มองตนให้เป็น ตอน เจาะลึกเหตุแห่งทุกข์จากการกระทบกระทั่งกัน โดยหลวงพ่อทัตตชีโว
การไม่ควบคุมกิริยาน่ารังเกียจ เช่น ขาก ควัก แคะ แกะ เกา หยิบ ยื่น โยน ขว้าง ฯลฯ โดยไม่เกรงใจใคร - การไม่มีสัมมาคารวะ เช่น ไม่ให้เกียรติผู้ใหญ่ ผู้หญิง สมณะ - การไม่รักษาระเบียบวินัยในการทำงาน เช่น ทำงานไม่เต็มกำลัง เข้างานสาย http://winne.ws/n22022
สัตวโลกทุกชีวิตเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่เว้นแม้รายเดียว คือเกิดเท่าไร ก็ตายเท่านั้น ต่างกันแต่ตายช้าหรือตายเร็ว ทุกคนจึงตกอยู่ในฐานะนักโทษรอประหารตั้งแต่เกิด ยิ่งกว่านั้นต่างถูกยัดเยียดให้ต้องผจญกับความทุกข์ 4 ประการตลอดชีวิต คือ
1. ทุกข์จากสรีระ
2. ทุกข์จากสังคม
3. ทุกข์จากอาชีพ
4. ทุกข์จากกิเลส
มองตนให้เป็น ตอน ทุกข์จากสังคม เป็นความทุกข์ที่เกิดจากการกระทบกระทั่งซึ่งกันและกันของผู้อยู่ร่วมกันในสังคม
มนุษย์จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เพื่อการพึ่งพาอาศัยกัน หากใครไม่ได้ฝึกตน
1. มีความประณีตในการป้องกันกำจัดสรีรทุกข์ไม่พอ ย่อมเพาะนิสัยมักง่ายไม่มีความสำรวมกาย
2. มีความสำรวมวาจากับผู้อื่นไม่พอ ย่อมมีแต่ความขัดแย้ง จับผิด ขี้ระแวง โจมตี ใส่ร้าย นินทา ตลอดจนริษยากันและกันไม่รู้จบ
3. รู้จักหน้าที่พลเมืองดีที่ต้องกระทำต่อกันไม่พอ ตนเองและผู้อยู่รอบข้างจึงต่างต้องไม่สบายกายไม่สบายใจ ด้วยเรื่องไร้สาระเพิ่มขึ้นตลอดเวลา อันเป็นที่มาของความวุ่นวายในสังคมทุกระดับ
ความสำรวมกาย คือ การควบคุมการกระทำต่าง ๆ ทางกายให้อยู่เหนืออำนาจกิเลส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ฯลฯ เป็นการป้องกันการละเมิดกฎแห่งกรรม - กำจัดทุกข์ภัยให้แก่ตนเองและสังคม
ไม่ทำตามอำนาจกิเลส ทุก ๆ ภารกิจที่ทำ ต้อง
- ไม่มีการฆ่า
- ไม่มีการลักขโมย
- ไม่มีการประพฤติผิดในกาม
- ไม่ละเมิดมารทาททางที่ดีงามในสังคม
เลือกทำเหนืออำนาจกิเลส ทำให้
- รักษาสุขภาพเป็น
- มีมารยาทงาม นุ่มนวล
- ปฏิบัติหน้าที่ประจำทิศ 6 โดยปราศจากอคติ 4
- สร้างบุญเป็นประจำ
ตัวอย่างความไม่สำรวมกายในเรื่องมารยาทที่ทำให้ประสบทุกข์ประจำในสังคม คือ
- การไม่ควบคุมอิริยาบถ 4 เช่น ท่าทางการยืน - เดิน - นั่ง - นอน ไม่สุภาพเรียบร้อย การไปในสถานที่ที่ไม่ควรไป ฯลฯ
- การแต่งกายไม่เรียบร้อย - ไม่สมควร ตามกาลเทศะ
