วันเข้าพรรษา คือ อะไร ???

วันเข้าพรรษา คือ ช่วงเวลาฤดูฝน 3 เดือน ที่เปิดโอกาสให้ภิกษุทั้งหลายได้พบปะสนทนาธรรม แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ที่สำคัญคือการประพฤติปฏิบัติธรรม อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกชีวิต http://winne.ws/n26304

3.6 พัน ผู้เข้าชม
วันเข้าพรรษา คือ อะไร  ???

“พรรษา” แปลว่า  ฤดูฝน

“เข้าพรรษา” หมายถึง  เข้าฤดูฝน 

วันเข้าพรรษา ก็คือ วันแรกที่พระสงฆ์จะอยู่จำพรรษาที่วัด ไม่ไปพักแรมหรือค้างคืนที่ไหน จนครบ  ๓  เดือน นับตั้งแต่วันแรม  ๑ ค่ำ  เดือน  ๘ (หลังวันอาสาฬหบูชา  ๑  วัน) ถึงวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ เดือน  ๑๑  

ความเป็นมาของวันเข้าพรรษา

ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์  สมัยนั้นยังมิได้ทรงบัญญัติเรื่องการจำพรรษา ภิกษุทั้งหลายจึงเที่ยวจาริกไปทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี

ในสมัยนั้น ช่วงฤดูฝนเป็นฤดูกาลในการทำไร่ทำนาของชนทั้งหลาย  เพราะเป็นฤดูที่อากาศเหมาะสม  และมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์  เมื่อภิกษุเที่ยวจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ นั้น  บางครั้งไม่ได้ระมัดระวัง  ก็เผลอเหยียบข้าวกล้าในนา  ทำความเสียหายแก่พืชพันธุ์เหล่านั้น  และในบางครั้งก็พลาดพลั้งเหยียบสัตว์ตายไปก็มี

ชาวบ้านทั้งหลายจึงพากันกล่าวติเตียนว่า  ทำไมพระภิกษุซึ่งเป็นเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้เที่ยวจาริกตลอดฤดูหนาว  ฤดูร้อน และฤดูฝน เที่ยวเดินเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวไร่ชาวนา แล้วยังเหยียบสัตว์เล็กสัตว์น้อยตายไปเป็นจำนวนมาก

เมื่อเหล่าภิกษุได้ยินชาวบ้านว่ากล่าวติเตียนเช่นนี้  จึงกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า  พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติพระวินัย  ให้ภิกษุทั้งหลายอยู่จำพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือน

ภิกษุทั้งหลายต่างสงสัยว่าจะต้องจำพรรษาเมื่อใดหนอ  จึงกราบทูลถามพระพุทธองค์  พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า  เราอนุญาตให้เข้าพรรษาในฤดูฝน

ภิกษุทั้งหลายก็สงสัยอีกว่า  วันเข้าพรรษาในฤดูฝนเป็นวันไหนกันแน่  จึงพากันไปกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระพุทธองค์จึงรับสั่งว่า  ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษามีอยู่  ๒  วันด้วยกัน คือ  วันเข้าพรรษาต้น  และวันเข้าพรรษาหลัง

วันเข้าพรรษาต้น  ได้แก่ วันที่ดวงจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงแล้ว ๑  วัน  ตรงกับวันแรม  ๑ ค่ำ  เดือน  ๘ 

วันเข้าพรรษาหลัง  ได้แก่ วันที่ดวงจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงแล้ว ๑  เดือน  ตรงกับวันแรม  ๑ ค่ำ  เดือน  ๙ หากภิกษุรูปใดมาจำพรรษาในวันเข้าพรรษาต้นไม่ทัน  ก็สามารถเข้าจำพรรษาในวันเข้าพรรษาหลังได้ 

ส่วนกรณีมีเหตุจำเป็นต่าง ๆ ก็มีข้อยกเว้นดังต่อไปนี้

สัตตาหกรณียะ คือกิจที่ทรงอนุญาตให้ไปกลับภายใน  ๗  วัน

ตลอดฤดูกาลแห่งการจำพรรษา พระพุทธองค์ทรงห้ามพระภิกษุเที่ยวจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ตลอดฤดูฝน  ยกเว้นเมื่อมีเหตุจำเป็น  ที่เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ”  จึงจะทรงอนุญาตให้เดินทางในระหว่างพรรษาได้  โดยให้กลับภายใน  ๗  วัน

