เป้าหมายชีวิต 3 ระดับของมนุษย์ ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา
เป้าหมายที่ชัดเจน เป็นสิ่งกำหนดทิศทางความคิด คำพูด และการกระทำ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชีวิตคนเรามีความก้าวหน้า "การตั้งเป้าหมาย" เปรียบเสมือนแม่เหล็กที่จะดึงดูดสู่สิ่งที่เรา "ต้องการจะเป็น" หรือ "ต้องการจะมีได้" เป็นพลังใจขับเคลื่อนความสำเร็จ http://winne.ws/n22067
เป้าหมายระดับที่ ๑ (บนดิน) ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์
ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่าง บ้างเรียกว่า หัวใจเศรษฐี "อุ อา กะ สะ" หรืออาจเรียกเต็ม ๆ ว่า ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔ หมายถึง ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน หลักธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น เพื่อประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ ที่คนทั่วไปปรารถนา มี ทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม ๔ ประการ คือ
๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น เช่นขยันหมั่นเพียร เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่อง อันเป็นอุบายในการงานนั้น ให้สามารถทำได้สำเร็จ
๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ (ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม) เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูล ไม่ให้ถูกลัก หรือทำลายไปโดยภัยต่างๆ
๓. กัลยาณมิตตตา คบคนดี ไม่คบคบชั่ว อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา
๔. สมชีวิตา อยู่อย่างพอเพียง รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ (อ้างอิงจาก: https://th.wikipedia.org/wiki/ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์)
สวรรค์ 1 ในสุคติภูมิ
เป้าหมายระดับที่ ๒ (บนฟ้า) สัมปรายิกัตถะ
สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ภายหน้า , ประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป อันได้แก่ ความมีจิตใจเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมความดี ทำให้ชีวิตนี้มีค่า และเป็นหลักประกันชีวิตในภพหน้า ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยธรรม ๔ ประการ คือ
๑. สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา
๒. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล
๓. จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาค
๔. ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา
ธรรม ๔ อย่างนี้เรียกเต็มว่า สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม
หลักธรรมข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์ (คิหิปฏิบัติ)(อ้างอิงจาก: https://plus.google.com/117364887905630623628/posts/UAccDjmtt4p)
เป้าหมายระดับที่ ๓ (เหนือฟ้า) ปรมัตถธรรม
ปรมัตถธรรม คือ ธรรมชาติที่เป็นความจริงแท้แน่นอน ที่ดำรงลักษณะเฉพาะของตนไว้โดย ไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมที่ปฏิเสธความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคล ความเป็นตัวตนโดยสิ้นเชิง ปรมัตถธรรม นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สภาวธรรม
ปรมัตถธรรม หรือสภาวธรรม นี้มี ๔ ประการคือ
๑. จิต
๒. เจตสิก
๓. รูป
๔. นิพพาน
นิพพาน เป็นธรรมชาติที่พ้นจากกิเลส พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด นิพพานโดยปริยาย มี ๒ ลักษณะคือ
๑. สอุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ยังเป็นไปกับขันธ์ ๕ หมายถึง
การที่ประหาณกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว (กิเลสนิพพาน) แต่ขันธ์ ๕ (จิต เจตสิก รูป) ยังมีการเกิดดับสืบต่ออยู่ (ยังมีชีวิตอยู่)
๒. อนุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ปราศจากขันธ์ ๕
ได้แก่นิพพานของพระอรหันต์ (ผู้หมดจดจากกิเลส) ที่สิ้นอายุขัยไปแล้ว (คือ กิเลสก็ไม่เหลือ ขันธ์ ๕ ก็ไม่เหลือ) หรือที่เรียกว่า ปรินิพพาน (ปริ = ทั้งหมด) เมื่อปรินิพพานแล้ว จิต + เจตสิกและรูปก็จะหยุดการสืบต่อและดับลงโดยสิ้นเชิง (คือเมื่อตายไปแล้วก็จะไม่มีการเกิดอีกหรือไม่มีภพชาติต่อไปอีก) นิพพาน เป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะต้องพยายามเข้าถึงให้จงได้ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธสาวก เป็นอริยบุคคล และเป็นทายาทผู้รับมรดกธรรมในพุทธศาสนานี้ (อ้างอิงจาก:http://www.dharma-gateway.com/dhamma/abidhamma-03.htm)