พญาช้างยอดกตัญญู มาตุโปสกชาดก

"ตอบแทนพระคุณของผู้มีพระคุณ ต้องด้วยคุณความดีเท่านั้น ไม่ใช่ตอบแทนด้วยการกระทำชั่ว กระทำในสิ่งที่ผิด" http://winne.ws/n22053

2.0 พัน ผู้เข้าชม
พญาช้างยอดกตัญญู  มาตุโปสกชาดก

มาตุโปสกชาดก พญาช้างยอดกตัญญู

ชาดกคือเรื่องราวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสเล่าถึงอดีตชาติของพระองค์สมัยที่ท่านเสวยพระชาติเป็นพระบรมโพธิสัตว์ เพื่อยกตัวอย่างการสร้างบารมีในทุกชาติที่ผ่านมาและเทศน์สอนพุทธสาวกให้เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม

และไม่ว่าพระองค์จะเสวยพระชาติเกิดเป็นอะไรก็ตามพระองค์จะคงมั่นในการสร้างบารมีและความดีตลอดทุกชาติดังเรื่องมาตุโปสกชาดกก็เช่นกันพระองค์เสวยพระชาติเป็นพญาช้างที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมความกตัญญูต่อมารดา

 ขนอบน้อมแด่พระผู้มี

พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น 

     ช่วงแรกจะขอสรุปชาดก   ก่อนที่จะได้นำเข้าสู่เนื้อหาของมาตุโปสกชาดกทั้งหมด  ซึ่งเป็นชาดกที่ว่าด้วยพญาช้างผู้เลี้ยงดูมารดา (มาตุ = มารดา , โปสกะ = ผู้เลี้ยงดู) ดังต่อไปนี้ .-

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงปรารภภิกษุผู้เลี้ยงดูมารดา ซึ่งเป็นการกระทำที่ถูกต้องไม่ผิดพระวินัยด้วยเพราะแม้บัณฑิตในปางก่อนก็ได้กระทำอย่างนี้มาแล้ว จึงได้ทรงยกชาดก (เรื่องที่เกิดขึ้น)  นี้ขึ้นแสดง

     ในอดีตกาล    พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาช้างเผือก   มีรูปร่างสวยงาม   มีช้าง ๘๐,๐๐๐  เชือกเป็นบริวาร   พระโพธิสัตว์เลี้ยงดูมารดาผู้ตาบอด   พระโพธิสัตว์จะฝากผลไม้อันมีรสอร่อยให้กับมารดาไปกับช้างที่เป็นบริวาร    แต่ช้างเหล่านั้นกลับกินผลไม้เสียเอง     ไม่ถึงมารดาพระโพธิสัตว์  พระโพธิสัตว์พบเห็นมารดาซูบผอม  จึงทราบได้ว่ามารดา  ไม่ได้ผลไม้ที่ตนฝากมาให้เลย   จึงได้หลีกออกจากหมู่ช้าง  เพื่อเลี้ยงดูมารดาเท่านั้น   ด้วยการนำมารดาหนีออกจากหมู่   ไปอยู่ที่เชิงเขา  แล้วพักมารดาไว้ที่ถ้ำแห่งหนึ่ง  ส่วนตนเองก็ออกเที่ยวหาผลไม้มาเลี้ยงดูมารดาเป็นประจำ

พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาช้างเผือก มีรูปร่างสวยงาม มีช้าง ๘๐,๐๐๐ เชือกเป็นบริวาร

พญาช้างยอดกตัญญู  มาตุโปสกชาดก

พญาช้างโพธิสัตว์พบเห็นมารดาซูบผอม จึงทราบได้ว่ามารดา ไม่ได้ผลไม้ที่ตนฝากมาให้เลย จึงได้หลีกออกจากหมู่ช้าง เพื่อเลี้ยงดูมารดาเท่านั้น ด้

