"นอนกรน" เสี่ยงหยุด "หายใจ" ขณะหลับ
ภาวะหยุดหายในขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) เป็นความผิดปกติในการนอนหลับ มักมีความเกี่ยวข้องและเกิดขึ้นได้กับผู้ที่นอนกรน ควรไปพบแพทย์หากพบอาการต่อไปนี้ร่วมกับการนอนกรน http://winne.ws/n26688
นอนกรน (Snoring)
คือภาวะที่มีเสียงแหบ ๆ หรือเสียงผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างหายใจในขณะนอนหลับ เกิดขึ้นจากการถูกปิดกั้นของทางเดินหายใจบางส่วน และจะกรนดังมากขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนหงาย การนอนกรนที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถบรรเทาลงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น นอนตะแคง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน โดยการนอนกรนส่งผลต่อทั้งสุขภาพของผู้ที่นอนกรนเองและรบกวนบุคคลที่นอนข้าง ๆ นอนกรนพบได้มากในเพศชาย และจะมีอาการหนักขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
อาการนอนกรน
นอนกรนมักเกิดขึ้นในช่วงของการหลับลึกและจะกรนดังมากขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนหงาย โดยมีเสียงเกิดขึ้นที่บริเวณลำคอระหว่างหายใจเข้าในขณะนอนหลับ พบได้ในเพศชายมากกว่าในเพศหญิง ส่วนมากผู้ที่นอนกรนมักเกิดอาการร่วมกันระหว่างทางเดินหายใจถูกปิดกั้นและอวัยวะภายในลำคอสั่น เสียงที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่เกิดการสั่น เช่น หากเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณด้านหลังของโพรงจมูกสั่นจะทำให้เกิดเสียงขึ้นจมูก หรือหากเพดานอ่อนหรือลิ้นไก่สั่นจะทำให้เกิดเสียงที่ดังมากขึ้นในลำคอ เป็นต้น
ความรุนแรงของการนอนกรน แบ่งได้ 3 ระดับ ดังนี้
ความรุนแรงระดับ 1 คือการนอนกรนทั่วไป ไม่บ่อย และมีเสียงไม่ดังมาก การนอนกรนในระดับนี้ยังไม่ส่งผลต่อการหายใจในขณะนอนหลับ แต่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของบุคคลที่นอนข้าง ๆ
ความรุนแรงระดับ 2 คือการนอนกรนที่เกิดขึ้นบ่อย หรือมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ การนอนกรนในระดับนี้อาจส่งผลต่อการหายใจในระดับน้อยถึงปานกลางในขณะนอนหลับ และส่งผลให้รู้สึกง่วงและเหนื่อยในเวลากลางวัน
ความรุนแรงระดับ 3 คือการนอนกรนเป็นประจำทุกวันและมีเสียงดัง การนอนกรนในระดับนี้มักเกิดภาวะหยุดหายในขณะหลับร่วมด้วย อาจทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดกั้นบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นเวลาประมาณ 10 วินาที ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ภาวะหยุดหายในขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA)
เป็นความผิดปกติในการนอนหลับ มักมีความเกี่ยวข้องและเกิดขึ้นได้กับผู้ที่นอนกรน ควรไปพบแพทย์หากพบอาการต่อไปนี้ร่วมกับการนอนกรน
1. กรนเสียงดัง
2. ง่วงมากในตอนกลางวัน
3. ปวดศีรษะในตอนเช้า
4. คอแห้ง เจ็บคอ
5. สมาธิและความจำลดลง
6. นอนกระสับกระส่าย
7. สำลัก หรือเจ็บหน้าอกในตอนกลางคืน
8. ความดันโลหิตสูง
สาเหตุของนอนกรน
นอนกรนเป็นผลมาจากทางเดินหายใจตอนบนตีบแคบลงหรือถูกปิดกั้น ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุดังต่อไปนี้
1. ทางเดินหายใจบริเวณจมูกถูกปิดกั้น พบได้ในผู้ป่วยภูมิแพ้ ผู้ป่วยไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยริดสีดวงจมูก หรือผู้ที่มีโครงสร้างของจมูกผิดปกติ เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด เป็นต้น
2. ลิ้นและกล้ามเนื้อที่ลำคอหย่อนคลายตัว ทำให้ถอยกลับไปปิดกั้นทางเดินหายใจ พบได้ในผู้ที่หลับลึก ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากโดยเฉพาะในช่วงก่อนนอน ผู้ที่ใช้ยานอนหลับ รวมถึงผู้สูงอายุ
3. เนื้อเยื่อที่ลำคอมีขนาดใหญ่ พบได้ในคนอ้วน มีน้ำหนักตัวมาก คอหนาหรือมีขนาดของรอบคอมากกว่า 43 เซนติเมตร ผู้ที่มีต่อมทอนซิลหรือต่อมแอดีนอยด์โต
