มนุษย์เงินเดือนกับแผนประกันสุขภาพ เลือกอย่างไรให้คุ้ม
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันกรมธรรม์ประกันสุขภาพมีหลากหลายรูปแบบให้ได้เลือกซื้อมากขึ้น ผู้ซื้อจำเป็นต้องศึกษาเงื่อนไขและเลือกกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่ตรงกับความต้องการของตัวเองเพื่อให้คุ้มค่ากับเบี้ยประกันที่จ่ายไปให้มากที่สุด http://winne.ws/n26762
ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มนุษย์เงินเดือนหลายคนมักจะนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ ในช่วงวางแผนภาษีปลายปี มักจะเป็นผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่เน้นการสร้างผลตอบแทนควบคู่ไปกับการได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี เช่น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
ขณะที่ผลิตภัณฑ์อีกประเภทหนึ่งที่มักถูกมองข้าม คือกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็น "Wealth Protection" ซึ่งในแง่ของการวางแผนทางการเงิน นับว่ามีความสำคัญไม่แพ้ผลิตภัณฑ์การลงทุน เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ในการปิดความเสี่ยงผ่านการให้ความคุ้มครองในรูปแบบต่างๆ เช่น คุ้มครองชีวิต สุขภาพหรืออุบัติเหตุ เป็นต้น ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้มักมีโอกาสเกิดน้อย แต่อาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้มาก จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการวางแผนการเงินที่มีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนเรื่อง Protection ที่เหมาะสมเป็นส่วนประกอบ
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภท “Wealth Protection” ที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจากมนุษย์เงินเดือนในช่วงหลายปีหลังมานี้ ก็คือ ประกันสุขภาพ โดยเหตุผลที่คนไทยหันมาซื้อประกันสุขภาพมากขึ้นนั้น เนื่องจากเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่สูงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 8-10% ต่อปี
นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการที่สิทธิในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือประกันสังคมที่หลายคนได้รับอยู่นั้น ยังตอบโจทย์ได้ไม่เพียงพอทั้งในแง่ของคุณภาพการรักษาพยาบาลและความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ทำให้หลายคนมองว่า การจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพเพียงเล็กน้อยแลกกับความคุ้มครองที่ได้รับนั้นเป็นการลงทุนปิดความเสี่ยงที่คุ้มค่า อีกทั้งยังถือเป็นการสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับฐานะทางการเงินของตัวเราเองรวมถึงคนในครอบครัว โดยไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในการที่จะสูญเสียเงินออมที่เก็บสะสมมาเป็นระยะเวลานานหลายปีไปกับการเจ็บป่วยเพียงแค่ไม่กี่ครั้ง
เงื่อนไขการลดหย่อนภาษีด้วยประกันสุขภาพ และวิธีคัดกรองประกันสุขภาพ
เบี้ยประกันสุขภาพที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีจะมีทั้งสิ้น 2 ประเภทด้วยกัน คือ เบี้ยประกันสุขภาพที่เราซื้อให้กับตัวเอง และ เบี้ยประกันสุขภาพที่เราซื้อให้กับบิดามารดา โดยเบี้ยประกันสุขภาพในที่นี้จะหมายรวมถึง การประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคล การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะและการแตกหักของกระดูก การประกันภัยโรคร้ายแรงและการประกันภัยการดูแลระยะยาว
สำหรับในส่วน เบี้ยประกันสุขภาพของตัวเราเอง นั้น เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อปีและเมื่อนำไปรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
ในขณะที่ เบี้ยประกันสุขภาพที่เราซื้อให้พ่อแม่ สามารถนำไปลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมกันสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี โดยมีเงื่อนไขว่า พ่อแม่จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จึงจะสามารถใช้สิทธินำเบี้ยประกันสุขภาพส่วนนี้มาลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำเบี้ยประกันพ่อแม่นี้มาหารเฉลี่ยแบ่งให้ลูกแต่ละคนเพื่อนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของตัวเองได้อีกด้วย
หลักเกณฑ์เบื้องต้นในการเลือกซื้อประกันสุขภาพ ควรเริ่มจากการพิจารณารูปแบบความคุ้มครอง แบ่งเป็นสองรูปแบบ
แบบที่ 1 ประกันสุขภาพแบบแยกค่ารักษา บริษัทประกันจะระบุรายการค่ารักษาพยาบาลต่างๆ กับวงเงินคุ้มครองสูงสุดเฉพาะรายการนั้นๆ ไว้อย่างชัดเจน เช่น ค่าห้องผ่าตัดและอุปกรณ์ในห้องผ่าตัด 7,000 บาทต่อครั้ง ค่าตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยา 5,000 บาทต่อครั้ง เป็นต้น