พญาช้างยอดกตัญญู  มาตุโปสกชาดก

     วันหนึ่ง มีพรานป่าชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งเข้าป่ามาแล้วหลงทางออกจากป่าไม่ได้   จึงนั่งร้องไห้เศร้าโศกเสียใจอยู่    พระโพธิสัตว์พอได้ยินเสียงคนร้องไห้ ด้วยความเมตตากรุณาในเขา    จึงนำเขาออกจากป่าไปส่งที่ปากทางเข้าเมือง   แล้วตนเองก็กลับไปยังที่อยู่ตามเดิม ฝ่ายนายพรานเมื่อพบช้างที่สวยงามเช่นนี้  ก็คิดชั่วร้ายตามการสะสมของเขา มุ่งหวังทรัพย์ที่จะได้จากการนำเรื่องนี้ไปกราบทูลแด่พระราชา  เขาจึงทำสัญลักษณ์ต่าง ๆ เป็นเครื่องหมายเพื่อที่จะกลับมายังป่านี้อีกในภายหลัง

     ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ช้างมงคลของพระราชาได้ล้ม (ตาย) ลงพอดี พระราชาทรงมีรับสั่งให้ตีกลองร้องป่าวประกาศว่า  ใครที่พบว่ามีช้างที่สวยงามขอให้บอกด้วยเพื่อที่จะได้เป็นช้างมงคลต่อไป   นายพรานป่าผู้ชั่วช้าได้โอกาสเข้าเฝ้า    เพื่อกราบทูลเรื่องพญาช้าง  พร้อมทั้งให้นายหัตถาจารย์(ควาญช้าง)  พร้อมด้วยบริวารติดตามตนเข้าป่าเพื่อนำพญาช้างนั้นมาถวายแด่พระราชา

พระโพธิสัตว์พอได้ยินเสียงคนร้องไห้ ด้วยความเมตตากรุณาในเขา จึงนำเขาออกจากป่าไปส่งที่ปากทางเข้าเมือง

พญาช้างยอดกตัญญู  มาตุโปสกชาดก

นายหัตถาจารย์เมื่อพบพญาช้าง  คือ  พระโพธิสัตว์  ก็รู้สึกถูกใจ  ชอบในความสวยงาม  ส่วนพระโพธิสัตว์  ขณะนั้น กำลังดื่มน้ำอยู่ในสระ เมื่อเห็นนายพรานป่านั้นกลับมาพร้อมกับผู้คนอีกมากมาย  ก็ทราบถึงภัยมาถึงตัวแล้ว  เพราะคนชั่วคนนี้อย่างไม่ต้องสงสัย  แม้พระโพธิสัตว์จะมีกำลังมาก แต่ก็ไม่ทำอันตรายแก่ชนเหล่านั้น นายหัตถาจารย์ได้นำพญาช้างเข้าไปในเมืองพาราณสี  ฝ่ายนางช้างผู้เป็นมารดาของพระโพธิสัตว์  เมื่อไม่เห็นลูกมา จึงเศร้าโศกคร่ำครวญคิดถึงลูกว่า ลูกของเราคงจะมีคนจับไปเป็นแน่แท้

     ฝ่ายนายหัตถาจารย์  ในระหว่างทางขณะกลับเข้าเมือง   ได้ส่งสาส์นไปถึงพระราชาเพื่อตบแต่งพระนครให้สวยงาม  เมื่อถึงแล้วก็ประพรมน้ำหอมพญาช้าง  ประดับเครื่องทรงแล้วนำไปไว้ที่โรงช้าง  แล้วกราบทูลแด่พระราชา

นายหัตถาจารย์ได้นำพญาช้างเข้าไปในเมืองพาราณสี

พญาช้างยอดกตัญญู  มาตุโปสกชาดก

     พระราชาทรงนำอาหารอันมีรสเลิศต่าง ๆ    มาให้พระโพธิสัตว์ด้วยพระองค์เอง  พระโพธิสัตว์คิดถึงมารดา  จึงไม่ยอมกินอาหารนั้น   เพราะจากแม่มาวันนี้เป็นวันที่ ๗ แล้ว  พระโพธิสัตว์คร่ำครวญว่า  นางช้างผู้กำพร้า  ตาบอดไม่มีผู้นำทางคงสะดุดตอไม้ล้มลง ประสบอันตรายมากมายเป็นแน่

     พระราชา ทรงสงสัย จึงตรัสถามว่า นางช้างที่ท่านกล่าวถึงนั้นเป็นอะไรกับท่าน พระโพธิสัตว์ ทูลว่า นางช้างนั้น เป็นมารดาของข้าพระองค์เอง