4. เพดานอ่อนหรือลิ้นไก่ยาว ทำให้ทางเดินหายใจหลังจมูกและลำคอตีบแคบลง และเมื่อเพดานอ่อนหรือลิ้นไก่สั่นหรือชนกันจะไปปิดกั้นทางเดินหายใจ
การวินิจฉัยนอนกรน
โดยทั่วไป อาการนอนกรนมักเป็นอาการที่ผู้ป่วยสังเกตได้เองหรือคนรอบข้างพบอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม สำหรับการตรวจในโรงพยาบาล แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ที่นอนกรน หรือตรวจร่างกาย หากแพทย์สงสัยว่าจะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติในช่องปากของผู้ที่นอนกรนในระดับที่ไม่รุนแรง เพื่อหาทางรักษาต่อไป หรือผู้ที่นอนกรนในระดับที่รุนแรง แพทย์อาจมีแนวทางในการวินิจฉัยอื่น ๆ ร่วมด้วยดังต่อไปนี้
1. การเอกซเรย์ (X-Rays) การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจสอบความผิดปกติหรือโครงสร้างของทางเดินหายใจ
2. การตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep Test หรือ Polysomnography) แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการนอนกรน ปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาการนอนหลับอื่น ๆ อาจต้องนอนค้างที่โรงพยาบาลเพื่อศึกษาและวิเคราะห์การนอนหลับโดยผู้เชี่ยวชาญ จะมีการติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตรวจจับและบันทึกสัญญาณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คลื่นสมอง อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด ระยะของการนอนหลับ การเคลื่อนไหวของดวงตา การเคลื่อนไหวของขาขณะนอนหลับ เป็นต้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจการนอนหลับด้วยตนเองที่บ้าน (Home sleep test) โดยหลักการของเครื่องจะตรวจจับค่าออกซิเจนและค่าอื่น ๆ ในระหว่างนอนหลับ จากนั้นข้อมูลจะถูกส่งไปยังผู้เชี่ยวชาญให้ประเมินผลออกมาเป็นกราฟและแพทย์จะวินิจฉัยข้อมูลอีกครั้ง วิธีนี้เป็นการวินิจฉัยทางเลือกอีกวิธีที่อาจช่วยลดภาระด้านต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้ เช่น ประหยัดค่ารักษาบางส่วน ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือนอนหลับได้สนิทมากกว่า เพราะได้นอนในสถานที่ที่คุ้นเคย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การตรวจแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษาด้วยวิธีใด ๆ ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ เพื่อให้แพทย์ประเมินและแนะนำวิธีการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
การรักษานอนกรน
เบื้องต้นแพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สำหรับผู้ที่นอนกรนในระดับที่ไม่รุนแรง เช่น ลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนเข้านอน เปลี่ยนท่านอนจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง เป็นต้น ส่วนผู้ที่นอนกรนในระดับรุนแรงหรือมีสาเหตุการกรนมาจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์อาจมีแนวทางในการรักษาดังต่อไปนี้
1. การใช้อุปกรณ์ช่วยลดการนอนกรน จะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถบรรเทาการนอนกรนได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น
- อุปกรณ์ช่วยลดกรนทางจมูก เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ทางเดินหายใจในจมูก เช่น แผ่นแปะจมูก (Nasal Strip) มีลักษณะเป็นเทปกาวขนาดเล็กแปะที่บริเวณปีกจมูกทั้งสองข้าง
- อุปกรณ์ช่วยลดกรนทางปาก เช่น แผ่นแปะคาง (Chin Strip) มีลักษณะเป็นแผ่นหรือเทปแปะที่บริเวณใต้คางเพื่อป้องกันการอ้าปากในขณะนอนหลับ เป็นต้น
- เครื่องช่วยจัดตำแหน่งของขากรรไกรล่าง (Mandibular Advancement Device: MAD) จะช่วยเพิ่มพื้นที่หลังของลำคอและป้องกันการตีบแคบของทางเดินหายใจซึ่งจะทำให้ลิ้นสั่นในขณะหายใจและเกิดเสียงกรนได้
2. การผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถบรรเทาการนอนกรนได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการใช้อุปกรณ์ช่วยลดการนอนกรนได้ เช่น
