สพฐ.เตรียมถอดบทเรียน เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ก่อนเข้าจุดเสี่ยง

สพฐ.เตรียมถอดบทเรียน เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ก่อนเข้าจุดเสี่ยง http://winne.ws/n24291

933 ผู้เข้าชม
สพฐ.เตรียมถอดบทเรียน เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ก่อนเข้าจุดเสี่ยง

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า จากกรณีเกิดเหตุ ทีมฟุตบอลเยาวชนติดอยู่ในถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือออกมาได้นั้น ถือเป็นเหตุการณ์ที่จะต้องเรียนรู้เพิ่มเติม ใช้เรียนรู้ในสถานการณ์ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

ดังนั้น ภายหลังจากที่ช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ออกมาได้แล้ว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คงต้องถอดบทเรียนในเหตุการณ์นี้ออกมา ว่า นักเรียนควรมีการเตรียมพร้อมอย่างไรบ้าง ก่อนเข้าไปเที่ยวในมุมต่างๆ เช่น ไฟฉาย อาหารแห่ง น้ำดื่ม อย่างน้อยให้อยู่ได้ 1 - 2 วัน ซึ่งทุกครั้งที่เข้าไปสถานที่ที่มีจุดเสี่ยงก็จะต้องเตรียมพร้อม เตรียมการเผชิญเหตุ และเมื่อเผชิญเหตุแล้วจะต้องทำอย่างไรบ้าง ดังนั้น จึงต้องมีบทเรียนในเรื่องนี้เพิ่มเติม

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ขณะนี้เขตพื้นที่การศึกษา ได้ระดมส่งเงินมาเข้าบัญชี ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงราย เขต 3 จำนวน 131 แล้ว รวมทั้ง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และคณะทำงาน ร่วมสมทบด้วย จำนวน 5,000 บาท รวมถึง สพฐ และคณะผู้บริหาร จำนวน 17,000 บาท และเช้าวันนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพม.) เขต 1 กรุงเทพฯ นำเงินมามอบผ่านตน จำนวน 35,000 บาท ณ เวลา 9.00 น. ของวันนี้ มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ส่งเงินมาแล้ว จำนวน 131 เขต รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 395,100 บาท และกำลังทยอยโอนเงินมาร่วมทบสมเรื่อยๆ โดยเงินทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่ง จะแบ่งไปจัดซื้อเสบียงสนับสนุนทีมที่เข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ ที่ติดอยู่ภายในถ้ำ และส่วนหนึ่งไว้ช่วยเหลือผู้ปกครองเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทา

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการประชุมระดับนานาชาติ เกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติระดับโรงเรียน เพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ร่วมกับองค์กรแพลนประเทศไทย ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนการดูแลโรงเรียนให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติในมิติต่างๆ อย่างยั่งยืนและชัดเจนขึ้น โดยจะมีการปรับขบวนการเรียนการสอน และกิจกรรมในรายวิชาลูกเสือ เนตรนารี มีการฝึกปฏิบัติลูกเสือกู้ชีพร่วมกับศูนย์กู้ชีพ นเรนทน ฝึกการทำ CPR ช่วยปั๊มหัวใจกรณีเกิดเหตุฉุเฉิน อบรมลูกเสือจราจร รวมถึงมีการฝึกปฏิบัติหลักสูตรไลฟ์การ์ด ช่วยป้องกันการจมน้ำให้กับตัวเองและผู้อื่น โดยในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ สพฐ.ได้ฝึกอบรมลูกเสือจราจรให้กับนักเรียน 4 รุ่น ใน 4 มุมเมือง พื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้อบรมเสร็จแล้ว 3 รุ่น รุ่นละ 30 โรงเรียน จำนวน 300 คน เป็นการเติมเต็มในเรื่องความปลอดภัยทางถนนให้กับนักเรียน และในปีต่อไปจะกระจายไปพื้นที่ปริมณฑลและต่างจังหวัดทั่วประเทศ

“มิติในการอบรมลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในโรงเรียน จะมีการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มีการจัดทำแผนป้องกันภัยพิบัติในโรงเรียน การจัดองค์ความรู้ การเตรียมพร้อม และการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนปฏิบัติได้จริง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า นอกจากนี้ สพฐ.จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตั้งทีมกู้ภัยฉุกเฉินในกลุ่มโรงเรียน หรือโรงเรียนที่มักเกิดสถานการล่อแหลม เพื่อดูแลเรื่องเกียวกับภัยพิบัติต่างๆ การทำ CPR หรือการช่วยปั้มหัวใจ รวมถึงจัดให้มีระบบการสื่อสารสำรอง วิทยุสื่อสารที่สามารถสื่อสารได้ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือกรณีเกิดภัยพิบัติ

ขอบคุณข้อมูลจาก : thaihealth.or.th

แชร์