันติภาพจะต้องนำคนอื่นไปสู่จุดหมายคือ สันติภาพ ต้องให้ความสำคัญกับสตรีในการสร้างสันติภาพ  จึงย้ำว่า #สันติภาพจะไม่เกิดถ้าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะจะถูกลดศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

ที่มา https://www.banmuang.co.th

แชร์