- การผ่าตัดกระชับเนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และผนังคอหอย (Uvulopalatopharyngoplasty: UPPP) ในบางกรณีอาจมีการผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมแอดีนอยด์ร่วมด้วย อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการพูดไม่ชัดหลังการผ่าตัด หรือเกิดผลข้างเคียงรุนแรงอย่างอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ประมาณ 1% เช่น เลือดออกมาก ปอดติดเชื้อ หัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น
- การผ่าตัดตกแต่งเนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อนและลิ้นไก่โดยใช้เลเซอร์ (Laser-Assisted Uvulopalatoplasty: LAUP) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งแต่ในระยะยาวอาจให้ผลลัพธ์ได้ไม่ดีเท่าการผ่าตัดกระชับเนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และผนังคอหอย
- การผ่าตัดเพดานอ่อน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้เนื้อเยื่อและลดการสั่นของเพดานอ่อนในขณะนอนหลับ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัดด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency Ablation: RFA) ด้วยการใช้คลื่นวิทยุทำให้เนื้อเยื่อแข็งแรงขึ้น หรือการฝังพิลลาร์ (Pillar Procedure) โดยฉีดเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ที่เพดานอ่อน
3. การใช้ยา เพื่อรักษาที่ต้นเหตุของการนอนกรน เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ในการบรรเทาอาการบวมและระคายเคืองในจมูกของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือยาแก้คัดจมูก (Nasal Decongestant) แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเกิน 7 วัน เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้
ภาวะแทรกซ้อนของนอนกรน
นอนกรนนอกจากจะสร้างความรำคาญให้กับบุคคลที่นอนข้าง ๆ แล้ว อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- หยุดหายใจชั่วคราว อาจนานไม่กี่วินาทีหรือนานเป็นนาทีในขณะนอนหลับ มีสาเหตุมาจากทางเดินหายใจถูกปิดกั้นบางส่วนหรือทั้งหมด
- นอนหลับไม่สนิท ตื่นกลางดึกหลายครั้ง ที่อาจรู้ตัวและไม่รู้ตัว ทำให้รู้สึกง่วงนอนในระหว่างวัน ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและประสิทธิภาพในการขับขี่ยานพาหนะ
- ความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง หากเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นเวลานาน
การป้องกันนอนกรน
นอนกรนในระดับที่ไม่รุนแรงสามารถบรรเทาและป้องกันได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
1. ลดน้ำหนัก โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน จะช่วยให้การนอนกรนลดลงได้
นอนตะแคง การนอนหงายเพิ่มโอกาสให้ลิ้นไปปิดกั้นทางเดินหายใจ วิธีแก้ ลองเย็บกระเป๋าเล็ก ๆ ที่ด้านหลังเสื้อนอน แล้วใส่ลูกเทนนิสลงไป หากกังวลว่าจะกลับมานอนหงายในระหว่างการนอนหลับ
นอนหมอนสูง โดยใช้หมอนรองให้ศีรษะสูงขึ้นประมาน 4 นิ้ว
ใช้แผ่นแปะจมูกหรือตัวถ่างจมูกในขณะนอนหลับ จะช่วยเพิ่มพื้นที่ทางเดินหายใจในจมูก ทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น
ลดการปิดกั้นของทางเดินหายใจในจมูก ในผู้ป่วยภูมิแพ้หรือผนังกั้นช่องจมูกคดจะหายใจทางจมูกไม่สะดวกจึงต้องหายใจทางปาก ทำให้เพิ่มโอกาสในการนอนกรนได้มากขึ้น
ลดปริมาณหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับและยาระงับประสาท เพื่อลดโอกาสที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำคอคลายตัวและปิดกั้นทางเดินหายใจ
2. เลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุให้คัดจมูก และหายใจไม่สะดวก
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เด็กก่อนวัยเรียนควรนอนประมาณ 11-12 ชั่วโมงต่อวัน เด็กในวัยเรียนควรนอนอย่างน้อย 10 ชั่วโมงต่อวัน วัยรุ่นควรนอนประมาณ 9-10 ชั่วโมงต่อวัน และผู้ใหญ่ควรนอนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
ขอขอบคุณภาพ/ ข้อมูล : pobpad , pixabay