รู้จักโรค "ไฮเปอร์เทียม" ในเด็กไทย

กรมสุขภาพจิต พบเด็กไทยป่วยโรคไฮเปอร์กว่า 4 แสนคน เด็กเล็กเป็นโรค “ไฮเปอร์เทียม” มากขึ้น เหตุพ่อแม่ให้ลูกเล่นเกมในแท็บเล็ต มือถือ ทำเด็กคุมสมาธิไม่ได้ อารมณ์ร้อน รอคอยไม่เป็น http://winne.ws/n25230

5.4 พัน ผู้เข้าชม
รู้จักโรค "ไฮเปอร์เทียม" ในเด็กไทย

     กรมสุขภาพจิต พบเด็กไทยป่วยโรคไฮเปอร์กว่า 4 แสนคน เด็กเล็กเป็นโรค “ไฮเปอร์เทียม” มากขึ้น เหตุพ่อแม่ให้ลูกเล่นเกมในแท็บเล็ต มือถือ ทำเด็กคุมสมาธิไม่ได้ อารมณ์ร้อน รอคอยไม่เป็น

     น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคจิตเวชที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กวัยเรียนนั้น พบว่า กลุ่มเด็กนักเรียนอายุ 6-15 ปี ที่มีปัญหาการเรียน ผลการเรียนไม่ดี หรือเรียนไม่ทันเพื่อน มักจะพบมีโรคทางจิตเวชแอบแฝง

     ที่พบบ่อยที่สุดมี 4 โรค ได้แก่ 

     1.โรคออทิสติก 

     2.โรคสมาธิสั้น 

     3.โรคแอลดีหรือภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ 

     4. สติปัญญาบกพร่อง 

โดยเกิดมาจากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก โดยเด็กที่เป็นออทิสติกและสติปัญญาบกพร่องจะตรวจพบพัฒนาการที่ผิดปกติได้เร็วตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนเด็กที่มีลักษณะของโรคแอลดีนั้น เด็กกลุ่มนี้ไม่มีปัญหาเรื่องไอคิว แต่มีความผิดปกติทางการอ่านเขียนคำนวณต่ำกว่าเด็กวัยเดียวกัน 2 ชั้นปี ควรได้รับการติดตามช่วยเหลือ สำหรับโรคสมาธิสั้นเป็นโรคที่พบได้มากและมีผลกระทบกับคนรอบข้างได้บ่อยที่สุด 

     โรคสมาธิสั้น เด็กจะมีอาการแสดงหลักๆ 3 ด้าน ได้แก่ ซนอยู่ไม่นิ่ง ขาดสมาธิ และหุนหันพลันแล่น ประชาชนมักนิยมเรียกว่าโรคไฮเปอร์ โดยเด็กจะวอกแวก ทำงานตกๆ หล่นๆ ทำอุปกรณ์การเรียนหายประจำ ซุ่มซ่าม ใจร้อน วู่วาม อาการดังกล่าวเกิดมาจากสมองทำงานผิดปกติ ซึ่งผู้ปกครองมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กดื้อหรือเป็นเด็กที่ไม่มีความรับผิดชอบ โดยจะพบความผิดปกติชัดเจนขึ้นเมื่ออยู่ชั้นประถมศีกษา ดังนั้น หากผู้ปกครองและครูไม่เข้าใจ จะยิ่งทำให้เด็กเกิดปัญหาอารมณ์และพฤติกรรมอาจส่งผลถึงอนาคต


     เรื่องที่น่าห่วงมากขณะนี้พบว่าเด็กเล็กทั่วไปที่ปกติ เป็นโรคไฮเปอร์เทียมกันมากขึ้น กล่าวคือมีอาการคล้ายโรคไฮเปอร์ แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย

      สาเหตุสำคัญเกิดมาจากพ่อแม่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เลี้ยงดูลูกแบบตามใจ หรือปล่อยปละละเลย ให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบเล่นหรือดูเกมในแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน เพราะเห็นเหมือนว่าเด็กจะนิ่ง ไม่ซุกซน ไม่กวนใจพ่อแม่ วงการจิตแพทย์พบว่าความเร็วของภาพในเกมซึ่งเปลี่ยนเร็วทุก 3 วินาทีจะส่งผลโดยตรงต่อสมองทำงานไม่ลงตัว คุมสมาธิไม่ได้ ทำให้ทักษะการอ่านการเขียนการพูดของเด็กแย่ลง เด็กมีอารมณ์ร้อน รอคอยไม่เป็น มีปัญหาการอยู่ร่วมกับเด็กวัยเดียวกันหรือคนอื่น จึงขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองระมัดระวัง อย่าให้เด็กเล็กเล่นเกมจากแท็บเล็ต โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ยิ่งหากให้หยุดเล่นสิ่งเหล่านี้ได้เร็วเท่าใดจะเป็นผลดีต่อเด็ก อาการจะค่อยๆ หายไป โดยผู้ปกครองควรให้เด็กได้เล่นกับเด็กวัยเดียวกัน เพื่อให้เด็กมีทักษะและพัฒนาการทุกด้าน


ที่มา : สสส.

แชร์