- การไม่ควบคุมกิริยาน่ารังเกียจ เช่น ขาก ควัก แคะ แกะ เกา หยิบ ยื่น โยน ขว้าง ฯลฯ โดยไม่เกรงใจใคร
- การไม่มีสัมมาคารวะ เช่น ไม่ให้เกียรติผู้ใหญ่ ผู้หญิง สมณะ
- การไม่รักษาระเบียบวินัยในการทำงาน เช่น ทำงานไม่เต็มกำลัง เข้างานสาย เลิกงานก่อนเวลา ฯลฯ
ตัวอย่างความไม่สำรวมกาย ในเรื่องศีลธรรม ที่ทำให้ประสบทุกข์อย่างหนักในสังคม คือ
- การฆ่าการเบียดเบียนกันด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ฆ่าให้ตายอย่างทรมาน การสังหารหมู่ การยกพวกตีกัน ฯลฯ
- การยึดเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน เช่น ลักขโมย ปล้น ชิง วิ่งราว คอรัปชั่น ละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ
- การประพฤติผิดในกาม เช่น ล่วงละเมิดทางเพศในบุตร ภริยา สามีของผู้อื่น ในนักบวช ในเพศเดียวกัน หรือแม้กระทั่งในสัตว์ดิรัจฉาน ฯลฯ
- การหมกมุ่นในอบายมุข เช่น การดื่มน้ำเมา การเที่ยวกลางคืน การเที่ยวดูมหรสพ การเล่นการพนัน การคบคนชั่วเป็นมิตร ฯลฯ
ความสำรวมวาจา คือ การควบคุมการพูดให้อยู่เหนืออำนาจกิเลส เป็นการป้องกันการละเมิดกฎแห่งกรรม - กำจัดทุกข์ภัยให้แก่ตนเองและสังคม
ไม่พูดตามอำนาจกิเลส ทำให้
- ไม่พูดเท็จ ให้เข้าใจผิด
- ไม่พูดส่อเสียด ให้แตกแยก
- ไม่พูดคำหยาบ ให้ระคายใจ
- ไม่พูดเพ้อเจ้อ ให้เสียเวลา
เลือกพูดเหนืออำนาจกิเลส ทำให้
- พูดเหมาะสมตามกาล
- พูดเรื่องจริง อิงหลักฐาน
- พูดคำสุภาพ อ่อนหวาน น่ารับไปทำธุระให้
- พูดแต่คำมีประโยชน์ ติ - ก็เพื่อให้แก้ไข ชม - ก็เพื่อให้กำลังใจ
- ตั้งจิตเมตตาก่อนพูด
ตัวอย่างความไม่สำรวมวาจา ที่ทำให้เดือดร้อนเป็นทุกข์ คือ
- การพูดสวน พูดแย้ง แย่งพูด ตวาดผู้อื่น ฯลฯ ให้หงุดหงิด
- การพูดเรื่องโสโครกน่ารังเกียจ เรื่องที่น่าปิดบังกลางที่ประชุม ชอบนำความลับผู้อื่นมาเปิดเผย โดยไม่จำเป็น ฯลฯ
- การพูดล้อเลียน ว่าร้าย ติเตียนบุคคล - สิ่งของที่ผู้อื่นเคารพนับถือ ให้เขาได้อาย ฯลฯ
- การพูดล่วงเกิน ไม่ชอบขอโทษ ไม่ชอบขอบคุณ ฯลฯ
- การพูดปลุกระดมโจมตี ผู้อื่นให้เสียหายด้วยข้อมูลเท็จ กำกวม ฯลฯ
- การพูดชักชวนกันไปทำความชั่ว เช่น ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน ทำในสิ่งไร้สาระ ฯลฯ
หนังสือ มองตนให้เป็น หน้า 36 - 41 โดย ทตฺตชีโว ภิกขุ