ทนายดัง เตือน ‘พรบ.ข่าวกรองฯ’ น่ากลัวกว่า ‘พรบ.ไซเบอร์’ อนุญาตให้ล้วงได้หมด!

“วิญญัติ” เตือน พรบ.ข่าวกรองเเห่งชาติ น่ากลัวกว่า พรบ.ไซเบอร์ เป็นใบอนุญาตสอดเเนม ล้วงได้ทุกข้อมูล ไม่ต้องมีหมายศาล – เจ้าหน้าที่ ไม่ต้องรับผิด เตรียมยื่นผู้ตรวจการเเผ่นดินส่งศาล รธน.วินิจฉัย กฎหมายขัด รธน. http://winne.ws/n25951

4.4 พัน ผู้เข้าชม
ทนายดัง เตือน ‘พรบ.ข่าวกรองฯ’ น่ากลัวกว่า ‘พรบ.ไซเบอร์’ อนุญาตให้ล้วงได้หมด!

     เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและเลขาธิการสมาพันธ์ นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คเเสดงความเห็นต่อการบังคับใช้ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติฉบับใหม่ (พ.ศ.2562) ถึง 5 ข้อกังวลต่อกฎหมายข่าวกรองแห่งชาติใหม่ว่า

      1.เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและอาจนำข้อมูลใช้ในทางมิชอบ

     2.นิยามที่ไร้ขอบเขตทำให้ประเทศขาดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน

       3.เหตุเพื่อจำเป็นอนุญาตให้สอดแนมโดยไม่มีเส้นแบ่งและไร้การตรวจสอบจากศาล

      4.ความไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ ถึงความเป็นกลาง ไม่มีอคติไม่มีส่วนได้เสียในการใช้ประโยชน์จากข่าวกรอง

       5.รัฐกำลังสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนในการดำรงชีวิต

      โดยสรุป มีการเพิ่มเติมคำนิยามคำว่า “ การข่าวกรอง” โดยเพิ่มจากกฎหมายเก่า ให้รวมถึงวิธีการหาข่าวจากวิถีทางของบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์การใดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยที่อ้างเหตุเพียงอาจกระทำการอันเป็นพฤติการณ์เป็นภัยคุกคามเท่านั้น

     จะเห็นว่าคำว่า “ภัยคุกคาม” ไม่มีความชัดเจนที่แน่นอนและเปิดช่องให้ตีความอย่างกว้างขวาง กฎหมายนี้ถือใช้เป็นเครื่องมือของอำนาจบริหารโดยลำพัง โดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากอำนาจตุลาการ หรือศาล ขัดต่อหลักการสากลและหลักการสิทธิมนุษยชน

      กฎหมายนี้คือใบอนุญาตให้ใช้วิธีการใดๆเพื่อล่วงรู้ สอดแนมข้อมูลบุคคลอื่นๆโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือการกระทำใด หากทำตามหน้าที่และอำนาจโดยสุจริต ซึ่งความเป็นจริงก็มุ่งจะคุ้มครองเจ้าหน้าที่ไว้แล้วโดยกฎหมาย

      นอกจากนี้ทั้งยังเป็นเครื่องรับรองถึงความชอบการได้มาของข้อมูลและเอกสารข่าวโดยไม่ต้องพิสูจน์และยากต่อการหักล้างในการพิจารณาพยานหลักฐาน

      การออกกฎหมายนี้บังคับใช้ จึงอาจทำให้ประชาชนสุ่มเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพอย่างร้ายแรงและเป็นภัยเงียบเนื่องจากจะแสดงผลก็ต่อเมื่อถูกดำเนินคดีหรือถูกแบล็คเมล์ เกิดเป็นสภาวะ “การสูญเสียการควบคุมความเป็นส่วนตัว” ที่มนุษย์ต้องการควบคุมในฐานะปัจเจกบุคคลในสังคมอย่างปราศจากการรบกวน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการต้องปิดบังใดๆ เพราะถือเป็นคนละเรื่องกันกับภัยความมั่นคง

       ดังนั้น จึงมองว่ากฎหมายนี้อาจเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญว่าเป็นบทบัญญัติ กฎหมาย ที่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญต่อไป

      นายวิญญัติ ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มว่ากฎหมายข่าวกรองเเห่งชาตินี้เปรียบเทียบเเล้วยังดูน่ากลัว กว่า พรบ.ไซเบอร์ ที่มีคนออกมาคัดค้านกันจำนวนมากเสียอีก เพราะ พรบ.ไซเบอร์จะดูด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ถ้าไม่ใช่เหตุร้ายเเรงฉุกเฉินมากก็ยังจำเป็นต้องขอศาล

      เเต่ พรบ.ข่าวกรองฉบับใหม่นี้กฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารในการเข้าถึงข้อมูลทุกรูปเเบบทั้งหน้าบ้านหลังบ้าน โดยที่ไม่ต้องขอศาลเเละรับผิดทางกฎหมาย โดยเร็วๆนี้ตนเตรียมดูรายละเอียดเพื่อเตรียมไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการเเผ่นดินเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายดังกล่าวขัดหรือเเย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ต่อไป

อ่านต่อที่ https://www.facebook.com/khaosod/ 

แชร์