ความเป็นมาแห่งสัตตาหกรณียะ

หลังจากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติการอยู่จำพรรษาแล้ว  ครั้งหนึ่งเมื่อพระองค์ประทับอยู่  ณ เชตวนาราม  กรุงสาวัตถี  มีอุบาสกชาวเมืองโกศลคนหนึ่งชื่อ  อุเทน ได้สร้างวิหารถวายสงฆ์ เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ส่งคนไปนิมนต์ภิกษุทั้งหลายมา  เพื่อตนจะได้ถวายวิหารทาน  และฟังธรรม

แต่ภิกษุทั้งหลายตอบว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า  ภิกษุเข้าพรรษาแล้ว  ต้องอยู่ประจำที่ตลอด  ๓ เดือน  จะเที่ยวไปในที่ต่างๆ  ตามความประสงค์เหมือนช่วงก่อนเข้าพรรษาไม่ได้  ขออุบาสกอุเทนจงรอก่อนเถิด เมื่อหมดเขตพรรษาแล้วภิกษุทั้งหลายจะรีบพากันไป  แต่ถ้าหากอุบาสกมีภารกิจอื่นที่ต้องรีบทำ  และจำเป็นต้องถวายวิหารในเวลานั้น  ก็ให้ถวายแก่ภิกษุที่ประจำอยู่ในอารามใกล้ ๆ นั้นเถิด

อุบาสกอุเทนทราบข่าวแล้ว  ก็ไม่พอใจ ถึงกับกล่าวติเตียนภิกษุสงฆ์ว่า เมื่อเราส่งข่าวไปแล้ว เหตุใดพระคุณเจ้าทั้งหลายจึงไม่มา ทั้ง ๆ ที่เราก็เป็นทายกผู้ทำกิจการงานของสงฆ์  เป็นผู้อุปัฏฐากสงฆ์

ภิกษุทั้งหลายได้ยินคำติเตียนดังนี้แล้ว ก็พากันไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบ  พระองค์จึงตรัสว่า  ตถาคตอนุญาตให้ไปได้  ๗ วัน  ผู้ที่จะไป  ได้แก่ ภิกษุ  ภิกษุณี  นางสิกขมานา (สามเณรีที่ได้รับการอบรม  เป็นเวลา  ๒ ปี  เพื่ออุปสมบทเป็นภิกษุณี)  สามเณร สามเณรี  อุบาสก  อุบาสิกา แต่เมื่อไปแล้ว ต้องกลับมาให้ทันภายใน  ๗  วัน

ถ้ามีใครสร้างวิหาร  เพิง ปราสาท  ปราสาทโล้น  ถ้ำ บริเวณซุ้มประตู  เรือนไฟ  ศาลาเรือนไฟ สระโบกขรณี  มณฑป  อาราม พื้นอาราม  ฯลฯ  แล้วได้ส่งข่าวให้คนไปนิมนต์ภิกษุว่า  ขอให้พระคุณเจ้ามาเถิด  ข้าพเจ้าทั้งหลายมีความประสงค์จะให้ทาน  จะฟังธรรม และอยากเห็นภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุทั้งหลายก็ควรจะไปได้  แต่ต้องกลับมาให้ทันภายใน  ๗  วัน

สัตตาหกรณียะ ที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาต มีดังต่อไปนี้

๑. เมื่อมีสาธุชนปรารถนาจะบำเพ็ญบุญกุศล และส่งคนมานิมนต์ ในกรณีเช่นนี้ทรงอนุญาตให้ไปได้เฉพาะที่เขาส่งคนมานิมนต์  ถ้าไม่ส่งคนมานิมนต์ก็ไม่ทรงอนุญาตให้ไป

๒. เมื่อเพื่อนสหธรรมิกอาพาธ จะส่งคนมานิมนต์หรือไม่ก็ตาม ทรงอนุญาตให้ไปช่วยดูแลได้

๓. เมื่อเพื่อนสหธรรมิกเกิดความไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์  เกิดความรังเกียจ  หรือเกิดความเห็นผิด  ทรงอนุญาตให้ไปเพื่อระงับเหตุนั้น ๆ ได้

๔.  เมื่อเพื่อนสหธรรมิก (เฉพาะภิกษุ ภิกษุณี) ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ปรารถนาจะออกจากอาบัติในขั้นใดก็ตาม ทรงอนุญาตให้ไปได้

๕. เมื่อสงฆ์ปรารถนาจะทำสังฆกรรมลงโทษภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  และภิกษุรูปที่จะถูกลงโทษต้องการให้ไป  เพื่อไกล่เกลี่ยไม่ให้ต้องรับโทษ  หรือให้โทษเบาลง หรือไปเพื่อแนะนำภิกษุรูปนั้นให้ปฏิบัติโดยชอบด้วยพระวินัย  หรือเพื่อปลอบใจ  เป็นต้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปได้