     พระราชาเมื่อฟังแล้ว ทรงสะเทือนพระทัยเป็นอย่างยิ่งจึงทรงมีรับสั่งให้นำพญาช้างกลับไปที่เดิมเพื่อที่จะได้เลี้ยงดูมารดาต่อไป

     พระโพธิสัตว์ ได้ทูลให้พระราชาทรงตั้งอยู่ในคุณธรรมเป็นผู้ไม่ประมาท แล้วได้กลับไปยังที่อยู่ของตน ได้นำน้ำในสระมา รด ตัวมารดาที่นอนร่างกายซูบผอม เพราะไม่ได้อาหารมาเป็นเวลา ๗ วัน  ให้รู้สึกตัวก่อน เป็นอันดับแรก

     ฝ่ายช้างมารดา เมื่อถูกน้ำราดตัว ก็เข้าใจว่าฝนตก จึงพูดขึ้นว่า  ฝนช่างตกไม่รู้เวลาเลย  ตอนนี้ลูกเราก็ไม่อยู่เสียแล้ว  แล้วเราจะอยู่อย่างไร พระโพธิสัตว์ จึงพูดปลอบใจมารดาว่านี้คือลูกเอง ลูกปลอดภัยแล้ว พระราชาทรงปล่อยลูก  ให้มาอยู่ดูแลแม่แล้ว    ทำให้มารดาดีใจมากและได้กล่าวชื่นชมอนุโมทนาในน้ำพระทัยของพระราชา พร้อมทั้งได้ขอให้พระองค์มีพระชนม์ยิ่งยืนนาน

พระราชารับสั่งให้สร้างรูปเหมือนพญาช้าง เตือนให้ระลึกถึงความกตัญญู ของพญาช้างผู้มีความกตัญญูต่อมารดา จัดงานฉลองช้างขึ้นเป็นประจำทุกปี

พญาช้างยอดกตัญญู  มาตุโปสกชาดก

        พระราชาทรงเลื่อมใส    ในความกตัญญูของพญาช้าง    จึงมีรับสั่งให้ตั้งอาหารไว้เพื่อพญาช้างและมารดาเป็นประจำตั้งแต่วันที่ปล่อยพญาช้างไป และรับสั่งให้สร้างรูปเหมือนพญาช้าง   เตือนให้ระลึกถึงความกตัญญู    ของพญาช้างผู้มีความกตัญญูต่อมารดา   จัดงานฉลองช้างขึ้นเป็นประจำทุกปี

     พระโพธิสัตว์เมื่อมารดาเสียชีวิตแล้ว  ก็ได้อยู่อุปัฏฐากพระฤๅษี  ๕๐๐  ที่อาศรม ชื่อ กรัณฑกะ ด้วยทานวัตถุเท่าที่ตนเองจะหาได้ จนตราบเท่าชีวิตของตนในชาตินั้น

     [ประชุมชาดก    นางช้าง คือ พระนางสิริมหามายา   นายพรานใจชั่วช้า คือ พระเทวทัต  นายหัตถาจารย์ คือ พระสารีบุตร      พระราชา คือ พระอานนท์ ส่วนพญาช้าง คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า]

     สารธรรมที่เป็นข้อคิดที่ดี  คือ  ควรอย่างยิ่งที่จะได้กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ  ผู้มีความกตัญญู เป็นที่ชื่นชมยกย่องสรรเสริญของคนทั่วไป.

ขอเชิญคลิกอ่านมาตุโปสกชาดกได้ที่นี่

มาตุโปสกชาดก ว่าด้วยพญาช้างเลี้ยงมารดา

"ถ้าพ่อแม่ของตนเอง  

ยังทำดีกับท่านไม่ได้  แล้วจะทำดีกับคนอื่นได้อย่างไร"

อ้างอิงจาก   ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๒๔

"ตอบแทนพระคุณของผู้มีพระคุณ ต้องด้วยคุณความดีเท่านั้น ไม่ใช่ตอบแทนด้วยการกระทำชั่ว กระทำในสิ่งที่ผิด"

อ้างอิงจาก  ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๔

"พ่อแม่ มีคุณ    สิ่งที่มีคุณ เราจะไม่นับถือหรือ?"

อ้างอิงจาก   ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๕


ขอบพระคุณและอนุโมทนาบุญ

เนื้อหาจาก www.dhammahome.com

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

http://www.dhammahome.com/webboard/topic/25245

ที่มาภาพ  www.dmc

แชร์