แบบที่ 2 ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายตามจริง ซึ่งเราสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริงภายใต้วงเงินคุ้มครองสูงสุดต่อปี เช่น วงเงินเหมาจ่าย 10 ล้านบาท แต่ไม่เกินผลประโยชน์สูงสุดต่อปี โดยอาจจะมีเฉพาะบางรายการที่ยังคงมีการกำหนดวงเงินสูงสุดไว้ เช่น ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาลประจำวันและค่าห้องผู้ป่วยหนัก เป็นต้น
ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่ผู้เอาประกันจำเป็นต้องพิจารณาก็คือ วงเงินความคุ้มครองเหล่านี้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่อครั้งในการเข้ารับการรักษาพยาบาลของเราหรือไม่
นอกจากนี้ เบี้ยประกันที่มีความเหมาะสมกับความคุ้มครองที่ได้รับก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยผู้ซื้อควรพิจารณาถึงความสามารถในการชำระเบี้ยประกันของตัวเองและไม่ควรพิจารณาเฉพาะเบี้ยประกันที่จะต้องจ่ายในปีปัจจุบันเท่านั้น แต่ควรศึกษาตารางเบี้ยประกันเพื่อดูถึงแนวโน้มของเบี้ยประกันในปีต่อๆ ไปด้วยว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงหลังเกษียณ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลายคนอาจไม่มีรายได้ แต่มักเป็นช่วงที่เบี้ยประกันสุขภาพมักเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น จึงควรเลือกแบบประกันที่เรามีความสามารถเพียงพอที่จะชำระเบี้ยได้ในระยะยาวและมีค่าเบี้ยไม่แพงจนเกินไป
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทที่ตัวเองสังกัดอยู่แล้ว สามารถประหยัดเบี้ยประกันสุขภาพให้ถูกลงได้ ด้วยการเลือกซื้อแบบประกันสุขภาพที่มีเงื่อนไขของ ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) ซึ่งหมายถึงการรับภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลบางส่วนไว้ด้วยตัวเอง เพื่อแลกกับการจ่ายเบี้ยประกันที่ถูกลง โดยในส่วนที่เราต้องรับภาระเองนั้น สามารถใช้สวัสดิการที่ได้รับจากบริษัทได้ ซึ่งถือเป็นการ บริหารสิทธิประโยชน์ที่เราได้รับในฐานะมนุษย์เงินเดือนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อีกปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการพิจารณาเลือกซื้อประกันสุขภาพ คือ การการันตีต่ออายุการรับประกัน เนื่องจากจะทำให้เราสามารถมั่นใจได้ว่า เราจะได้รับการคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันสุขภาพต่อไปในระยะยาวจนกระทั่งถึงอายุสูงสุดที่กรมธรรม์นั้นๆ รับประกัน แม้มีการเคลมค่ารักษาพยาบาลที่สูงหรือมีการเคลมบ่อยครั้ง ถือเป็นการปิดความเสี่ยงที่เราจะถูกบริษัทประกันปฏิเสธการต่ออายุการรับประกันกลางคัน ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของเราได้อย่างมาก หากเกิดขึ้นในช่วงที่เราขาดรายได้
หลายคนมักเข้าใจผิดว่า การซื้อประกันสุขภาพพ่วงกับประกันชีวิตนั้น จะสามารถการันตีการต่ออายุกรมธรรม์ประกันสุขภาพได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากบริษัทประกันยังคงมีสิทธิยกเลิกตัวประกันสุขภาพที่เป็นสัญญาพ่วงได้ โดยไม่ถือเป็นการทำผิดเงื่อนไข
ดังนั้น สำหรับคนที่ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่แล้วและอยากได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพเพิ่มเติม แนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพแบบที่เป็นกรมธรรม์เดี่ยว โดยไม่จำเป็นต้องซื้อประกันสุขภาพเป็นสัญญาที่พ่วงกับประกันชีวิต เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจ่ายเบี้ยประกันและทำให้เราได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพที่ตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง
จะเห็นได้ว่าการซื้อประกันสุขภาพนั้น นอกจากให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีกับมนุษย์เงินเดือนในทุกๆ ปีแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการวางแผนการเงินส่วนบุคคล เป็นเครื่องมือที่ช่วยบริหารความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันกรมธรรม์ประกันสุขภาพมีหลากหลายรูปแบบให้ได้เลือกซื้อมากขึ้น ผู้ซื้อจำเป็นต้องศึกษาเงื่อนไขและเลือกกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่ตรงกับความต้องการของตัวเองเพื่อให้คุ้มค่ากับเบี้ยประกันที่จ่ายไปให้มากที่สุด
สิ่งสุดท้ายที่อยากเน้นย้ำก็คือ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการซื้อประกันสุขภาพนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่ช่วงปลายปีที่เรามักต้องการใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี หากแต่เป็นวันนี้ วันที่เรายังมีสุขภาพที่ดี ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ซึ่งจะส่งผลให้การทำประกันสุขภาพนั้นเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเราและคนที่เรารัก
อ่านต่อที่ https://www.posttoday.com