“การสละสมณเพศตามกฎหมาย” ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ (ราชบัณฑิต)
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์ ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ควรทบทวนบทบาท และหน้าที่ให้ชัดเจน เพื่อเป็นการรักษาพระธรรมวินัย และรักษาคณะสงฆ์ ให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสืบไป http://winne.ws/n26932
กรณีที่เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แถลงข่าว เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ส่งผลให้สังคมเข้าใจว่า การแถลงข่าวดังกล่าวเป็นมติของมหาเถรสมาคม “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสมือนได้ประกาศให้สังคมเข้าใจว่า พระสงฆ์ที่ถูกคุมขัง ได้ขาดจากความเป็นพระภิกษุไปแล้ว ตามผลของกฎหมายมาตรา 29 และ มาตรา 30 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505” ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง การตีความข้อกฎหมาย โดยใส่ความคิดเห็นของตนเข้าไปในข้อกฎหมาย เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามหลักเจตนารมณ์ของกฎหมาย อาจส่งผลกระทบ เกิดความเสียหายต่อคณะสงฆ์ และพระพุทธศาสนาอย่างใหญ่หลวง
การให้พระภิกษุสละสมณเพศ ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 29 นั้น ต้องจัดการให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย โดยต้องมีเจตนาเปล่งวาจาลาสิกขาต่อหน้าผู้รู้ความ ตามแนวของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6782/2543 “การจะขาดจากความเป็นพระภิกษุ ตามมาตรา ๒๙ พระภิกษุรูปนั้น ต้องมีการกล่าวคำลาสิกขา”
จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกานี้เป็นการยืนยันได้ว่า ถ้าไม่ได้จัดการลาสิกขาตามขั้นตอนพระธรรมวินัยโดยมีเจตนาเปล่งวาจาลาสิกขา ถือได้ว่า ไม่เป็นการสละสมณเพศ ตามมาตรานี้
แต่ปรากฎว่าพระสงฆ์วัดสระเกศ กับ วัดสามพระยา ไม่ได้เปล่งวาจาลาสิกขาและในวันที่ต้องถูกคุมขัง ก็ปรากฎข้อเท็จจริงว่า “ไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการให้มีพระสงฆ์รูปใดจากวัดใด มาจัดการดำเนินการให้สละสมณเพศ ทั้งไม่ปรากฏพยานเอกสาร และพยานบุคคลและไม่ปรากฎว่า มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรของพระภิกษุรูปที่มาดำเนินการให้สละสมณเพศ ที่จะต้องลงความเห็นว่า ท่านได้ลาสิกขาไปแล้ว”
ยังปรากฎข้อเท็จจริงอีกว่า“ในการนำสืบคดีต่อศาลมีการถามเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกปาก ตั้งแต่ตำรวจที่จับกุม ก็เบิกความต่อศาลว่า “ขณะจับกุมยังเห็นท่านใส่จีวร” ตำรวจที่สอบสวน ก็เบิกความต่อศาลว่า “ขณะที่สอบสวนก็ยังเห็นท่านใส่จีวร” ตำรวจทุกปากยืนยันตรงกันว่าไม่ได้มีการจัดให้ท่านสละสมณเพศ ทั้งขณะส่งตัวไปศาล ก็ปรากฏต่อศาล ว่า “ท่านยังใส่จีวร” และขณะจะนำตัวท่านเข้าไปที่เรือนจำเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ยังเห็นท่านใส่จีวรเช่นเดียวกัน
“จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้จัดให้มีการสละสมณเพศ ตามมาตรา 29 ประกอบกับคำพิพาษาศาลฎีกาที่ 6782/2543 ที่ได้วางแนวทางปฏิบัติไว้”
เมื่อดำเนินการให้สละสมณเพศตามมาตรา 29 แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลต้องรายงานการดำเนินการดังกล่าวต่อศาล ตามมาตรา 30แต่ปรากฎข้อเท็จจริงในวันดังกล่าว ไม่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอำนาจตามกฎหมายได้รายงานเรื่องการสละสมณเพศให้ศาลทราบอีกด้วย
ทั้งนี้องค์ประกอบการสละสมณเพศตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการให้ครบองค์ประกอบของมาตรา 29 และมาตรา 30 กล่าวคือ ท่านต้องมีเจตนาลาสิกขา และ ได้กล่าวคำลาสิกขา ตามมาตรา 29 และ เจ้าหน้าตำรวจผู้มีอำนาจตามกฎหมายต้องรายงานต่อศาล ตามมาตรา 30 ถ้าไม่ครบองค์ประกอบทั้งสองมาตรา ถือว่า ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้
ดังนั้น จึงเป็นการยืนยันทั้งทางข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พระธรรมวินัย และแนวทางปฏิบัติของคำพิพากษาศาลฎีกาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีการดำเนินการให้ท่านสละสมณเพศ ตามที่เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติชี้แจงต่อสื่อมวลชน
ส่วนการถูกคุมขังและการใส่ชุดขาวนั้นไม่ใช่ประเด็นที่จะนำมากล่าวอ้างว่า เป็นสิ่งที่ทำให้ท่านขาดจากความเป็นพระไปแล้วเพราะสาระสำคัญของความเป็นพระภิกษุจะสมบูรณ์หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่การถูกคุมขังแต่อยู่ที่ ข้อวัตร ปฏิบัติ ของความเป็นพระภิกษุตามพระธรรมวินัย
อนึ่ง ที่ต้องใส่ชุดขาว ก็มีเหตุจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของเรือนจำ ไม่ได้ทำให้ความเป็นพระภิกษุหมดไป เช่น เวลาพระสงฆ์อาพาธต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ต้องถอดจีวรเพื่อใส่ชุดตามระเบียบของโรงพยาบาล เมื่อหายอาพาธแล้ว ก็กลับมาใส่จีวรเหมือนเดิม หรือ เมื่อมีโจรขโมยจีวรไป ก็สามารถใส่ชุดอื่นไปพลางก่อนได้
นอกจากนั้นชาวไทยก็ทราบดีว่า การลาสิกขาของพระสงฆ์ไทยจะกล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าพระภิกษุด้วยกันเท่านั้น จะไม่กล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าฆราวาสซึ่งผู้ที่เคยผ่านการบวชเรียนเขียนอ่านมา ก็ย่อมรู้ว่า ไม่ได้ลาสิกขาต่อหน้าฆราวาสแต่จะลาสิกขาต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ หรือพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังได้อ้างถึง มาตรา 28 ว่า “พระภิกษุรูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด” นั้น เป็นกรณีของพระภิกษุกับคดีล้มละลาย หรือพระภิกษุถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย กล่าวคือ พระภิกษุเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่สามารถใช้เงินคืนได้ จึงถูกลูกหนี้ฟ้องล้มละลาย ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องที่วัดสระเกศ และวัดสามพระยา ถูกกล่าวหา จึงไม่ควรนำมากล่าว จะเป็นการชี้นำให้สังคมเกิดความสับสน
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์ ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ควรทบทวนบทบาท และหน้าที่ให้ชัดเจน เพื่อเป็นการรักษาพระธรรมวินัย และรักษาคณะสงฆ์ ให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสืบไป
ที่มา https://thesender.co