๖. เมื่อนางสิกขมานา หรือสามเณรปรารถนาจะบวช ทรงอนุญาตให้ไป เพื่อช่วยเหลือในการนั้นได้

๗. มารดา  บิดา  พี่น้อง หรือญาติเจ็บป่วย  แม้จะส่งคนมานิมนต์หรือไม่ก็ตาม  เมื่อทราบเรื่องก็สามารถไปได้

๘. เมื่อวิหารชำรุด สามารถไปเพื่อหาสิ่งของมาปฏิสังขรณ์ได้

การขาดพรรษาที่ไม่ต้องอาบัติ

ภิกษุใดไม่อยู่จำพรรษา หรือพบวัดที่จะจำพรรษาแล้วแกล้งเดินทางเลยไปเสีย  ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฎ  แต่ก็มีข้อยกเว้นบางกรณี  คือเมื่อมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น  ทำให้ไม่สามารถจำพรรษาในที่นั้นๆ ต่อไปได้  ก็ทรงอนุญาต ไม่ให้ต้องอาบัติ ในกรณีดังต่อไปนี้

๑. เมื่อถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น  วิหารถูกไฟไหม้  หรือน้ำท่วม

๒. เมื่อชาวบ้านถูกโจรปล้น แล้วอพยพหนีไป  ทรงอนุญาตให้ไปกับเขาได้  และหากชาวบ้านแตกกันเป็น  ๒ ฝ่าย ทรงอนุญาตให้ไปกับฝ่ายข้างมากได้ หรือถ้าฝ่ายข้างมากไม่มีศรัทธาเลื่อมใส ก็ทรงอนุญาตให้ไปกับฝ่ายข้างน้อยที่มีศรัทธาเลื่อมใสได้

๓. เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร หรือยารักษาโรค หรือขาดผู้บำรุง ทำให้ได้รับความลำบากในปัจจัย ๔  ทรงอนุญาตให้ไปสู่ที่อื่นได้

๔. หากมีผู้เอาทรัพย์มาล่อ ทรงอนุญาตให้ไปให้พ้นได้

๕. เมื่อภิกษุสงฆ์  หรือภิกษุณีสงฆ์แตกกัน  หรือมีผู้พยายามทำให้แตกกัน  หรือทำให้แตกกันแล้ว  ทรงอนุญาตให้ไป  เพื่อช่วยระงับความไม่สามัคคีนั้นได้

ทรงอนุญาตการจำพรรษาในที่บางแห่ง

ภิกษุบางรูปประสงค์จะจำพรรษาในที่บางแห่งต่าง ๆ กัน ทรงผ่อนผันให้จำพรรษาได้  คือ

๑. ในคอกสัตว์ (อยู่ในที่ของนายโคบาล)

๒. เมื่อคอกสัตว์ย้ายไป ทรงอนุญาตให้ย้ายตามไปได้

๓. ในหมู่เกวียน

๔. ในเรือ

ทรงห้ามจำพรรษาในที่ไม่สมควร

ทรงห้ามการจำพรรษาในที่ไม่สมควร  (ไม่ปลอดภัย หรือคับแคบเกินไป)  คือ

๑. ในโพรงไม้       

๒. บนกิ่งหรือคาคบไม้

๓. กลางแจ้ง       

๔. ไม่มีเสนาสนะ (ที่นอนที่นั่ง)

๕. ในโลงศพ /ในกระท่อมผี

๖. ในกลด

๗. ในตุ่ม

ข้อห้ามอื่นๆ

๑. ห้ามตั้งกติกาที่ไม่สมควร  เช่น  ตั้งกติกาว่าในพรรษาจะไม่บวชสามเณรให้ เป็นต้น

๒. ห้ามรับปากว่าจะจำพรรษาในที่ใดแล้ว แต่กลับไม่จำพรรษาในที่นั้น

พุทธประเพณีการจำพรรษาได้ยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนานกว่า  ๒,๕๐๐ ปี นับตั้งแต่วันที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัย  ณ เวฬุวนาราม ในครั้งนั้นประเพณีอันดีงามนี้ก็ยังคงยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องตลอดมา  ตราบกระทั่งถึงทุกวันนี้

การอยู่จำพรรษานั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุทั้งหลายได้พบปะสนทนาธรรม  แลกเปลี่ยนความรู้  และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน  เพื่อการประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น  มีเวลาประพฤติปฏิบัติธรรม  ทำใจหยุดใจนิ่งมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเข้ามาบวชในบวรพระพุทธศาสนา  คือ การทำพระนิพพานให้แจ้ง อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกชีวิต

 

ขอขอบคุณข้อมูล : กองวิชาการ 01

ขอขอบคุณรูปภาพ : เข้าพรรษา

แชร์